ที่เห็นและเป็นไป : ทำไม ‘เชื่อในสิ่งเหลือเชื่อ’ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

หากจับความคำให้สัมภาษณ์ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ด้วยการโฟกัสไปที่การค้นหา และวิเคราะห์ว่ามั่นใจแค่ไหนว่าจะได้สืบทอดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไป

แม้จะมีหลายครั้งในหลายประโยคที่คล้ายจะพูดว่า “ยังไม่รู้เลยว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นใคร” บ้าง หรือ “ถ้าไม่ได้เป็นก็กลับบ้านนอน” อันเหมือนสะท้อนถึงความไม่มั่นใจ

แต่หากดูอารมณ์ในภาพรวมของคำสัมภาษณ์แล้วย่อมจับความได้ไม่ยากว่าความรู้สึกนึกคิดของ “พล.อ.ประยุทธ์” นั้น ยืนอยู่ที่เชื่อมั่นเต็มร้อยว่าจะสืบต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

เป็นความมั่นใจเหมือนที่ฝ่ายต่างๆ เชื่อว่า “ไม่มีทางที่จะเป็นอื่นได้”

Advertisement

เป็นไปตามที่ “รัฐธรรมนูญดีไซน์ไว้ให้”

ด้วยความเชื่อมั่นระดับนี้ ด้วยอำนาจที่เอื้อไปเสียทุกทางขนาดนั้น

ใครร่วมรัฐบาลดูจะไม่สำคัญแล้ว

“พล.อ.ประยุทธ์” คิดว่าเมื่อกลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้ง อะไรคือเป้าหมายของภารกิจที่ต้องการทำ

“วันนี้เราต้องมีความสงบ สามัคคี ความเสียสละ และมีจิตสำนึก” และ “เมื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ทุกอย่างต้องเดินหน้าด้วยกฎหมาย จึงอยากขอร้องให้ทุกคนช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน”

คือบทสรุปที่ พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่าจะต้องทำให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อหยิบเป้าหมายเหล่านี้มาส่อง แล้วประเมินความเป็นไปที่จะทำให้แต่ละเรื่องประสบความสำเร็จ

จะเห็นว่าหากหยิบเรื่องเหล่านี้มองส่องทีละเรื่อง จะพบความน่าสนใจไม่น้อย

“ความสงบ” เรื่องนี้ถูกประกาศให้เป็นเป้าหมายมาตั้งแต่เริ่มทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ผ่านมา 5 ปีแล้ว

“ความสงบ” ยังเป็นข้ออ้างอันดับแรกของการสืบต่ออำนาจอยู่เหมือนเดิม

นอกจากใช้อำนาจเข้มข้นควบคุมให้ทุกคนอยู่ในความสงบแล้ว รากของปัญหาอันหมายถึงความขัดแย้งแตกแยก ไม่เพียงไม่ได้รับการเยียวยา แต่ยังถูกขยายมากขึ้นด้วยพฤติกรรมเลือกข้างที่นับวันจะชัดเจนขึ้น

“ความสามัคคี” จึงยังคงเป็นปัญหาต่อไปอย่างไม่รู้จุดจบ ด้วยตราบใดที่คนยังสัมผัสได้ถึงความไม่ยุติธรรม การใช้อำนาจที่เลือกข้าง เลือกฝ่าย ไม่มีวันที่ความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้

เพราะสามัคคีจะเกิดขึ้นในสังคมที่มีความเป็นธรรมเท่านั้น

สำหรับ “ความเสียสละ” และ “จิตสำนึก” ที่พูดถึง มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกมองว่า “เพ้อเจ้อ”

การเรียกร้องให้ “เสียสละ” เพื่อการสานต่ออำนาจโดยไม่เลือกว่าวิธีการนั้นสร้างความรู้สึกอย่างไรให้กับผู้คน

การพูดถึง “จิตสำนึก” โดยเรื่องราวการใช้อำนาจที่เป็นมาและเป็นไปอยู่เรื่อยๆ เสียงเรียกหาสำนึกแห่งคุณธรรมของการอยู่ร่วมกันกระหึ่ม

และคำที่บอกว่า “เมื่อเข้าสู่ประชาธิปไตย ทุกอย่างต้องเดินหน้าด้วยกฎหมาย”

ในความเป็นกฎหมายทุกวันนี้ ทั้งตัวบท และการตีความตัวบท ถูกมองไปในทาง “ตลกขื่น” เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังให้ขรมถึงการใช้ “กฎหมาย” มาเป็น “เครื่องมือรับใช้อำนาจ”

เล่นงาน ทำลายล้างคู่ต่อสู้

ปกป้อง คุ้มครองตัวเอง

และด้วยเรื่องราวเหล่านี้ “ความเชื่อมั่นของประชาชน” จึงไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อนำไปสู่เป้าหมายต่างๆ เหล่านั้น

ไม่ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเชื่อหรือไม่ว่า เป็นเจตนาที่อยากสร้างให้เกิดขึ้นจริง

แต่ “นักการเมือง” ทั้งจาก “การเลือกตั้ง” อันคือ 20 พรรคที่มีแนวโน้มว่าจะร่วมรัฐบาล

และจาก “การแต่งตั้ง” อันหมายถึง 250 ส.ว.

เชื่อว่าจะ พล.อ.ประยุทธ์จะทำ

คนเหล่านี้ ส่วนใหญ่ล้วนมีบทบาทใน 5 ปีที่ผ่านมา

คนเหล่านี้ เชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอดมา และดูจะเชื่อตลอดไป ว่าจะทำเรื่องราวเหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับประเทศ

ซึ่งนับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

น่าสนใจตรงที่ “คนเหล่านี้ เชื่อเพราะอะไร”

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image