คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน ยั่งยืนด้วย มอก.9999 : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ ได้แต่หวังว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน คงสร้างผลกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมไทยไม่มาก

“มอก.9999” เล่ม 1-2556 “แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม” ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 แล้ว

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรและองค์กรให้มีการบริหารจัดการและการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคง เติบโตได้อย่างยั่งยืน และมีความสุข ตลอดจนมีภูมิคุ้มกันที่ดีพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกในด้านต่างๆ ได้แก่ สังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองและกฎระเบียบ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและผันผวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การดำเนินงานและการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมนี้ จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ควบคู่กับการมีความรู้และคุณธรรม

Advertisement

“หลักการของ มอก.9999” ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคลากรและองค์กร อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล ประกอบด้วย

การมีส่วนร่วมของบุคลากร โดยองค์กรจะต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กร ภายใต้หลักการที่ว่า บุคลากรทุกระดับเป็นประโยชน์ต่อองค์กรทุกคน

การเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยองค์กรจะต้องยอมรับและเอาใจใส่ในเรื่องผลประโยชน์ สิทธิตามกฎหมายรวมทั้งตอบสนองต่อข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

Advertisement

การบริหารแบบองค์รวม โดยองค์กรควรจะต้องมีการคิดและพิจารณาเรื่องต่างๆ อย่างมีระบบครบวงจร ทั้งในเรื่องการนำองค์กร การวางแผน การมุ่งเน้นลูกค้า บุคลากร สารสนเทศ กระบวนการ และผลลัพธ์ทางธุรกิจ รวมทั้งควรคำนึงถึงประโยชน์ขององค์กรและประโยชน์ส่วนรวม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในอนาคตให้เป็นไปในทิศทางที่องค์กรต้องการ

การบริหารเชิงระบบ โดยองค์กรจะต้องชี้บ่ง ทำความเข้าใจและบริหารจัดการกระบวนการที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ ทั้งในด้านปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลลัพธ์ ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) และสภาพแวดล้อม โดยพิจารณาให้ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนการจัดองค์กร การกำกับดูแล และการควบคุม ซึ่งจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร

ในการนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม (หลักการของ มอก.9999) ไปปฏิบัติจะต้องมีแนวทางใน “การบูรณาการ” เพื่อให้เกิดประสิทธิผลทั่วทั้งองค์กร โดยผู้บริหารระดับสูงต้องมีบทบาทใน “การนำองค์กร” เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในขั้นตอนต่อๆ ไป อันได้แก่ การวางแผน การนำไปปฏิบัติ การติดตาม เฝ้าระวัง และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยนำ “วงจรเดมมิ่ง” หรือ “วงจร PDCA” มาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์

มาตรฐาน มอก.9999 นี้ ไม่ใช่มาตรฐานระบบการจัดการ และไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้นำไปใช้เพื่อการรับรอง แต่เป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ แต่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่องค์กรจะได้รับ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคนในองค์กรให้ความร่วมมือและเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ มอก.9999 จะนำพาองค์กรไปสู่ความสมดุล มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image