จิตวิวัฒน์ : เกิดมาทั้งที ตายดีให้ได้ : โดย พระไพศาล วิสาโล

มีคนเปรียบว่า ชีวิตนี้เหมือนกับละคร ชีวิตของเราแต่ละคนมันมีบทบาทมากมาย บางทีเราก็มีบทบาทของลูก บางทีเราก็สวมบทบาทของพ่อแม่ บางครั้งเราก็ต้องเล่นบทบาทเจ้านาย บางครั้งเราก็อยู่ในบทบาทของลูกน้อง เหมือนกับละครที่มีบทบาทแตกต่างกันไป

แต่มีอย่างหนึ่งที่ชีวิตกับละครต่างกัน โดยเฉพาะละครไทย ละครไทยหรือแม้กระทั่งละครเกาหลีมักจะจบแบบ happy ending แต่ชีวิตนี้ เรียกว่าแทบทุกชีวิตเลย ไม่ได้จบแบบ happy เพราะก่อนที่จะหมดลม ก่อนที่ชีวิตจะสิ้นสุด เราต้องเจอความเจ็บ ความป่วยและก่อนที่จะเจ็บป่วยก็ต้องแก่ชรา ซึ่งไม่มีใครชอบที่จริงความตายคือการจบที่ไม่สวยละครเรื่องไหนก็ตามหากพระเอกหรือนางเอกตายเราไม่เรียกว่า happy ending ใช่ไหมในเมื่อชีวิตเราทุกคนจบลงด้วยความเจ็บป่วยและความตาย จึงไม่เรียกว่า happy ending เช่นกัน

คนสมัยนี้โชคดีตรงที่อายุยืนกว่าคนสมัยก่อน แต่ในเวลาเดียวกันก็เจ็บป่วยนานกว่าคนสมัยก่อนเช่นกัน ยิ่งมาถึงระยะท้ายของชีวิต จะเจอกับความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในห้องไอซียู มีสายระโยงระยางมากมาย ต้องเจาะคอ ใช้เครื่องช่วยหายใจ ใช้ยากระตุ้นความดันนานหลายเดือนหรือนานเป็นปีกว่าจะตาย ฉะนั้นจึงเรียกได้ว่า การตายของคนสมัยนี้ไม่ happy เอามากๆ เลย ถึงแม้ว่าตอนที่เราเป็นเด็ก เป็นหนุ่มเป็นสาว ยังแข็งแรง จะมีความสุขอย่างไร มีชีวิตเหมือนพระเอกนางเอกในละครไทยเพียงใดก็ตาม แต่ตอนจบไม่มีทางเหมือนเลยตรงข้าม ชีวิตเราจบแบบไม่ happy ทั้งนั้น

อันนี้คือความจริงที่เราต้องยอมรับ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก แล้วก็ไม่ได้คิดเลยว่า เมื่อถึงตอนนั้นเราจะทำอย่างไร หรือจะเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรก่อนที่จะเจอกับภาวะดังกล่าวแต่ข่าวดีก็คือว่า เราสามารถเผชิญกับภาวะเหล่านั้นได้ โดยที่ใจไม่ทุกข์ความเจ็บ ความปวด ความตาย แม้ดูน่ากลัว ไม่น่าพิสมัยแต่ก็เปรียบเหมือนกับผลไม้ บางลูกแม้ดูไม่สวยขี้เหร่ไม่น่ามอง แต่ข้างในอาจจะมีรสชาติที่อร่อยก็ได้

Advertisement

ในขณะที่ร่างกายเจ็บป่วย หรือกำลังแตกดับ แต่ว่าใจสามารถจะสงบหรือเป็นปกติสุขได้แม้กายจะมีทุกขเวทนาบีบคั้น จนทนไม่ไหว คือต้องตายแต่ข้างในคือจิตใจสงบเป็นสุข เป็นไปได้นะ อันนี้คือข่าวดี แต่ว่ามันเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราสร้างเหตุปัจจัยที่เหมาะสม

