สะพานแห่งกาลเวลา : สหรัฐอเมริกากับหัวเว่ย : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

FILE PHOTO: A salesman turns on a new Huawei P30 smartphone for a customer after Huawei's P30 and P30 Pro went on sale at a Huawei store in Beijing, China, April 11, 2019. REUTERS/Jason Lee/File Photo

เรื่องฮิตสุดยอดในแวดวงสื่อสาร โทรคมนาคมและเทคโนโลยี ในนาทีนี้ เห็นทีจะไม่มีเรื่องไหนฮอตเกินกว่า เรื่องที่สหรัฐอเมริกา “แบน” หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่จากจีนแน่นอน

ผลกระทบที่มีต่อสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย ซึ่งจะไม่มีสิทธิใช้ “แอนดรอยด์” และองค์ประกอบ อื่นๆ อีกต่อไป (แบบถูกต้องตามกฎเกณฑ์กติกานะครับ) เป็นเรื่องใหญ่พอแรงแล้ว ถ้าเราคำนึงถึงว่า แต่ละปี หัวเว่ย ขายสมาร์ทโฟนได้เป็น 200-300 ล้านเครื่อง

แต่ผลสะเทือนที่เกิดต่อเนื่องตามมายิ่งใหญ่โตมโหฬารมากขึ้นไปอีก นั่นคือเรื่องของห่วงโซ่ซัพพลายในระบบการผลิตอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย

เหตุเพราะการแบนที่ว่านี้ ครอบคลุมรวมไปถึงการขายและถ่ายโอนเทคโนโลยี ที่ “มีต้นกำเนิดในสหรัฐอเมริกา” ทั้งที่เป็นซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์อีกด้วย

Advertisement

แล้วซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์อะไรก็ตาม ที่มีสัดส่วนซึ่งเป็นของเอกชนอเมริกันตั้งแต่ 25 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ถือว่ามีต้นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกาและต้องห้ามไม่ให้ขายหรือถ่ายโอนให้หัวเว่ยทั้งหมด

ยุ่งละซีครับ!

ที่ยุ่งเป็นเพราะว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่ละชิ้นที่เห็นกันอยู่ในเวลานี้ ไม่ได้เป็นของประเทศไหน หรือของใครโดดๆ หรอกครับ เป็นลูกผสมทั้งนั้น

Advertisement

ตัวอย่างเช่น เออาร์เอ็ม ที่ทำหน้าที่ออกแบบชิปประมวลผล เป็นบริษัทอังกฤษ แต่บริษัทที่ทำหน้าที่นำแบบที่ออกเอาไว้มาผลิตให้เป็นตัวชิปที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตชิปตามออเดอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น คือบริษัทไต้หวัน ชื่อบริษัท ทีเอสเอ็มซี ครับ

ทีนี้แบบที่ เออาร์เอ็ม ออกแบบนั้น พื้นฐานส่วนหนึ่งก็เอามาจากของเดิมที่คนอเมริกันคิดค้นเอาไว้ เลยอยู่ในข่ายต้องห้ามเข้าไปด้วย

นั่นเพราะในโลกเทคโนโลยีทุกวันนี้ ไม่มีใครคิดและเริ่มต้นอะไรใหม่จากศูนย์อีกแล้ว ระบบไลเซนส์ช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยีรุดหน้าและหลากหลายมากขึ้นตามลำดับ เพราะนำของเดิมมาพัฒนาต่อ จ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้คิดเดิมเล็กน้อย ดีกว่ามานั่งคิดใหม่ ออกแบบใหม่กันทั้งหมด

ผู้ที่คิดเทคโนโลยีต้นน้ำแบบนี้มีอยู่ไม่กี่ประเทศหรอกครับ สหรัฐอเมริกาเคยเป็นมาก่อนแต่ระยะหลังนี้ ผลงานการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีกลับแพ้จีนอยู่หลายขุม

หัวเว่ยเองก็ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีอาร์แอนด์ดีสูงระดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน

ที่ผ่านมาเราได้เห็นกันแค่การ “แบน” ฝ่ายเดียว เรายังไม่ได้เห็นการตอบโต้ด้วยการ “แบน” ลักษณะเดียวกันจากจีน

ถ้าเกิดขึ้นแล้วมีการแบนกันไปแบนกันมา ตอบโต้กันไม่เลิก ทั้งการค้า การผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีของทั้งโลกมีหวังชะลอลงฮวบฮาบ หนักหนาสาหัสอาจถึงขั้นหยุดชะงักเอา

เวรกรรมก็จะตกมาอยู่กับผู้บริโภคเทคโนโลยีอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละครับ

เพราะทั้งโลกก็จะย้อนกลับไปถึงยุคเหมือนเมื่อครั้งที่ทุกอย่างที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ทันสมัย นั้น ราคาแพงหูฉี่

เหมือนในอดีตเมื่อครั้งที่เราคิดจะอัพเกรดคอมพิวเตอร์กันทีนึง ต้องคิดแล้วคิดอีกเพราะ
แรมชิ้นเดียว แถวเดียว ในตอนนั้นราคาแพงมหาศาลชนิดกลืนน้ำลายแทบไม่ลงคอ

ผมไม่ได้คิดอย่างนี้คนเดียวนะครับ นักลงทุนทั้งโลกก็คิดเหมือนกันอย่างนี้ ที่เป็นเหตุผลทำให้ตลาดหุ้นสำคัญๆ ทั่วโลกปิดดิ่งลงต่อเนื่องมาแล้ว 2-3 วันติดต่อกัน

เพราะทุกคนที่ไตร่ตรองเรื่องการแบนหัวเว่ยแล้ว ชักไม่แน่ใจแล้วว่า นี่คือส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเรื่องการค้าธรรมดาๆ

แต่อาจเป็นการเปิดศึกเข้าใส่กันเป็นเพื่อหวังผลจะได้เป็นผู้ควบคุมเทคโนโลยีของโลกในอนาคต

ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลังนี้จริง โอกาสที่จะยอมยกธงขาวกันง่ายๆ เป็นไม่มีทางแน่นอนครับ

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image