จับกระแส โค้งท้าย ก่อนเปิดสภา 2 ขั้ว แข่งเดือด

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ทราบมาว่าทางสภาจะจัดพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสภา ในวันที่ 24 พฤษภาคม

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การเลือกประธานสภาผู้แทนฯ และประธานวุฒิสภา จะเกิดขึ้นเมื่อใด?

นายวิษณุบอกว่า แล้วแต่ทางสภากำหนด แต่ส่วนตัวแล้วมองว่าน่าจะเป็นวันที่ 25 พฤษภาคม หรือวันรุ่งขึ้นหลังจากเปิดสภา

Advertisement

และเห็นว่าควรจะเลือกทั้งประธาน ส.ส.และประธาน ส.ว.ในวันเดียวกัน

เมื่อได้ประธานและรองประธานของทั้ง 2 สภาแล้ว จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งลงมาแล้ว ประธานสภาสามารถเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ถ้าดูตามขั้นตอนข้างต้น ประมาณการว่าน่าจะได้นายกฯภายในเดือนพฤษภาคม

หมายความว่าภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้

Advertisement

ในห้วงเวลานับตั้งแต่รัฐสภาเปิดทำการ เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภามีความสำคัญอย่างมาก

จากปฏิทินที่นายวิษณุบอกไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เลือกประธานวุฒิสภา เลือกนายกรัฐมนตรี

ทุกอย่างต่างต้องใช้เสียงจากสภา

ย้อนกลับมาดูความคืบหน้าของการประกาศผล ส.ส.และ ส.ว. พบว่า กกต.ได้ประกาศรับรอง ส.ส.ทั้ง 498 คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ส่วนคำร้องเรียนนั้น กกต.ทยอยพิจารณา ล่าสุดมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติเนื่องจากถือหุ้นสื่อ

ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา ได้ประกาศรายชื่อออกมาครบ 250 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “คนคุ้นเคย” ของ คสช.ตามคาด

สำหรับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาที่ผ่านมา คือ การจัดขั้วรัฐบาล ซึ่งขั้วหนึ่งมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ อีกขั้วหนึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ
การขับเคี่ยวต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งจำนวน ส.ส.ที่มากกว่า 250 เสียงเป็นไปอย่างดุเดือด

ทั้งขั้วพรรคพลังประชารัฐ และขั้วพรรคเพื่อไทย ต่างงัดกลยุทธ์ขึ้นมาต่อสู้

ทั้งชักจูง ทั้งแย่งชิง ทั้งปกป้องเสียงฟากฝั่งตัวเองเปลี่ยนใจ

การเมืองในห้วงเวลานี้ มีโอกาสพลิกได้ทุกเมื่อ

จับกระแสได้จากความเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ที่ออกมารณรงค์ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ชูธงให้ ส.ส.รวมเสียงให้มากกว่า 375 เสียง เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พรรคพลังประชารัฐเป็นผู้เสนอ

ชูสโลแกนต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

ไม่กี่วันต่อมา พรรคการเมือง 11 พรรคเล็กที่มี ส.ส.พรรคละ 1 คน เปิดแถลงข่าวประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

วันที่พรรคเล็กแถลงข่าว นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เดินทางมาร่วม

รับข้อเสนอร่วมกับพลังประชารัฐผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

รวมเสียงของพลังประชารัฐที่ได้ 115 กับ 11 พรรคแล้วได้ 126 เมื่อไปรวมกับเสียงของ ส.ว. 250 เสียง

สามารถชนะโหวตหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯได้ตามเป้าหมาย

กลายเป็นประเด็น “เปิดสวิตช์ ส.ว.” ต่อกรกับความเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่

ขณะเดียวกัน ปัญหาของขั้วพรรคพลังประชารัฐคือเสียงที่สนับสนุนยังมีน้อย นอกจาก 11 พรรคเล็กแล้ว พรรคพลังประชารัฐต้องรวมกับพรรคประชาชนปฏิรูป 1 ที่นั่ง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ที่นั่ง พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 ที่นั่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 3 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 52 ที่นั่ง

