หลักธรรมาภิบาลกับการแก้ปัญหา ความขัดแย้งทางการเมืองของไทย (Good governance) : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

หลังจากการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 เป็นการเลือกตั้งที่หลายคนหวังว่าจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งของคนไทยลดลง แต่ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับที่คนไทยคาดหวัง การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นการเลือกตั้งที่ผู้มีอำนาจนำบทเรียนจากการปฏิวัติในปี 2549 ซึ่งฝ่ายอำนาจประเมินแล้วว่า “เสียของ” จึงทำให้การเลือกตั้ง 24 มีนาคม เป็นการเลือกตั้งที่ต้องไม่เสียของ

เริ่มตั้งแต่ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายลูก เพื่อไม่ให้เสียของตามหลักสากล กฎหมายดังกล่าวต้องเป็นกลางและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การเลือกตั้งได้ให้อำนาจกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่การทำงานของ กกต.ชุดนี้กลับเป็นที่ระแวงสงสัยของสังคมและพรรคการเมือง

ทั้งๆ ที่ กกต. เป็นองค์กรอิสระ แต่การดำเนินการของ กกต.กลับถูกตั้งคำถามตั้งข้อสงสัยแอบแฝงด้วยวาระทางการเมืองหรือไม่

ความระแวงเริ่มชัดตั้งแต่การนับคะแนน ว่าหลังเลือกตั้งเสร็จภาย 2-3 ชั่วโมง กลายเป็น 3-4 วันหลังเลือกตั้ง กรณีบัตรจากนิวซีแลนด์มาถึงเมืองไทยแล้วไม่มีคนไปรับจนคะแนนถูกตัดสิทธิไป, กรณีบัตรเขย่งเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้, กรณีมีบัตรเพิ่มขึ้นอีกหลายใบ กรณีการสอบสวนการทำผิดของพรรคการเมือง แต่ละพรรคก็มีคนระแวงว่าเลือกปฏิบัติ อีกพรรค กกต.หรือผู้เกี่ยวข้องเอาจริงเอาจังกับข้อร้องเรียน แต่ดูเหมือนเพิกเฉยกับอีกพรรคหนึ่ง

Advertisement

ทั้งที่มีคนกล่าวกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เลวร้ายกว่าการเลือกตั้งในปี 2500 เสียอีก

สิ่งที่น่าผิดหวัง กรณีที่มีผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 2-3 ท่านที่คนไทยถือว่า เป็นเสาหลักด้านกฎหมายให้กับบ้านเมือง เป็นแบบอย่างให้กับลูกหลาน เป็นแบบอย่างในการสร้างความถูกต้องและชอบธรรม เป็นธรรมให้กับคนในชาติ กลับตะแบงส่อเลือกปฏิบัติ เลือกข้างอย่างชัดเจนและน่าเกลียด กลายเป็นคนตรงกันข้ามเป็นคนละสีเป็นคนละขั้ว

กรณีว่าจะใช้สูตรหรือหลักเกณฑ์ใช้กฎหมายใด มาตราใด ในการคำนวณจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ มีการถกเถียงระหว่างมาตรา 128 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง กับ มาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่าความวุ่นวายในการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดจากกลุ่มคนที่มีอำนาจ คิดที่จะสร้างความสงบของบ้านเมือง โดยคิดกันเอง ทำกันเอง ออกกฎกติกา? เอื้อต่อกระบวนการการคิดจนลืมไปว่า กฎหมายถ้าไม่เป็นธรรมหรืออีกฝ่ายมองว่าถูกเลือกปฏิบัติ ความวุ่นวายก็จะไม่มีวันสิ้นสุด ทั้งหลายทั้งปวงที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนอยากเตือนสติ ทั้ง 2 ฝ่ายว่าบ้านเมืองของเราบอบช้ำ ขัดแย้งมาหลายปีแล้วนะ จะกล่าวโทษซึ่งกันและกันตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจนบางครั้งเราลืมถามตัวเองว่าทำไม

