ยิ่งไปออกเสียงมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นประชาธิปไตยมากเท่านั้น โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

แฟ้มภาพ

เดิมทีเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช… ที่ยกร่างเสร็จเรียบร้อย อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์เพื่อจัดส่งให้ประชาชนนำไปอ่านให้ได้ก่อนปลายเดือนนี้

กลับปรากฏว่ายังจัดพิมพ์ไม่เสร็จครบถ้วนตามจำนวนที่ต้องการ จึงต้องขยายเวลาจัดส่งให้พี่น้องทั้งหลายได้ปลายเดือนมิถุนายน

ระหว่างนี้หลายสำนักพยายามที่จะนำเสนอ “โพล” ของตัวเอง ว่าพี่น้องประชาชนจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยจำนวนเท่าใด จากกลุ่มตัวอย่างมากน้อยเพียงใด

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นถึงการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากรับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รับคำถามพ่วง ถือว่าเป็นการรับร่างรัฐธรรมนูญ หมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบตามประชามติ จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ใน 30 วัน จากนั้นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ แต่จะจัดทำ 4 ฉบับที่สำคัญก่อน

Advertisement

ได้แก่ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และว่าด้วยการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาภายใน 2 เดือน

เมื่อประกาศกฎหมายลูกครบ 4 ฉบับ ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน

หากทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่าน ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญให้เข้ากับคำถามพ่วง แล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

Advertisement

ต่อเมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คำถามพ่วงจะผ่านหรือไม่ผ่านไม่สำคัญ จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือรัฐบาลต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อจะได้ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีการเตรียมการทำก่อนวันที่ 7 สิงหาคม จะได้เสนอแก้ไขทันทีภายใน 15 วัน

จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน

เป็นอันว่า กว่าพวกเราจะได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ต้องรอถึงปลายเดือนมิถุนายน ประมาณวันที่ 25 เป็นต้นไป มีเวลาให้อ่านให้ไตร่ตรองไม่ถึงสองเดือน น่าจะอ่านทัน

ผู้ที่ต้องอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ถ่องแท้น่าจะเป็นผู้ที่เพิ่งมีโอกาสลงประชามติครั้งแรก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 7 สิงหาคม (ไม่ใช่วันที่ 6 สิงหาคม แน่นะ) เพราะตามกฎหมายกำหนดว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติคือผู้ที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ในวันลงประชามติ

อ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว มีความเห็นอย่างไรยิ่งต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ รอบด้าน แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขได้ในโอกาสต่อไปก็ตาม แต่การรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญย่อมมีความหมายและมีความสำคัญกับคนไทยทุกหมู่เหล่า เพราะรัฐธรรมนูญคือกติกาการปกครองประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อย่างไรก็ตาม การรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังไม่สำคัญเท่ากับการไปลงประชามติ เพราะการออกเสียงลงประชามติเป็นการแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตยของเราเอง

เพราะยิ่งไปออกเสียงลงประชามติมากเท่าใด หมายถึงทุกคนแสดงออกซึ่งความเป็นประชาธิปไตยมากเท่านั้น เพราะการไปใช้สิทธิออกเสียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชามติหรือการเลือกตั้ง คือการปฏิบัติหน้าที่และการใช้สิทธิของเราเอง

หน้าที่ของผู้ที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิออกเสียงคือการไปลงประชามติ

ส่วนสิทธิคือการเข้าคูหากาบัตรประชามติว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงหรือไม่ หรือจะรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพียงอย่างเดียว แต่ไม่รับคำถามพ่วง หรือจะไม่รับรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิของเราโดยแท้

ขอให้เชื่อและมั่นใจในตัวเอง อย่าให้ใครใช้มือที่มองไม่เห็นมาจับมือเรากาในช่องที่เราไม่ต้องการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image