ภราดรภาพกับความหมายที่แท้จริง : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ภราดรภาพมิใช่ระบบอุปถัมภ์เพราะมิใช่เผด็จการ

คําขวัญของการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสเกิดขึ้นใน พ.ศ.2332 (หลังสร้างกรุงเทพฯ ได้เพียง 7 ปี) คือ เสรีภาพ (LIBERTY) เสมอภาค (EQUALITY) และภราดรภาพ (FRATERNITY) ดูออกจะเป็นคำขวัญที่สมบูรณ์และสมดุลที่อยู่ในตัว แต่ก็เหมือนๆ กับคำขวัญดีๆ ที่เสร็จแล้วไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไร เช่น การปฏิรูปการเมืองของไทยเรา ฉันใดก็ฉันนั้น

นักวิชาการมักเน้นกันว่า การปฏิวัติของอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2319 นั้นมีคำขวัญที่ย้ำกันเสมอคือ

ตราแผ่นดินของฝรั่งเศส

เสรีภาพ ซึ่งเสรีภาพนั้นว่ากันไปตามความจริงแล้วก็เป็นสมบัติของมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดแล้ว แต่เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันในสังคม ก็ต้องยอมสละเสรีภาพบางส่วนเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติสุข โดยสังคมต้องมีกฎเกณฑ์ที่เทิดทูนเสรีภาพ คือเป็นประชาธิปไตยนั้น ทุกคนมีสิทธิที่จะคิด พูดและทำอะไรได้ตามใจชอบเพียงแต่ห้ามทำตามที่กฎหมายออกมาห้ามไว้เท่านั้น ซึ่งตรงข้ามกับสังคมเผด็จการที่ห้ามคิด ห้ามพูด ห้ามทำ นอกเสียจากจะมีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้เท่านั้น

สำหรับการปฏิวัติของรัสเซียเมื่อ พ.ศ.2460 เขาถือเรื่องความเสมอภาคเป็นหลัก ดังนั้น รัฐบาลจึงใช้อำนาจมากเพื่อสร้างความเสมอภาคให้กับประชาชนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งก็ทำได้สำเร็จแต่ไม่ค่อยสวยงามนัก คือสามารถทำให้ไม่ค่อยมีเสรีภาพทางการเมืองเหมือนๆ กัน และประชาชนก็ยากจนเสมอเหมือนกันทั่วหน้า ผลสุดท้ายก็ต้องล่มสลายไปเมื่อ พ.ศ.2534

Advertisement

สหรัฐอเมริกาปัจจุบันก็มีเสรีภาพอย่างมากมาย ก็มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติด และอาชญากรรมที่สูงมากและมีสถิติการฆ่าตัวตายที่น่ากลัวที่เดียว เนื่องจากเสรีภาพมีมาก ความเสมอภาคมีน้อยเป็นปฏิภาคกัน เมื่อเสรีภาพมากก็แข่งกันอย่างเต็มที่ ชีวิตของคนอเมริกันจึงเป็นแบบที่เราเรียกว่า Rat Race (หนูที่ต้องวิ่งแข่งกันจนเหนื่อยตายไปนั่นแหละ) คือ ทุกคนทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง ตัวใครตัวมันว่าอย่างนั้นเถอะ ก็เลยเกิดความผิดหวัง เหงา ระแวง หวาดกลัวก็เลยต้องพึ่งยาเสพติด แล้วการฆ่าตัวตายหรือไม่ก็ฆ่ากันตายเองนั้นแหละ

คำขวัญของการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส ค.ศ.1789

คำขวัญของการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสตัวสุดท้ายคือ ภราดรภาพ ซึ่งแปลว่า ความเป็นฉันพี่ฉันน้องกันหรือความรู้สึกว่าทุกคนในสังคมคือพี่น้องกันนั้นเป็นคำขวัญที่ไม่ค่อยมีคนคิดถึงหรือเข้าใจเท่าไรนัก

ทั้งๆ ที่ความมีภราดรภาพนี่แหละคือตัวสร้างดุลยภาพระหว่างเสรีภาพกับเสมอภาค เป็นตัวประสานทำให้สังคมไม่เอนเอียงอย่างสุดโต่ง เพราะถ้าเอาเสรีภาพมากไปก็เห็นแก่ตัวสูง หรือถ้าเอาความเสมอภาคมากไปก็ต้องหยิบยื่นอำนาจให้กับรัฐบาลอย่างมาก ก็จะทำให้เกิดเผด็จการได้ง่ายๆ ดังนั้น ถ้าเรามีภราดรภาพอย่างกว้างขวางแล้ว เราก็จะมองทุกคนในสังคมเหมือนญาติพี่น้อง ซึ่งการกระทำกับคนเหมือนกับว่าไม่ใช่คน เช่น การมีโสเภณีเด็กก็จะหมดไป เพราะเขาเป็นน้องเรา เราจะทำกับเขาได้ลงคออย่างไร หรือใครจะเอายาเสพติดมาขายให้กับน้องของตนเองได้เล่า

Advertisement

สังคมก็น่าอภิรมย์มากขึ้น เมื่อเราเห็นพี่น้องของเราตกทุกข์ได้ยาก อาศัยอยู่ใต้สะพาน อยู่ตามสลัมน้ำครำ เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือและความผิดพลาดทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากการกระทำของพี่น้องเราเองนั้นคงให้อภัยได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่อันตรายของภราดรภาพอยู่ตรงที่การถือกันในวงแคบๆ นะครับ ถ้าเล่นกันวงแคบๆ เขาเรียกว่า “เล่นพวก” ครับ เมืองไทยเรามีการเล่นพวกกันมากเกินไปอยู่แล้วอย่างเรื่องแต่งตั้งวุฒิสมาชิกที่เห็นๆ กันอยู่ตำตานั้นอย่าเอามาอ้างว่าเป็นภราดรภาพนะครับ เสียของหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image