คนเหล่านั้นเขาไม่ยอมรับ ผู้มีอำนาจเลือกปฏิบัติหรือไม่ ผู้มีอำนาจรับฟังความเห็นต่างหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตามช่องทางที่ผู้เขียนอยากให้ผู้มีอำนาจ คนไทยทุกกลุ่ม ทุกพรรค ทุกองค์กรควรยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการบ้านเมืองเป็นแนวทางก็จะทำให้ ความรักความสามัคคีบังเกิดขึ้นในประเทศอย่างแน่นอนซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.หลักนิติธรรม เป็นหลักที่คนในสังคมจะต้องปฏิบัติ ผู้มีอำนาจผู้เกี่ยวข้องต้องคำนึงการตรากฎหมายต่างๆ อย่างเป็นธรรม ปราศจากการตั้งธง ตรากฎหมายให้ทันสมัยมีส่วนร่วมกับบุคคลที่หลากหลาย/กฎหมายไม่เลือกปฏิบัติ/ไม่ส่อไปทางที่เข้าข้างหรือเอนเอียงเพื่อตนเองและพวกพ้อง

ประเด็นนี้ หลังจากการรัฐประหารปี 2557 ดูเหมือนกลุ่มผู้มีอำนาจตั้งธงไว้ว่าต้องไม่เสียของ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่ตัวเองหรือพวกพ้องต้องการตั้งแต่คนร่างกติการ่างกฎหมาย/การบังคับกฎหมายลงโทษกับกลุ่มที่เห็นต่างอย่างไม่ลดละและเร่งรีบ

ตรงข้ามถ้าเป็นกลุ่มพวกพ้องเดียวกันการดำเนินการทางกฎหมายกลับล่าช้าหน่วงเหนี่ยวกติกาการเลือกตั้งถูกปรับเปลี่ยนตั้งแต่จำนวน ส.ส. เปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง รวมถึงการซื้อตัวขายตัวของผู้ที่สมัคร ต่างพรรค ต่างพวกมาไว้ในกลุ่ม ในคอก ในพรรคของตัวเอง พร้อมใช้กลไกของรัฐที่ตัวเองมีอำนาจเข้าบริหารจัดการอย่างน่าอายน่าเกลียดที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ที่เลียนแบบของเยอรมันนำมาสร้างเงื่อนไขวุ่นวายขัดแย้งคนในชาติ

และที่กล่าวขวัญกันมากๆ เช่น กรณีนายตำรวจนายหนึ่งถึงว่าน่าจะเป็นตำรวจน้ำดี มีผลงานเหนือกว่าผู้บังคับบัญชา ทำทุกอย่างกลายเป็นความหวังและที่พึ่งของประชาชน แต่สุดท้ายสังคมไทย ช็อกเงียบ นายตำรวจดังกล่าวถูกจับโดยไม่ได้คาดหมายในเซฟเฮาส์แห่งหนึ่งพร้อมข่าวพบหลักฐานมากมาย

รวมถึงข่าวลือพบเส้นทางการเงินในต่างประเทศกว่า 75,000 ล้าน เท็จจริงอย่างไรต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่คำถามที่เกิดขึ้นนายตำรวจดังกล่าวเป็นคนของใคร ใครอยู่เบื้องหลัง และที่สังคมกังขา ไม่มีการสอบสวน ไม่ใช้หลักนิติธรรมกับเหตุการณ์ดังกล่าวเลย ใครอยู่เบื้องหลังให้นายตำรวจคนดี คนเก่งคนนี้ประพฤติชั่วต่อวิชาชีพ และเชื่อว่านายตำรวจคนนี้ไม่ได้เป็นคนชั่วแต่มีใครสนับสนุนส่งเสริมให้เขาทำ

2.หลักของความโปร่งใส (Transpavency) หลักนี้เน้นสร้างความเชื่อมั่น/สร้างความไว้วางใจให้ข้อมูลที่เป็นจริงตรงไปตรงมา มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน มีกระบวนการติดตามตรวจสอบอย่างชัดเจน และเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ

