การศึกษาเบื้องต้นเพื่อใช้เขื่อนสิรินธร ลดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ :​ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์

1.บทนำ

การลดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมสามารถทำได้หลายวิธี สำหรับวิธีที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นการเก็บกักน้ำที่มีมามากในฤดูฝนไว้ใช้ในช่วงที่ขาดแคลนโดยเฉพาะในฤดูแล้ง การเก็บกักน้ำอาจทำได้โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือมีอ่างเก็บน้ำอยู่แล้วแต่ความจุของอ่างที่ระดับเก็บกักมากกว่าปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยรายปี (Average annual inflow) หรือปรับการใช้งาน (Operation) อ่างเก็บน้ำเพื่อรองรับการผันน้ำ นอกจากนี้ ยังมีการสูญเสียน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่เก็บกักไว้ ซึ่งได้แก่การระเหยจากผิวน้ำในอ่างและการรั่วซึมออกจากอ่าง เป็นต้น การเพิ่มน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรเก็บกักว่างอยู่วิธีหนึ่งก็คือ การผันน้ำจากลุ่มน้ำข้างเคียงที่มีมากเกินความต้องการและทำให้เกิดน้ำท่วมในฤดูฝนมาเก็บกักเพิ่มบนปริมาตรอ่างที่ว่างอยู่

2.วัตถุประสงค์

เนื่องจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธรก่อสร้างบนลำโดมน้อยถึงแม้ปริมาตรน้ำใช้งานจะน้อยกว่าค่าปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยรายปี (Average annual inflow) แต่ก็ยังมีการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปใช้เพื่อการชลประทาน 152,000 ไร่ และยังมีการสูญเสียน้ำจากการระเหยและการรั่วซึมจากอ่างอีกด้วย ฉะนั้น วัตถุประสงค์หลักก็คือ การผันน้ำจากลุ่มน้ำอื่นที่เกิดน้ำท่วมด้านท้ายน้ำมาเพิ่มให้กับอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร เพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งทั้งเหนืออ่างและท้ายอ่าง

Advertisement

3.ลำน้ำข้างเคียง

ลำโดมใหญ่และลำโดมน้อยเป็น 2 สาขาที่สำคัญของแม่น้ำมูลไหลลงสู่แม่น้ำมูลทางฝั่งขวา (หันหน้าตามน้ำ) ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยสาขาหลักของลำโดมใหญ่ไหลเกือบขนานกับลำโดมน้อย ลงสู่แม่น้ำมูลด้านเหนือน้ำของลำโดมน้อยประมาณ 40 กม. โดยลำโดมน้อยไหลลงสู่แม่น้ำมูลเหนือเขื่อนปากมูล รูปตัดตามยาวของแม่น้ำมูลดังแสดงอยู่ในรูปที่ 1 โดยมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบนลำโดมน้อยคืออ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร แต่บนลำโดมใหญ่ยังไม่มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ

ฉะนั้นในฤดูฝนจึงมักเกิดน้ำท่วมด้านท้ายน้ำเป็นประจำ

Advertisement

4.รายละเอียดอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร

รายละเอียดที่สำคัญประกอบด้วย
– ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบนลำโดมน้อย
– ตัวเขื่อนสูง 42 เมตร ยาว 940 เมตร
– ระดับเก็บกักสูงสุด 142.20 ม.รทก.
– เก็บกักน้ำได้ 1,966.5 ล้าน ลบ.ม.
– พื้นที่รับน้ำ 2,097 ตร.กม.
– ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยต่อปี 1,447 ล้าน ลบ.ม.
– ปริมาตรน้ำใช้งาน 1,135 ล้าน ลบ.ม.
– มีการสูบน้ำจากอ่างไปใช้เพื่อการชลประทาน 152,000 ไร่

รูปที่ 1 รูปตัดแสดงตำแหน่งฝายต่างๆ ตามลำน้ำมูล

(ดูรูปที่ 1 รูปตัดแสดงตำแหน่งฝายต่างๆ ตามลำน้ำมูล)

