คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : OS แห่งประเทศ : โดย กล้า สมุทวณิช

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างการรัฐประหารในยุคก่อนกับยุคหลังสหัสวรรษที่สอง ที่ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าดีกว่าหรือแย่กว่ากัน คือบทบาทของ “กฎหมาย” และ “ผู้ใช้กฎหมาย”

จากแต่ก่อนที่การใช้อำนาจของผู้ทำรัฐประหารซึ่งเป็นเผด็จการนั้นเป็นอำนาจดิบหยาบ อยากได้อยากทำอะไรก็สั่งการออกมาเป็นข้อๆ หรือแม้แต่จับคนไปยิงเป้าเอาเสียดื้อๆ

ในตอนนั้นผู้คนและสังคมก็รู้สึกว่าอำนาจเช่นนั้นทำได้ และก็ต้องเป็นไปเช่นนั้น แล้วค่อยไปหาคำอธิบายในทางหลักการเอา

เป็นที่มาของแนวคำพิพากษาฎีกาหลายฉบับ ว่าการใช้อำนาจโดยคณะรัฐประหารถือเป็น “กฎหมาย” ที่ศักดิ์และสิทธิเสมอกับพระราชบัญญัติ แม้ไม่มีการลงพระปรมาภิไธยจากองค์พระประมุข และสำคัญที่สุดคือไม่ได้มีที่มาจากความเห็นชอบของตัวแทนประชาชน

Advertisement

แต่ในการรัฐประหารสองครั้งหลังที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2549 และ 2557 นั้น การใช้อำนาจลุ่นๆ อันดิบเถื่อนนั้นไม่ได้รับการยอมรับ หรืออย่างน้อยมันก็ดูไม่ศิวิไลซ์เอาเสียเลย คณะผู้ก่อการจึงต้องเลี่ยงไปใช้อำนาจเผด็จการของตนนั้นผ่าน “กฎหมาย” เพื่อบอกตัวเองและผู้อื่นว่า ตนเองใช้อำนาจอย่างชอบธรรม

ดังที่ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้แทนราษฎรของเรา เคยเปรียบเปรยไว้ว่า คือการเอากฎหมายไปหุ้มห่อกำปั้นเหล็ก เวลาทุบลงไปนั้น เสียงมันก็ไม่ดังโฉ่งฉ่าง แต่คนที่โดนก็เจ็บร้าวเท่าเดิม

ทำไมกฎหมายนั้นชอบธรรมหรือ ก็เพราะว่ากฎหมายนั้นเป็นรูปแบบการใช้อำนาจรัฐและกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล และรัฐต่อบุคคลที่พัฒนาต่อมาจากการใช้อำนาจหรือการตกลงผูกพันแบบรายคนรายกรณี เช่น รัฐไม่ต้องจับคนที่ขโมยของทุกคนแล้วมาคิดว่าจะลงโทษกันอย่างไรดีทีละคน แต่กำหนดมาเลยว่า ใครขโมยของนั้นไซร้ต้องถูกตัดมือ หรือพ่อค้าวาณิชไม่ต้องคิดว่ากู้ยืมกันแล้วจะเชื่อใจกันได้อย่างไร ก็กำหนดประเพณีการค้าซึ่งต่อมากลายเป็นกฎหมายแพ่งไปเลยว่า การกู้ยืมต้องมีการแสดงตนในสัญญาที่มีลายลักษณ์อักษร อาจเรียกหลักประกันที่ถ้าไม่นำเงินมาจ่ายเจ้าหนี้ก็ริบไปได้ เป็นต้น

Advertisement

กฎหมายจึงเหมือนเป็น “ชุดคำสั่ง” ล่วงหน้าที่เอาไว้กำหนดว่า ในงานรูปแบบเดียวกันนี้ ข้อเท็จจริงอย่างนั้นอย่างนี้ จะจัดการมันอย่างไร ชุดคำสั่งเหล่านั้นก็ได้รับการพัฒนาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นสะดวกขึ้น กลายเป็นตัวบท เป็นประมวลกฎหมาย และระบบกฎหมาย

หากกฎหมายนั้นเป็นเหมือนโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นของประเทศ ที่ตรงยอดของกฎหมายทั้งปวงนั้นมีสิ่งที่เป็นเหมือน “ระบบปฏิบัติการ” แห่งรัฐประเทศ เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ”

