เมืองไทยเคยมีนายกรัฐมนตรี 2 คน ในเวลาเดียวกัน : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

เมื่อก่อนประเทศไทยเราเคยมีนายกรัฐมนตรีครั้งละ 2 คน มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่รู้จักกันทั่วไปว่าการปกครองแบบ “จตุสดมภ์” กล่าวคือมีการแบ่งการบริหารราชการตามทฤษฎีระหว่างฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือน มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขผู้มีอำนาจสูงสุดโดยมีนายกรัฐมนตรี 2 คน (สมัยนั้นเรียกว่าอัครมหาเสนาบดี) คือ สมุหพระกลาโหมรับผิดชอบงานทางฝ่ายทหาร คือกองทัพบกและกองทัพเรือ (สมัยก่อนยังไม่มีกองทัพอากาศ ส่วนตำรวจก็เป็นฝ่ายพลเรือน) ส่วนสมุหนายกรับผิดชอบงานฝ่ายพลเรือนก็ดูแลเสนาบดี (รัฐมนตรี) กระทรวงนครบาล (เวียง) กระทรวงวัง (วัง) กระทรวงการคลัง (คลัง) และกระทรวงเกษตร (นา) ที่เรียกรวมกันว่าจตุสดมภ์นั่นแหละ

ส่วนหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์มี 6 หน่วยงาน เรียกว่าทบวงก็ได้เพราะหัวหน้าหน่วยงานเป็นเพียงมนตรีไม่ได้เป็นเสนาบดี คือ 1) กรมทหารล้อมวัง 2) กรมพระสุรสวดี (สัสดีที่มีหน้าที่เกณฑ์คนมาทำราชการนั่นแหละ) 3) กรมพระคลังมหาสมบัติ (ทรัพย์สินส่วนพระองค์) 4) กรมสังฆการี กรมนี้สำคัญมากดูแลพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร เจ้ากรมมีศักดินาเทียบเท่ากับเสนาบดีเลยทีเดียว เพราะต้องจับพระสงฆ์สึก ลงโทษพระสงฆ์ที่ประพฤติผิดธรรมวินัย แบบว่าได้ค่ากลัวบาปเยอะกว่ามนตรีอื่นๆ 5) กรมอาลักษณ์ ก็เกี่ยว
กับหนังสือหนังหา 6) กรมภูษามาลาก็ดูแลเครื่องทรง ของใช้สอยของพระมหากษัตริย์

นายกรัฐมนตรี (อัครเสนาบดี) ทั้งสองนี้ที่แบ่งกันรับผิดชอบทหารกับพลเรือนนั้นเป็นไปตามทฤษฎีนะครับ แต่ในความเป็นจริงแล้วมักจะทำรวมๆ กันไปว่ากันตามสถานการณ์ซึ่งบ่อยครั้งฝ่ายสมุหนายกที่เป็นพลเรือนรบเก่งกว่าฝ่ายสมุหพระกลาโหมก็ได้เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพหลวงออกไปรบอยู่ก็มีอยู่เสมอ

อีทีนี้มีเรื่องสนุกอยากจะนำมาให้ท่านผู้อ่านที่เคารพอ่านกันสนุกๆ และเป็นการชักชวนให้คนไทยโดยเฉพาะเยาวชนหันมาสนใจประวัติศาสตร์ไทยให้มากขึ้น เพราะว่าในวิชาประวัติศาสตร์นั้นมีเรื่องสนุกๆ อยู่มากมาย แม้แต่ในพระราชพงศาวดารเองก็มีเรื่องสนุกน่าสนใจอยู่เรื่อยไป ตัวอย่างเช่น “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์”

Advertisement

ผู้เขียนจะขอคัดเอาตอน “พวกเจ้าพระยามหาเสนากับเจ้าพระยาอภัยภูธรวิวาทกัน” มาให้อ่านกันแบบใช้ฉบับตัวเขียนสำนวนดั้งเดิมเลยละครับ รับรองว่าไม่เบื่อ ไม่ง่วงแน่นอน