นั่นหมายความว่า เราสามารถมีชีวิตที่ผาสุกและตายโดยไม่ทุกข์ก็ได้หรืออยู่ดีด้วยและตายดีด้วยแต่ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นได้ เราต้องเตรียมตัว เราต้องสร้างเหตุ สร้างปัจจัย สร้างความพร้อมให้เกิดขึ้นตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เริ่มตั้งแต่การตระหนักว่า ฉันจะมีชีวิตที่ผาสุกอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อเกิดมาทั้งทีแล้วก็ควรจะตายดีให้ได้ด้วย

ตายดีในทรรศนะของคนส่วนใหญ่ก็คือ ตายโดยไม่เจ็บปวด อาตมาคิดว่าเป็นความฝันหรือความหวังของผู้คนส่วนใหญ่หลายคนจะบอกว่า ขอให้ตายแบบหลับแล้วไม่ตื่นเลย ถ้าตายแบบนั้นขณะที่อายุมากยิ่งดี คือตายตอนอายุ 70-80 หรือ 90 นี่คือความตายที่เป็นยอดปรารถนาของคนจำนวนมาก เพราะตายโดยไม่ทรมาน ไม่เจ็บไม่ปวดอย่างไร ในทรรศนะของผู้คนอีกมากมาย ตายดีมีความหมายแตกต่างกันไป

Advertisement

กล่าวอย่างย่อๆ การตายดีมี 3 แบบ คือ

1.ตายดีทางกายภาพ คือ ตายโดยไม่เจ็บไม่ปวด หลับตาย หรือตายแบบศพสวย อวัยวะครบ 32

2.ตายดีทางสัมพันธภาพ คือ ตายท่ามกลางคนรัก ไม่เป็นภาระลูกหลาน ลูกหลานไม่ทะเลาะกัน หรือช่วยต่อชีวิตของคนอื่นด้วยอวัยวะของตน

3.ตายดีทางจิตใจ คือ ตายด้วยใจสงบ มีสติไม่จำเป็นว่าตายด้วยสาเหตุใด ที่ไหน แต่ขอให้จิตเป็นกุศลก่อนตาย พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับการตายดีในแบบที่สาม

กรณีคนที่ไหลตาย หรือหลับตายอาจไม่เรียกว่าตายดีทางพุทธศาสนาก็ได้ เพราะก่อนตายอาจจะมีอาการทุรนทุรายเจ็บปวดหรือเป็นทุกข์ เช่น ช็อกเพราะฝันร้าย หรือหัวใจหยุดเต้นกะทันหันหรือแม้ตายโดยไม่เจ็บปวดเลย แต่เมื่อรู้ตัวว่าตายแล้ว เห็นลูกหลานมาร้องไห้กอดศพตน จิตอาจจะเศร้าหมอง มีความห่วงกังวล อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นการตายดีทางจิตใจ เพราะจิตสุดท้ายก่อนดับอาจจะมีความห่วงกังวลทำให้ไปไม่สงบ

ตายดีทางพุทธศาสนาคือการตายอย่างสงบ มีสติ ไม่หลงตาย นอกจากไม่ทุรนทุราย กระสับกระส่าย จิตยังเป็นกุศล เพราะปล่อยวางทุกสิ่งหรือดียิ่งกว่านั้นคือจิตเกิดปัญญา เห็นแจ้งในสัจธรรม คือเห็นชัดว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตน (อนัตตา) จนจิตหลุดพ้นจากวัฏสงสาร

ตายดีทางพุทธศาสนามี 2 ช่วงคือ ช่วงก่อนตายไม่ทุรนทุราย กระสับกระส่ายใจสงบ ช่วงต่อมาคือตายแล้วไปสุคติ ไม่ตกอบายแม้ปุถุชนอย่างเราไม่รู้ว่า คนรักของเราตายแล้วไปไหนแต่สิ่งที่เราสามารถเห็นได้รู้ได้ก็คือ ก่อนตายเขาทุกข์ทรมานไหม กระสับกระส่ายไหม หรือมีอาการสงบหากเขามีอาการสงบก่อนตาย ก็พอจะอนุมานได้ว่าเขาตายดีและไปดี