แต่ตรงข้าม ผู้มีอำนาจอย่างกรณีการจัดการเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่ การกำหนดกติกาเลือกตั้งที่ส่อไปในทางตั้งธงไว้ล่วงหน้าแล้วว่าให้เป็นอะไรเช่น ลดบทบาทพรรคการเมืองใหญ่ ต้องการให้คะแนนทุกคะแนนมีความหมาย/กำหนดกติกา ส.ส. บัญชีรายชื่อ และที่ผิดแปลกคือ ส.ว. ที่มาจากการสรรหา 250 คน ที่มาโดยผู้มีอำนาจแต่งตั้งและมีสิทธิเสนอสนับสนุนบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และที่เป็นที่กังขาของสังคมมากเช่น กรณีพรรคการเมืองหนึ่งระดมทุนเข้าพรรคได้เงินมากกว่า 600 ล้านบาท พร้อมข่าวลือว่าผู้ซื้อโต๊ะอาหารดังกล่าว เป็นหน่วยราชการ กลุ่มนักธุรกิจใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐอยู่เบื้องหลัง และให้การสนับสนุน กรณีดังกล่าวมีผู้ร้องเรียนให้หาความจริง

แต่ผู้มีอำนาจกลับนิ่งเฉยไม่ได้สั่งการเร่งรีบให้คดีดังกล่าวกระจ่างแจ้ง จึงส่อไปในทางไม่โปร่งใสและเลือกปฏิบัติ

3.หลักการมีส่วนร่วม (Participation) เป็นกระบวนการร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ปัญหา ยิ่งการบริหารแผ่นดินท่ามกลางความขัดแย้งไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ยุคใช้วาทกรรม ทำลายกัน ผู้มีอำนาจทั้งหลายควรพึงระวัง การใช้ความเด็ดขาดผ่าน ม.44 บางครั้งหวังดีต่อชาติและส่วนรวมแต่สังคมขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน แล้วก็ยิ่งยาก เช่น กรณี ม.44 คุ้มครองบริษัท โทรคมนาคมมูลค่าหลายหมื่นล้าน การวางเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังมีกลุ่มคนและสังคมสงสัยว่ามีนัยยะอะไร

กลุ่มคนนี้คิดและกำหนดอนาคตประเทศแล้วหรือ

ในประเทศนี้เป็นของคนกลุ่มนี้ที่มาจากปฏิวัติรัฐประหารก็ยิ่งขาดความชอบธรรมและสง่างาม การเปิดโอกาสให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ และโต้แย้งกันไม่ทะเลาะกันเป็นกระบวนการหนึ่งที่สร้างการรับรู้กัน ฉะนั้นการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชาติจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ลดความขัดแย้งระแวงสงสัยตรงข้ามการมีส่วนร่วมจะช่วยเสริมความรักความสามัคคีคนในชาติซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญผู้มีอำนาจพึงตระหนักและระวัง

4.ความรับผิดชอบ เป็นหลักการที่องค์กรอิสระที่ผู้รับผิดชอบต้องทุ่มเทเสียสละและเน้นความถูกต้องโปร่งใสและเป็นธรรมสามารถตรวจสอบได้ไม่คลุมเครือไม่ปล่อยให้สังคมหาคำตอบกันเอง เช่น กรณีการนับคะแนน การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร และการกำหนดฐานของคะแนนว่าที่ ส.ส. จะอยู่ที่คะแนน 70,000 กว่าคะแนนหรือไม่ ผู้รับผิดชอบการเลือกตั้งต้องมีจิตสำนึกที่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง ต่อสิทธิของประชาชน โดยไม่ส่อไปในทางลำเอียงไปยังพรรคหนึ่งพรรคใด

แต่ตรงข้ามการเลือกตั้งครั้งนี้ดูแล้วเป็นการเลือกตั้งที่สร้างความหวาดระแวงสงสัยในด้านความเป็นธรรมและโปร่งใส อีกครั้งในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทยผู้เขียนจึงอยากเตือนผู้ใหญ่ทั้งหลายในบ้านเมืองว่าท่านกำลังเขียนประวัติศาสตร์ความถูกต้องหรือความเลวร้ายทางการเมืองหรือไม่ ขอได้โปรดไตร่ตรองและตระหนัก และท่านอาจจะเป็นคนเขียนกติกาเลือดให้แผ่นดินอีกก็ได้นะ

