เกร็ง และ กลัว การรับซื้อ’ยางพารา’ โรคระบาด ใหม่

บรรยากาศที่สื่อ “หนังสือพิมพ์” หลายฉบับรายงานตรงกันต่อบรรยากาศการรับซื้อ “ยางพารา” เมื่อวันที่ 25 มกราคม อันเป็นวันแรกที่ว่า

“เงียบเหงา” และ “ไม่พร้อม”

เป็นสภาพที่สามารถเข้าใจได้ ไม่เพียงเพราะเป็น “วันแรก” ของการดี-เดย์ หากแต่ยังเนื่องจาก “อุณหภูมิ’ ที่มิได้อำนวยให้อย่างสอดรับ

แต่ภายในสภาวะแห่งความ “ไม่พร้อม” นั้นก็สะท้อน “ปัญหา”

Advertisement

ทั้งมิได้มาจากปัญหาของจำนวนรับซื้อยางพาราซึ่งกำหนดกรอบอยู่ที่ไม่เกิน 100,000 ตัน อันถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตโดยรวมกว่า 3-4 ล้านตัน

หากแต่ยังเนื่องแต่ปัญหาเนื่องแต่ “ความกลัว”

ยาง-กราฟิก

Advertisement

 

คงจำบรรยากาศเมื่อแรกที่มีการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรชาวนาไร่ละ 1,500 บาท ภายในกรอบไม่เกิน 15 ไร่ต่อคน ภายหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่นาน

เป็นบรรยากาศแห่ง “ความเกร็ง” เป็นบรรยากาศแห่ง “ความกลัว”

จึงมิได้มีแต่เจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับ ธ.ก.ส.เท่านั้น หากแต่ยังคับคั่งด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงกลาโหม

นำไปสู่ “ความล่าช้า” บังเกิดระบบกลั่นกรองในแบบ “เรด เทป”

ลองไปสำรวจ “สภาพ” อันเกิดขึ้นในวันแรกของการรับซื้อยางพารา เอาเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่หลักก็แล้วกัน

และเลือก “ข้อมูล” อย่างเป็น “ทางการ”

ไม่ใช่ข้อมูลจากองค์กรอย่าง “กู้ชีพชาวสวนยาง” หรืออย่าง “ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย”

ตรงกันข้าม เป็นรายงานจาก “ผู้ว่าราชการจังหวัด”

ปรากฏว่าที่จังหวัดสงขลา สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านควนกบ อ.คลองหอยโข่ง ยังรับซื้อน้ำยางในราคา 37-38 บาท เนื่องจากยังไม่ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์บันทึกข้อมูล

ที่จังหวัดพัทลุง การตรวจสอบข้อมูลค่อนข้างล่าช้า

ที่จังหวัดกระบี่ เกษตรกรนำมาขายน้อยเกรงจะไม่คุ้มทุน เนื่องจากเห็นว่าขายได้ไม่เกิน 150 กก./ราย และเห็นว่าเป็นจำนวนอันน้อยนิดเป็นอย่างมาก

ความสับสน ความไม่แน่ใจเช่นนี้เองที่นำไปสู่การตัดสินใจฉับพลัน

นั่นก็คือ เพราะระบบทางราชการมีระเบียบว่าสามารถจ่ายเงินได้ภายในเวลา 2 วัน เกษตรกรจึงเลือกเอาความสะดวกเฉพาะหน้า โดยเลือกขายให้พ่อค้าเอกชนเพราะหมูไปไก่ก็ได้มาทันที ไม่จำเป็นต้องรอเหมือนกับมาขายให้กับทางราชการ

กล่าวโดยสรุป “ระบบ” ของทางราชการต่างหากที่เป็น “อุปสรรค”

สังเกตกันหรือไม่ว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นชาวนา ไม่ว่าจะเป็นชาวสวน ดำเนินไปด้วยความล่าช้า เนิบนาบ

ทั้งๆ ที่ได้มีการอนุมัติ “งบประมาณ” ออกมาแล้ว

นี่คือโรคระบาดอย่าง 1 ซึ่งเกิดขึ้นนับแต่สถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

แม้แต่การเบิก “งบประมาณ” ของแต่ละหน่วยราชการก็ “อืด” ไม่เป็นไปตามเป้า

ถามว่าสาเหตุมาจากอะไร คำตอบที่อาจจะไม่กล้าตอบอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็เป็นความจริง นั่นก็คือ เพราะ “ความกลัว”

เป็นความกลัวในเรื่อง “โอกาส” ที่จะกลายเป็น “ทุจริต”

เป็นความกลัวเพราะนิสัยโดยพื้นฐานของข้าราชการทั้งหลายก็คือ ต้อง “ปลอดภัยไว้ก่อน” อะไรที่ไม่แน่ใจก็ไม่ทำ

กลัวจะเป็นเหมือน “จำนำข้าว”

ทั้งๆ ที่เป็นการจ่ายโดยตรงผ่าน ธ.ก.ส. ไปยังมือ “ชาวนา” จำนวนเกือบ 800,000 ล้านบาท แต่ก็ยังมีข่าวว่าอาจจะมีการยึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวนไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท

ความแหยงจาก “จำนำข้าว” จึงกลายเป็น “โรคระบาด”

ทำให้แนวโน้มการเบิก การจ่ายเงินจาก “งบประมาณ” ดำเนินไปเหมือนเดิม “เรือเกลือ”

ในยุคที่มีการตัดต่อพันธุกรรม “ประชานิยม” ให้ปรากฏโฉมใหม่ภายใต้กระบวนการ “ประชารัฐ”

จำเป็นที่จะต้องสร้าง “มาตรการ” สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสลายความเกร็ง สลาย “ความกลัว” ของบรรดาข้าราชการให้ลดน้อยลง มีความกล้ามากขึ้น เพื่อขับเคลื่อน “ประชารัฐ” ให้คึกคัก

เงินจึงจะ “ไหล” ไปยังมือของเกษตรกร “รากหญ้า” เร็วยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image