เราทุกคนสามารถฝึกจิตให้เป็นกุศล มีคุณภาพดีก่อนตายได้ ด้วยการเจริญมรณสติ คือน้อมนึกถึงความตายของตนเองอยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็ระลึกถึงพระรัตนตรัยรวมทั้งบุญกุศลที่ตนทำอยู่เนืองๆ พร้อมกับฝึกใจปล่อยวางทุกสิ่ง ไม่ว่าคนรักของรักยิ่งถ้าเจริญสติ ทำสมาธิอยู่เสมอ จะช่วยให้จิตมีความพร้อมสามารถครองสติขณะที่กำลังจะตายหรือหากมีคนช่วยน้อมนำจิตให้เป็นกุศลขณะที่กำลังจะตายก็ยิ่งดี ช่วยให้ตายอย่างสงบได้

การตายดีแบบนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่า ตายที่ไหน ตายอย่างไร อาจจะตายเพราะอุบัติเหตุ อาจจะตายเพราะภัยธรรมชาติ อาจจะตายคนเดียว โดยไม่มีใครรู้แม้กระทั่งตายข้างถนนก็ได้ แต่ถ้าตายด้วยใจที่สงบ ถือว่าเป็นการ “ตายดี” แม้ถูกไฟคลอกตาย ถูกเสือกัดตาย แต่ถ้าจิตเป็นกุศล มีสติ หรือยิ่งกว่านั้นคือเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเห็นสัจธรรมจากสังขารซึ่งกำลังเจ็บป่วย ยิ่งเป็นการตายที่ประเสริฐ

การตายอย่างมีความสุข หรือการมีความสุขในวาระสุดท้ายนั้นเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บุญย่อมทำให้เกิดสุขในเวลาสิ้นชีวิต” พุทธภาษิตสั้นๆ ข้อนี้มีนัยยะ 2 ประการ ประการแรกคือ ตอนที่จะตายเรามีความสุขได้ ประการที่ 2 เราสุขก่อนตายได้เพราะบุญที่ได้ทำ บุญที่ว่าอาจจะหมายถึงบุญที่ทำก่อนตายเช่น ถวายสังฆทานก่อนตาย หรือสมาทานศีลก่อนตายบุญดังกล่าวทำให้เกิดปีติ จิตเป็นกุศล ทำให้ตายอย่างสงบ ไม่มีอาการทุรนทุรายหรืออาจจะหมายถึงการระลึกถึงความดีที่ได้ทำ ระลึกถึงบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญทำให้ปีติปราโมทย์เกิดความมั่นใจว่าตายแล้วไปดีแน่

หลายคนกลัวตายไม่ใช่เพราะว่า จะต้องพลัดพรากจากคนรัก ของรักเท่านั้น แต่เพราะไม่มั่นใจว่าตายแล้วจะไปดีหรือเปล่าบางคนกลัวว่าจะไปอบาย กลัวจะตกนรก ก็เลยกลัวความตาย มีอาการกระสับกระส่ายแต่ถ้าเรามั่นใจว่าชีวิตนี้ได้ทำความดีมาตลอด ได้สร้างบุญกุศลมามากมาย เพราะฉะนั้นไปดีแน่จึงไม่กลัวตาย เต็มใจตาย พร้อมที่จะตาย ความตระหนักเช่นนี้ทำให้ตายอย่างสงบ เรียกว่าตายอย่างมีความสุข

ฉะนั้นเวลานึกถึงความตาย อยากให้เรานึกถึงการตายดีในแง่มุมนี้มากๆ แล้วก็พยายามสร้างเหตุปัจจัยเพื่อทำให้การตายดีนั้นเป็นไปได้

พระไพศาล วิสาโล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image