5.หลักคุณธรรม เป็นหลักที่ผู้รับผิดชอบที่มีจิตใจที่ดีเป็นธรรมมีจิตสำนึกที่ดี มีความซื่อสัตย์ต่อภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย รู้จักชั่วดี ละอายต่อการกระทำที่ผิดหลักการและหลักเกณฑ์ที่วางไว้ กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อ 24 มีนาคม 2562 กกต. กลายเป็นจำเลยทางสังคมมาโดยตลอด

ดูเหมือน กกต. เป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองหนึ่ง กกต. เหมือนเลือกปฏิบัติ เช่น เร่งรีบดำเนินการกับบางพรรคที่ถูกร้องเรียนแต่กลับเงียบนิ่งเฉยกับบางพรรคที่ร้องเรียนเช่น มีอดีต ส.ส. ในภาคใต้ ร้อง กกต. ว่ามีพรรคการเมืองหนึ่งเก็บบัตร ปชช.ไว้ก่อนเลือกตั้ง การจ่ายเงินงบประมาณให้ อสม. ก่อนวันเลือกตั้งเพียง 1 วัน เป็นต้น

6.หลักความคุ้มค่า หลักนี้ต้องการให้ผู้รับผิดชอบคำนึงถึงความคุ้มค่า และลงทุน เพราะเงินที่นำมาใช้ในการดำเนินการมาจากภาษีของประชาชน เงินทุกบาททุกสตางค์ต้องคุ้มค่า แต่ที่เป็นกล่าวขานกันว่า มีองค์กรอิสระใช้เงินจำนวนหลายร้อยล้านบาทไปต่างประเทศหรือกรณีการคัดเลือก ส.ว. จำนวน 250 คนก็ใช้เงินกว่า 1,000 ล้าน ทั้งๆ ที่คนถูกคัดเลือกเป็นคนกันเองไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากขนาดนี้

ผู้เขียนจึงอยากฝากและเตือนสติกับคนไทยทุกกลุ่ม ทุกสาขา อาชีพว่าช่องทางที่จะช่วยกันแก้ปัญหา และพัฒนาบ้านเมืองมีหลายช่องทางอยากให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากัน มองถึงสถาบันชาติ ศาสนา กษัตริย์ ด้วยความรักจงรักภักดีเป็นที่ตั้ง อย่าคิดว่าบ้านเมืองนี้เป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นอันขาด และขอย้ำว่า การจัดสรรผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว และไม่เป็นธรรมเป็นบ่อเกิดแห่งความแตกแยก

ผู้เขียนได้นำหลักธรรมาภิบาล มาขยายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องของบ้านเมืองได้ตระหนักถึงความเป็นธรรม ความเสมอภาค ความโปร่งใส พร้อมที่จะรับฟังจากกลุ่มที่เห็นต่าง ให้จงใจได้และให้ทุกท่านตระหนักไว้ว่า บ้านเมืองนี้เป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ของกลุ่มใดกลุ่มหนี่ง 10 ปีที่ผ่านมาบ้านเมืองอยู่ในวังวนความขัดแย้ง แบ่งกลุ่มเป็นสี สร้างความเกลียดชัง ใส่ร้ายซึ่งกันและกัน 10 ปีที่ยาวนานพอแล้วที่ทำให้ประเทศบอบช้ำ หรือท่านทั้งหลายยังจะพอใจและต้องการให้ประเทศแตกร้าวกันอีกเหรอ

มีทางเดียวคือทำให้การเลือกตั้งหลัง 24 มี.ค.62 เป็นการเลือกตั้งที่สร้างความเป็นธรรม ความสุขให้คนไทยภายใต้ หลักธรรมาภิบาลกันเถอะ และผู้เขียนยังเชื่อมั่นเสียดายคนดีๆ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังเป็นเครื่องมือให้กับคนบางกลุ่ม

พล.อ.ประยุทธ์ กำลังกลายเป็นคนหนึ่งที่เข้าสู่วังวนความแตกร้าวของคนในชาติ หรือไม่ฝากให้คิดด้วยความรักและศรัทธาในตัวท่านนายกรัฐมนตรี

ณรงค์ ขุ้มทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image