5.ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร

จากข้อมูลปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธรเป็นเวลา 44 ปี (สิงหาคม 2515-กรกฎาคม 2559) มีปริมาณน้ำไหลล้นอ่างเป็นเวลา 8 ปี โดยปริมาณน้ำล้นอ่างปีละ 1 เดือน รวม 3 ปี ปีละ 2 เดือน รวม 3 ปี และปีละ 3 เดือนอีก 2 ปี และในรอบ 117 เดือนสุดท้ายมีน้ำล้นอ่างเพียงปีเดียว (พฤศจิกายน 2549-กรกฎาคม 2559 มีน้ำล้นอ่างในเดือนกันยายน 2556 เพียงปีเดียว)

อนึ่ง ในช่วงที่ไม่มีน้ำไหลล้นอ่างนานที่สุดคือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549-สิงหาคม 2556 รวมเวลา 82 เดือน หรือประมาณ 7 ปี

6.การศึกษา

เป็นการศึกษาหาจุดผันน้ำและแนวผันน้ำจากลำโดมใหญ่ไปลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธรเบื้องต้น จากแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ของกรมแผนที่ทหารหมายเลข 6038 III และ 6038 II โดยมีหัวงานโครงการผันน้ำอยู่ในแผนที่หมายเลข 6038 III ประกอบด้วย ก่อสร้างประตูหรือฝายผันน้ำในช่องลัดบนลำโดมใหญ่ที่ใกล้บ้านเปือย อ.นาฉลวย จ.อุบลราชธานี โดยมีระดับเก็บกักประมาณ 150 ม.รทก. แล้วลากแนวคลองผันน้ำบนแผนที่หมายเลข 6038 III จนถึงห้วยเทียนใหญ่บริเวณบ้านโพนแอวขัน ซึ่งเส้นชั้นความสูง (Contour) 150.00 ม.รทก. ตัดลำห้วยท้ายหมู่บ้านประมาณ 1.50 กม. โดยแนวคลองจะตัดผ่านสันปันน้ำตามแนวลำห้วยนี้ไปยังแผนที่หมายเลข 6038 II เมื่อแนวคลองตัดผ่านสันปันน้ำระยะห่างระหว่างเส้นชั้นความสูง (Contour) 160.00 ม.รทก. ประมาณ 2.00 กม. จากระดับ 155-160 ม.รทก. ด้านลำโดมใหญ่ 2.0 กม. และ 150-155 ม.รทก. ประมาณ 2.20 กม. ส่วนด้านลำโดมน้อย ระยะจากเส้นความสูง (Contour) 160-155 ม.รทก. ประมาณ 2.0 กม. และระยะระหว่าง 155-150 ม.รทก. ประมาณ 2.50 กม. แล้วจึงระบายน้ำลงห้วยปอ ซึ่งไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริธร ที่ระดับเก็บกักสูงสุด 142.20 ม.รทก. รวมความยาวคลองผันน้ำประมาณ 40 กม. หรือระยะทางข้ามสันปันน้ำ สามารถสรุปได้ดังนี้

โดยมีความยาวประมาณ 25 กม. อยู่ในลุ่มน้ำลำโดมใหญ่และ 15 กม.อยู่ในลุ่มน้ำลำโดมน้อย เลยจุดนี้ไปประมาณ 6.0 กม. ระยะทางตัดผ่านสันปันน้ำสั้นกว่าเล็กน้อย แต่ต้องขุดคลองบนพื้นที่รับน้ำ (Catchment area) ด้านลำโดมน้อยยาวกว่ามาก

7.ปริมาณน้ำที่คาดว่าจะผันได้

ปริมาณน้ำที่คาดว่าจะผันได้ สามารถสรุปได้ดังนี้
1) ผันน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ (Gravity)
– พื้นที่รับน้ำ (Catchment area) เหนือจุดผันน้ำ 640 ตร.กม.
– ระดับน้ำ ณ จุดผันน้ำ 150 ม.รทก. (Contour 150 ม.รทก. เลียบ 2 ฝั่งลำโดมใหญ่)
– คลองผันน้ำยาว 40 กม.
– โดยเกณฑ์เฉลี่ยคาดว่าจะสามารถผันน้ำได้ปีละ 350 ล้าน ลบ.ม.