“…โปรดให้เจ้าพนักงานทำพระเมรุสมเดจพระเจ้าน้องนางเธอกรมหลวงเทพยวะดี ครั้นพระเมรุเสรจแล้ว ในเดือนหกขึ้นสิบค่ำ ได้ชักพระศพออกสู่พระเมรุ ได้มีการมโหรศพสี่วันสี่คืน ถวายไตรปริกขารแก่พระสงฆ์ราชาคณถานานุกรมสงฆ์อันดับเปนอันมาก ครั้น ณ วันเดือนหกขึ้นสิบสามค่ำ ก็ได้พระราชทานเพลิง แลเมื่อทำการพระศพนั้น เจ้าพระยามหาเสนาบุนสัง กับเจ้าพระยาอภัยภูธร เกิดวิวาทกันขึ้นด้วยเจ้าพระยามหาเสนา พาภรรยาน้อยไปดูงานที่พลับพลามวย ครั้นเวลาค่ำเลิกดอกไม้แล้วเสดจกลับเข้าพระราชวัง เจ้านายแลขุนนางก็ภากันกลับ เจ้าพระยามหาเสนา ก็พาภรรยาน้อยตามหลังแคร่มา แล้วจึ่งถึงทนายถือเครื่องยศตามหลังหม่อมๆ มาถึงมุมวังกรมหมื่นเทพพลภักดี จะเข้าประตูวิเสศไชยศรีมาออกประตูรัตนพิศาล มาลงเรือที่ท่าขุนนางที่ประตู
วิเสศไชยศรีนั้นคั่งกันอยู่แคร่เจ้าพระยามหาเสนาจะเข้าไปยังไม่ได้ ภอแคร่เจ้าพระยาอภัยภูธร ตามมาข้างข้างหลังก็บุกรุกเข้าไป พวกทนายห้ามก็ไม่ฟัง เกิดตีกันขึ้น พวกทนายเจ้าพระยามหาเสนาแย่งเอากระบี่เครื่องยศฝักทอง ของเจ้าพระยาอภัยภูธรไว้ได้ แต่พวกภรรยาน้อย เจ้าพระยามหาเสนานั้นยับเยินเตมที ครั้นรวบรวมกันเข้าได้แล้วก็ภากันไปลงเรือ ฝ่ายบุตรหลานเจ้าพระยาอภัยภูธรเปนเจ้ากรมปลัตกรมพระตำรวจอยู่หลายนาย ครั้นส่งเสดจขึ้นพระมหามนเฑียนแล้วก็พากันกลับออกมาพบเจ้าพระยาอภัยภูธร ที่จะเลี้ยวไปน่าศาลาลูกขุน เจ้าพระยาอภัยภูธร ก็เล่าความซึ่งวิวาทนั้นให้ฟัง พวกบุตรหลานญาติพี่น้องเจ้าพระยาอภัยภูธรแจ้งดั่งนั้น ก็ภากนวิ่งตามเจ้าพระยามหาเสนาลงมาทันที่ท่าเรือ ก็แย่งกันชิงเอากระบี่คืนไปได้ เวลานั้นก็ได้วิวาทกันอีกครั้งหนึ่งเจ้าพระยามหาเสนาก็ลงเรือข้ามไปบ้าน เจ้าพระยาอภัยภูธรบุตรหลาน ก็พากันข้ามไปบ้าน ครั้นงานพระศพแล้ว เจ้าพระยามหาเสนา ก็กราบบังคมทูลกล่าวโทษ เจ้าพระยาอภัยภูธร จึ่งโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินท์ร พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิ์พลเสพเปนตระลาการชำระ การที่
ตระลาการชำระกันนั้นก็เปนแต่ล้อเจ้าพระยามหาเสนาเล่น ด้วยท่านทำผิดธรรมเนียม หลงไปด้วยมาตุคาม ความยังไม่ทันแล้วก็ภอบังเกิดช้างเผือกล้ม แลสิ้นแผ่นดิน ต้องด้วยคำโบราณว่า ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่
วิวาทกันเปนอุบาทว์ มักเกิดเหตุใหญ่ต่างๆ”

ครับ! เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็มิได้ทรงชำระความต่อ หากแต่โปรดเกล้าฯพระราชทานเกียรติยศสูงสุดเป็นพิเศษทั้งสองท่าน โปรดฯให้ขึ้นเสลี่ยงงากั้นกลดเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระบรมมหาราชวังทุกวัน (สมัยนั้นขุนนางผู้ใหญ่นั่งแคร่กัญญา คือแคร่ไม้ มีหลังคาที่เรียกกันว่า หลังคากันแซงเตยลักษณะเป็นกระแชงสานด้วยเตย แคร่นั้นมีพนักหลังพิง คานหามทำด้วยไม้ไผ่ลำใหญ่ เรียกว่าไม้ลำมะลอก)

Advertisement

การพิจารณาความแบบนี้เป็นแบบการพิจารณาคดีความของพระสงฆ์เรียกว่า “ติณวัตถารกวินัย” โดยตัดสินอธิกรณ์เหมือนกลบด้วยหญ้า, การตัดสินข้อพิพาทอย่างหนึ่ง ด้วยการประนีประนอมคู่พิพาท ไม่ต้องสอบสวนความเดิมก็ได้ การโปรดเกล้าฯ เพิ่มเกียรติยศแก่ทั้งสองฝ่ายโดยมิได้ทรงรื้อฟื้นเรื่องเก่า มิได้ทรงตัดสินเป็นเรื่องราว นับว่าเป็นพระปรีชาญาณ เมื่อทรงเห็นว่าเรื่องราวมิใช่เรื่องสำคัญอันอาจทำความเสียหายแก่บ้านเมือง เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวอย่างที่ปัจจุบันเรียกว่า “หมั่นไส้” กันเท่านั้น จึงทรงถนอมน้ำใจเอาไว้ทำคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง

เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นเสมอ รัชกาลที่ 3 มักทรงใช้วิธีกลบเกลื่อนเรื่องคดีความแบบตัดไฟเสียแต่ต้นลมเสมอ เช่น มีข้าราชการท่านหนึ่งแต่งกลอนว่าข้าราชการอีกท่านหนึ่งเขียนลงกระดาษข่อยมาปิดแถวท้องพระโรงเสียด้วย เมื่อทรงทราบถึงพระกรรณ ก็ทรงพระสรวล ตรัสว่า เขาหยอกกันเล่น เมื่อเป็นดังนี้ฝ่ายที่กำลังจะกราบทูลฟ้องก็เลยต้องระงับไม่ฟ้อง เพราะพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงเห็นว่าเป็นเพียงเรื่องหยอกล้อไร้สาระเสียแล้ว

เห็นไหมครับท่านผู้อ่านที่เคารพ การอ่านประวัติศาสตร์แม้แต่ในพระราชพงศาวดารก็สนุกถมเถไปครับ แล้วใครว่าประวัติศาสตร์น่าเบื่อ

เรื่องที่เล่ามานี้ไม่เกี่ยวกับการที่รัฐสภาจะทำการเลือกนายกรัฐมนตรีเร็วๆ นี้แต่อย่างไร

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image