จัดตั้งเป็นรัฐบาล 20 พรรค แต่มีจำนวน ส.ส.สนับสนุนเพียง 253 คน

ในการจัดตั้งรัฐบาลนั้นมีการแบ่งโควต้ารัฐมนตรีให้แก่พรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีได้กลายเป็นประเด็นต่อรองกันอย่างหนัก เพราะ คสช.เดิมก็ต้องการเก้าอี้ พรรคพลังประชารัฐก็ต้องการเก้าอี้ พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ก็ต้องการเก้าอี้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่อง “ตระบัดสัตย์” และประเด็นเรื่อง “ขั้วประชาธิปไตย-ขั้วอำนาจนิยม” เข้ามาเกี่ยวข้อง

มีการพุ่งเป้าไปที่พรรคภูมิใจไทยที่มี ส.ส. 51 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ 52 ที่นั่ง
ทั้่งนี้ หากพรรคทั้งสองไม่ร่วมกับขั้วพลังประชารัฐ ย่อมส่งผลสะเทือนต่อแผนการจัดตั้งรัฐบาล 20 พรรค

การเมืองยังมีโอกาสพลิกได้ตลอดเวลา

ยิ่งเมื่อผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ปรากฏเสียงสนับสนุนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นเลขาธิการพรรค ยิ่งทำให้การเมืองมีลุ้นมากขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ เพราะนายจุรินทร์ ถือเป็นเลือดเนื้อประชาธิปัตย์ที่อยู่ในสายของนายชวน หลีกภัย และน่าสังเกตว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แม้แต่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ก็ออกหาเสียงให้กับนายจุรินทร์ด้วย

ที่น่าสังเกตคือ นายชวนไม่ตอบสนองต่อการร่วมมือกับ คสช. เพื่อสืบทอดอำนาจ การแสดงออกล่าสุดคือการตอกย้ำว่า ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ดังนั้น เมื่อนายจุรินทร์ได้เป็นหัวหน้าพรรค และประกาศให้สมาชิกเสียสละเพื่ออุดมการณ์

วงการการเมืองจึงกลับมาลุ้นว่า พรรคประชาธิปัตย์จะตัดสินใจเช่นไร

เช่นเดียวกับ พรรคภูมิใจไทยที่หลายฝ่ายปักธงไปว่าเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐแน่ แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยยังขอให้รอไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม

วันนั้นจะมีการประชุมพรรค และประกาศท่าทีของภูมิใจไทย

ในช่วงท้ายก่อนวันเวลาเปิดประชุมสภาจะมาถึง นายธนาธร ได้เคลื่อนไหวอีกครั้ง คราวนี้ประกาศอาสาเป็นนายกรัฐมนตรี

และพร้อมเดินสายเจรจาเพื่อดึง ส.ส.มาจัดตั้งรัฐบาล

ความเคลื่อนไหวของนายธนาธรได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย

หมายความว่าพรรคเพื่อไทยไม่เอาเก้าอี้นายกฯก็ได้

ทั้งนี้ เมื่อรวมขั้วพรรคเพื่อไทย ที่ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 136 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 80 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 7 ที่นั่ง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง พรรคเพื่อชาติ 5 ที่นั่ง และพรรคพลังปวงชนไทย 1 ที่นั่งแล้ว

มี ส.ส.อยู่ 245 เสียง ขาดเพียงแค่ 6 เสียง ก็จะเกินครึ่งของสภา

แต่ต้องหาอีก 131 เสียง จึงจะ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” และผลักดันให้นายธนาธร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้

แม้ดูตัวเลขยังห่าง แต่นายธนาธรร้องบอกว่า อย่าเพิ่งท้อแท้

เป็นสัญญาณว่า การต่อสู้ระหว่างขั้วสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กับขั้วไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดุเดือด

การต่อรองยังคงดำเนินต่อไป

2 ขั้วต่างเปิดโปรโมชั่นครั้งสุดท้าย จูงใจให้พรรคต่างๆ เข้าร่วม

บรรยากาศเช่นนี้ยังคงมีต่อไปจนกว่าจะถึงวันเปิดสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image