2) ผันน้ำโดยการสูบ

– พื้นที่รับน้ำ (Catchment area) เหนือจุดผันน้ำ 540 ตร.กม.
(จากท้ายน้ำของจุดผันน้ำโดย Gravity)
– ระดับน้ำ ณ จุดผัน 140 ม.รทก. (Contour 140 ม.รทก. เลียบ 2 ฝั่งลำโดมใหญ่)
– คลองผันน้ำยาว 30 กม.
– สูบน้ำด้วยความสูง (Static head) 9.0 เมตร
– โดยเกณฑ์เฉลี่ยคาดว่าจะสามารถผันน้ำได้ปีละ 250 ล้าน ลบ.ม.

8.การนำปริมาณน้ำที่ผันไปใช้

ปริมาณน้ำที่ผันจากลำโดมใหญ่มาเพิ่มให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร สามารถใช้
1) เพิ่มการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำที่เขื่อนสิรินธร
2) เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งโครงการชลประทานลำโดมน้อย
3) เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้ง

เนื่องจากเขื่อนปากมูลอยู่ท้ายจุดบรรจบ ชี-มูลประมาณ 100 กม. และฝายหัวนาอยู่เหนือจุดบรรจบ ชี-มูล ประมาณ 10 กม. ในฤดูแล้ง ถ้าใช้เขื่อนปากมูลยกระดับน้ำเท่ากับระดับเก็บกักฤดูฝนคือ 108.0 ม.รทก. ถ้าสูบน้ำไม่มาก (เมื่อเทียบกับความจุแม่น้ำ) ก็สามารถสูบทอยที่ฝายหัวนาได้ ดังรูปที่ 1 (ถ้าปริมาณน้ำที่สูบน้อยเทียบกับความจุแม่น้ำมูล ความลาดเทของผิวน้ำที่ลดลง (Water surface drawdown) ก็จะมีค่าน้อยด้วย)

อนึ่ง เหนือฝายราษีไศล มีพื้นที่น้ำท่วม (Flood plain) กว้างและยาวมาก ซึ่งมักเกิดน้ำท่วมในฤดูฝนเป็นประจำ ถ้าใช้ปริมาณน้ำที่สูบทอยนี้เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งบนพื้นที่น้ำท่วม (Flood plain) แทนการเพาะปลูกฤดูฝนก็จะสามารถใช้พื้นที่น้ำท่วม (Flood plain) ลดปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนด้านท้ายน้ำได้อีกด้วย

9.สรุป

ถึงแม้ว่าอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธรจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยรายปี (Average annual inflow) เท่ากับ 1,447 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าความจุใช้งาน (1,135 ล้าน ลบ.ม.) แต่ยังมีการสูบน้ำจากอ่างไปใช้เพื่อการชลประทาน 152,000 ไร่ และยังมีการสูญเสียน้ำจากการระเหยและการรั่วซึมจากอ่างเก็บน้ำ ฉะนั้น การผันน้ำมาเพิ่มเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงมีความเป็นไปได้โดยเฉพาะผันน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ (Gravity) ปีละ 350 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยลดปัญหาน้ำท่วมด้านท้ายจุดผันน้ำได้อีกด้วย

อนึ่ง ในฤดูแล้งยังสามารถสูบน้ำย้อนขึ้นไปใช้ตามลำน้ำมูลด้านเหนือน้ำโดยเฉพาะเพื่อเสริมปริมาณน้ำที่มาจากลุ่มน้ำชีสำหรับการเพาะปลูกบนที่ลุ่ม ซึ่งในฤดูฝนมักเกิดน้ำท่วมเป็นประจำได้อีกด้วย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image