หลายคนคงทราบว่า อันที่จริงแล้วคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลาย แม้ว่าจะต่างรุ่นต่างยี่ห้อกัน แต่ก็ล้วนมีเครื่องในที่เหมือนกัน มี CPU RAM ตัวเก็บข้อมูล หรือลำโพง กล้อง ชนิดเดียวกันหรือใกล้เคียง

แต่สิ่งที่ทำให้โน้ตบุ๊ก หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่สเปกเดียวกันเปี๊ยบนั้นแตกต่างกันในสาระสำคัญ คือ “ระบบปฏิบัติการ” หรือ Operating System (OS) ของมัน

อย่างที่เขียนไว้ตอนต้นว่า กฎหมายนั้นเหมือนกับการวาง “โปรแกรม” เอาไว้แล้วว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ในระหว่างคนด้วยกันจะจัดการอย่างไร หรือเปรียบเทียบกับ Application ในอุปกรณ์อัจฉริยะก็จะยิ่งเห็นชัด การออกกฎหมายใหม่ก็เหมือนการ “ลงแอพพ์” ใหม่ในระบบประเทศ

เช่น ในประเทศหนึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีระบบประกันสังคม แม้ว่าประเทศอื่นเขาจะมีกันแล้ว การออกกฎหมายประกันสังคมก็เป็นการสร้างกลไกระบบประกันสังคมขึ้นในประเทศ ก็เหมือนการลงแอพพ์ตกแต่งใส่ข้อความในรูปภาพ ที่ทำให้โทรศัพท์เราที่เดิมทำได้แค่ถ่ายรูปดอกไม้ ก็เพิ่มความสามารถให้ถ่ายรูปแล้วเอามาทำเป็นภาพสวัสดีวันจันทร์ส่งให้มิตรสหายวัยเกษียณได้

แต่สิ่งที่กำหนดว่าเราจะลงโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นอะไร หรือสร้างกลไกใดในประเทศได้นั้น คือระบบปฏิบัติการหรือ OS ที่จะกำหนดขึ้นมาว่า ประเทศเรานี้จะใช้กฎหมายระบบอะไร เป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวม มีประมุขแบบไหน รัฐสภาอย่างไร มีศาลกี่ศาลอะไรบ้าง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งไหนมีที่มาอย่างไร กฎหมายจะออกได้อย่างไร รัฐบาลมีอำนาจแค่ไหน

พูดง่ายๆ ว่ารัฐธรรมนูญคือตัวกำหนดระบบนิเวศ (Ecosystem) ของรัฐนั้นๆ และเป็นทั้งโอกาสและข้อจำกัด ว่าเราจะสามารถสร้างกลไกอะไรลงในประเทศนี้ได้บ้าง

เช่น ถ้าเราอยากให้จังหวัดของเรามีการปกครองที่พิเศษ ใช้กฎหมายคนละฉบับกับส่วนกลาง มีบ่อนการพนันถูกกฎหมายได้ หรือไม่มีโทษประหารในจังหวัดของเรานั้น ก็ไม่สามารถติดตั้ง “กฎหมาย” ลักษณะดังกล่าวได้ เพราะ OS คือ “รัฐธรรมนูญ” ของไทยซึ่งมีรูปของรัฐเป็นรัฐเดี่ยวนั้นไม่อนุญาต เหมือนที่เราเอาโปรแกรมของวินโดวส์ไปลงในเครื่องแมคอินทอชของแอปเปิลตรงๆ ไม่ได้ แม้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์จะสเปกเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นคนละระบบปฏิบัติการกัน

ถ้าจะให้ใช้ได้ก็จำเป็นต้องแปลงให้เป็นเวอร์ชั่นสำหรับระบบปฏิบัติการนั้นก่อน ภายใต้การยอมรับข้อจำกัดและเงื่อนไขของระบบปฏิบัติการที่แปลงไปด้วย ใครที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นหลายแพลตฟอร์ม (Platform) คงเข้าใจเรื่องนี้ดีว่าแอพพ์ตัวเดียวกันแต่บางฟังก์ชั่นจะถูกตัดไปหรือต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานถ้าใช้ในระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกัน

แต่นั่นแหละครับ ก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า แท้ที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะ CPU ของคอมพิวเตอร์ หรือ “สังคม” และ “ผู้คน” นั้น จริงๆ แล้วเนื้อในไม่ได้แตกต่างกันเลย ไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์ยี่ห้ออะไร ก็ใช้ CPU ที่ใช้ชุดคำสั่งเดียวกัน เช่นเดียวกับที่คนไทย คนฝรั่งเศส คนญี่ปุ่น หรือคนอเมริกัน มีเลือดสีแดงเหมือนกัน ต้องใช้ออกซิเจนในการหายใจเหมือนกัน เสียใจก็ร้องไห้เหมือนกัน

เอาเข้าจริงๆ มันจึงไม่มีอะไรหรอกที่เราจะ “ทำได้” หรือ “ทำไม่ได้” ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์คนอื่นๆ เช่นเดียวกับเรานั้นทำได้และเคยทำกันมาแล้ว

เพราะอย่างคอมพิวเตอร์ ให้ซื้อเครื่องแมคอินทอชมาแล้วอยากใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ก็ทำได้ หรือเครื่องประกอบตามร้าน ถ้าจะลง OSX ก็มีคนหาวิธีทำให้ได้ (แม้จะยากหน่อย) หรือแม้แต่การประนีประนอมกว่านั้น ที่ผู้ผลิตระบบปฏิบัติการนั้นเขาช่วยหาทางออกสำหรับคนที่อยากใช้ระบบปฏิบัติการอื่นในบางเรื่องสามารถทำได้ นั้นคือการใช้ทำงานใน “เครื่องเสมือน” หรือ Virtual Machine ภายใต้ระบบปฏิบัติการเดิมที่มากับเครื่อง แต่จำลองให้ตัวมันมีสภาพแวดล้อมของปฏิบัติการอื่น เพื่อให้ใช้งานแอพพลิเคชั่นจากระบบปฏิบัติการนั้นได้ โดยที่ยังคงใช้ระบบปฏิบัติการที่ติดมากับเครื่องก็ได้อยู่เช่นกัน

ที่ทำเช่นนั้นได้ก็เพราะหลักการพื้นฐานว่า จริงๆ แล้วคอมพิวเตอร์ทั้งหลายนั้นมีเนื้อในแบบเดียวกัน แต่ถูกกำหนดให้แตกต่างกันด้วยระบบปฏิบัติการ

นี่ก็เป็นวิธีการประนีประนอมในรูปแบบหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้วิธีเด็ดขาดรุนแรงขนาดลบ OS เดิมทิ้งไป แล้วลงของใหม่

ในทางรัฐธรรมนูญหรือในทางการเมืองการปกครอง มีรูปแบบที่ใกล้เคียงกับการใช้ Virtual Machine ในคอมพิวเตอร์ กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศจีน ที่ใช้รูปแบบ “หนึ่งประเทศสองระบบ” อย่างที่ฮ่องกงและมาเก๊าสามารถปกครองตัวเองได้ ดำเนินนโยบายการค้าและเศรษฐกิจได้ไม่ต่างจากสมัยที่อังกฤษปกครอง ใช้สกุลเงินของตัวเอง มีรัฐบาล สภาและศาลในระบบของตัวเองได้ แต่ก็ยังถือว่าเป็นประเทศจีน อยู่ภายใต้อธิปไตยของจีน

เพราะหลักการพื้นฐานมีอยู่ว่า เพราะรัฐประเทศนั้นมิใช่อะไรเลย นอกจากนามธรรมที่ประกอบจากผู้คนที่อาจจะมีความเชื่อ ภาษา วัฒนธรรม และชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ที่เหนือกว่านั้น คือมนุษย์ทุกคนนั้นเป็นมนุษย์เท่ากัน ประเทศจึงถูกกำหนดขึ้นจากมนุษย์ มิใช่มนุษย์ถูกกำหนดโดยประเทศ

และรัฐธรรมนูญก็เหมือน OS ในคอมพิวเตอร์เช่นกัน ถ้าเราใช้ไปใช้มาแล้วเห็นว่า เครื่องอื่นที่สเปกเดียวกันทำงานได้ดีกว่าและเร็วกว่าเครื่องของเรา ถ้าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราหรือโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นที่เราใช้ ก็เป็นไปได้ว่าปัญหานั้นจะอยู่ที่ระบบปฏิบัติการนั่นแหละ

ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์นั้นถ้าเป็นระบบเดิมแต่คนละรุ่นกัน แม้จะมีพื้นฐานอยู่บนสถาปัตยกรรมหรือตระกูลเดียวกัน แต่ก็อาจจะใช้ทรัพยากรของเครื่องในการจัดการระบบต่างกัน แม้ดูหน้าตาจะไม่แตกต่างกันมากนัก ผิดกันเพียงแค่ลูกเล่นหรือรายละเอียดปลีกย่อยนิดๆ หน่อยๆ อันนี้ใครใช้ระบบปฏิบัติการทั้ง Windows หรือ OSX คงนึกออกว่าหน้าตาของระบบปฏิบัติการแต่ละเวอร์ชั่นนั้นไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่การจัดการทรัพยากรนั้นแตกต่างกัน

บางรุ่นเหมือนจะเป็นการอัพเกรดให้ทันสมัยเพิ่งออกมาใหม่ๆ แต่ลงไปแล้วปรากฏว่าเครื่องช้าลงมาก แถมความร้อนของเครื่องยังขึ้นสูงอีกเพราะ CPU ต่างๆ และวงจรอุปกรณ์อื่นๆ ต้องทำงานหนักขึ้นมาก แถมยังแฮงก์เป็นระยะๆ เพราะกินทรัพยากรไปมหาศาล งานเดิมที่เคยทำได้ไม่ยากก็ยากขึ้น เจอแบบนี้หลายคนต้องย้อนกลับไปใช้ระบบปฏิบัติการรุ่นเก่าที่ปัญหาน้อยกว่าแทบไม่ทัน แต่บางกรณีก็ทำไม่ได้ อาจถึงขั้นต้องล้างเครื่อง

รัฐธรรมนูญก็เช่นกัน ผู้สร้างอาจจะโฆษณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของตัวเองเต็มไปด้วยฟีเจอร์ที่ทันสมัยมากมาย แต่ทำงานจริงแล้วดันเครื่องร้อนและแฮงก์บ่อย ทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ หรือไม่ยอมให้เราใช้งานบางโปรแกรม เพราะโปรแกรมเมอร์นั้นไปวางระบบรักษาความปลอดภัยที่ลึกลับซับซ้อน สแกนแล้วสแกนอีกจนเครื่องช้าและกินทรัพยากรที่ควรจะเอามาทำงาน แต่ว่าดัน “เจาะช่อง” เอาไว้ให้แฮกเกอร์พวกที่รู้จักกับโปรแกรมเมอร์ตัวแสบสามารถเจาะเข้ามาใช้ประโยชน์จากระบบได้ง่ายๆ ฟรีๆ ลบไฟล์เราเล่นหรือยัดเยียดลงแอพพลิเคชั่นประหลาดๆ ในเครื่องเราได้อีกต่างหาก

จะถอนออกย้อนกลับไปใช้เวอร์ชั่นเก่าก็ดันวางกลไกเข้ารหัสไว้ให้ทำยากจนอาจจะทำไม่ได้เลย นอกจากล้างเครื่องแล้วลงใหม่

เรื่องนี้ “ผู้ออกแบบระบบ” ต้องระวังนิดหนึ่งว่า ถ้าวันใดที่ผู้ใช้เขาทนไม่ไหว ล้างระบบปฏิบัติการอันเต็มไปด้วยกลไกอันฉ้อฉลสิ้นเปลืองแต่ไร้ประโยชน์เหล่านั้นเท่าไรก็ไม่เกลี้ยง เขาอาจจะลงทุนถอดฮาร์ดดิสก์เก่าออกแล้วเปลี่ยนเป็น SSD เพื่อจะได้ลง OS ใหม่แบบคลีนๆ

และในตอนที่คอมพิวเตอร์อยู่ในสภาพไร้ OS นั้น เขาอาจจะไม่เลือกใช้ระบบปฏิบัติการตระกูลเก่าเลยก็ได้ อาจจะคิดว่าไหนๆ ก็เปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนทั้งที เปลี่ยนแบบล้างบางเปิดใจให้กับ OS ระบบใหม่เสียเลยดีกว่า

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image