บทความ : รุ่งอรุณของการศึกษาไทย : ธรรมทัศน์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

กล่าวได้ว่า ในปัจจุบันนี้ไม่มีพระมหาเถระรูปใดของประเทศไทยที่จะให้ความสำคัญกับการศึกษาของไทย มากเท่ากับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) แนวคิดและผลงานของท่านเกือบทั้งหมด แม้จะนำเสนอจากแง่มุมของพระพุทธศาสนา แต่ท่านก็มุ่งนำเสนอหลักพุทธธรรมในแง่ของการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่ท่านมองว่า เป็นศาสนาที่เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ ทุกคนสามารถพัฒนาจิตใจไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อมได้ด้วยความเพียรของตนเอง ท่านจึงมองว่า พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาแห่งการศึกษาอย่างแท้จริง

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ มองว่า ตามหลักการที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธศาสนาย่อมประกอบด้วยหลักธรรมวินัยเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือ หลักธรรม เป็นหลักคำสอนที่แสดงความจริง ความดีงาม เป็นเรื่องเนื้อหา หลักการ สิ่งที่ค้นพบ เน้นที่ชีวิตด้านใน ที่จิตใจและที่ตัวบุคคลหรือปัจเจกบุคคล และหลักวินัย คือ ระเบียบและการจัดระเบียบ เป็นเรื่องของรูปแบบ วิธีปฏิบัติตามหลักการ ข้อบัญญัติ การวางกฎและจัดระบบสังคมหรือชุมชนให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของหลักธรรม เน้นที่การแสดงออกหรือชีวิตด้านนอก ความเป็นอยู่ประจำวัน สภาพแวดล้อมสังคม ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบต่อประโยชน์สุขร่วมกัน

หลักธรรมวินัยดังกล่าวนี้ จึงเป็นหลักที่แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานอกจากจะให้ความสำคัญในเรื่องของจิตใจของแต่ละบุคคล อันเป็นองค์ประกอบที่คงที่และเป็นแก่นของแต่ละบุคคลแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบหรือสภาพที่เอื้อต่อการที่จะพัฒนาจิตใจให้สูงยิ่งขึ้น

ในส่วนของบุคคลซึ่งเป็นเขตแดนที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญเป็นพิเศษนั้น ก็เพราะว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้น เป็นธรรมชาติที่คงตัว ที่ต้องได้รับการฝึกฝนและพัฒนา การจัดการ การฝึกหัดและพัฒนาบุคคลจึงควรเป็นส่วนที่สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ ไม่ขึ้นกับกาลเทศะ

Advertisement

นอกจากนี้แล้ว บุคคลยังมีสถานภาพที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสังคม ในฐานะพลเมืองหรือสมาชิกของสังคม เมื่อบุคคลดีแล้วหรือพัฒนาแล้ว สังคมย่อมจะดีและพัฒนาตามไปด้วย

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง บุคคลที่ได้รับการฝึกฝนพัฒนาหรือมีการศึกษาดีแล้ว ย่อมจะช่วยพัฒนาหรือสร้างสรรค์สังคมให้ดีงามตามไปด้วย

ในส่วนของบุคคล พระพุทธเจ้าจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคคลโดยการพัฒนาทางด้านจิตใจเป็นแกนสำคัญ โดยมุ่งพัฒนาใน 3 ด้านให้เชื่อมโยงประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ

Advertisement

1.ในด้านพฤติกรรมหรือในด้านศีล มุ่งพัฒนาให้มีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องดีงามกับบุคคลและสิ่งของภายนอก

2.ในด้านจิตใจหรือในด้านสมาธิ มุ่งพัฒนาให้จิตใจมีความสุข มีสมรรถภาพและศักยภาพที่จะคิดและพัฒนาได้

3.ในสติปัญญาหรือในด้านปัญญา มุ่งพัฒนาให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติตามที่เป็นจริง

ในพระพุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญกับกระบวนการในการฝึกฝนอบรมใน 3 ด้าน ซึ่งต้องเชื่อมโยงประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การที่จะนำพาไปสู่การพัฒนาใน 3 ด้านดังกล่าวนั้น จะต้องมีกระบวนการที่จะช่วยในการพัฒนาหรือช่วยนำเข้าสู่หนทางแห่งการศึกษาด้วย เจ้าประคุณสมเด็จได้เรียกหลักธรรมชุดนี้ว่า “รุ่งอรุณของการศึกษา” ซึ่งท่านเห็นว่า มีความสำคัญและถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ส่อแสดง หรือเครื่องหมายนำหน้า ในการที่บุคคลจะก้าวเข้าสู่การพัฒนาตนเองหรือก้าวเข้าสู่การศึกษาที่เรียกว่า บุพนิมิตแห่งมรรค หรือเรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษา และใช้คำไทยง่ายๆ ว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม มี 7 ประการ คือ

1.กัลยาณมิตตตา การรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดี ข้อนี้เป็นจุดเริ่มต้น ที่จะช่วยให้เยาวชนที่จะเติบโตไปสู่ชีวิตที่ดีงาม สามารถพัฒนาชีวิตของเขาเองก็ดี พัฒนาสังคมก็ดี จะต้องเป็นคนที่รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดี เด็กที่จะเติบโตและรุ่งเรืองขึ้นมาได้ ต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อม โดยเฉพาะในทางสังคม การรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดีนี้เป็นจุดเชื่อมต่ออย่างถูกต้อง ในการสัมพันธ์กับสังคม เมื่อสัมพันธ์อย่างถูกต้อง ก็ทำให้เกิดการพัฒนาแก่ชีวิต สังคมปัจจุบันจึงควรคำนึงถึงการสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นกัลยาณมิตร พ่อแม่ ครูอาจารย์ สื่อสารมวลชน และผู้ใหญ่ทั่วไป มีหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร โดยเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี และช่วยจัดสรรสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่เด็ก รวมทั้งจะต้องก้าวต่อไปให้ถึงขั้นที่ชี้แนะให้เด็กรู้จักเลือก รู้จักหากัลยาณมิตรด้วยตนเอง คือ รู้จักคบคน รู้จักเลือกหนังสือ รู้จักเลือกรายการโทรทัศน์ รู้จักรับเอาตัวอย่างที่ดีด้วยตนเอง ต้องถึงขั้นนี้จึงจะมั่นใจและไว้ใจได้

2.สีลสัมปทา การรู้จักจัดระเบียบชีวิต และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม คือ ความมีวินัยหรือการรู้จักจัดระเบียบชีวิตของตนและรู้จักจัดระเบียบความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือการอยู่ร่วมกับผู้อื่น วินัยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นตัวเอื้ออำนวยให้เรามีโอกาส มีเวลา ที่จะพัฒนาชีวิตของเราได้สะดวกขึ้น ถ้าชีวิตไม่เป็นระเบียบ สับสน ก็ต้องมัวแต่วุ่นวายติดขัด ไม่ปลอดโปร่ง และไม่รู้จะเอาเวลาที่ไหนมาใช้ประโยชน์ ชีวิตที่จัดระเบียบได้ดีแล้ว เป็นชีวิตซึ่งพร้อมที่จะรับการพัฒนา การจัดระเบียบชีวิต และระเบียบการอยู่ร่วมในสังคม จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ชีวิตมีวินัย จึงเอื้ออำนวยให้ชีวิตนั้น มีเวลาและโอกาส เป็นชีวิตที่มีสภาพความเป็นอยู่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตนเอง

3.ฉันทสัมปทา การมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง คือใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ คนเราที่จะพัฒนาชีวิตไปได้ จะต้องมีแรงจูงใจ ไม่ว่าจะเรียนหนังสือ หรือจะทำอะไรสักอย่างก็ต้องมีแรงจูงใจ คือมีความอยาก มีความปรารถนา ถ้าเด็กมีความใฝ่รู้ อยากรู้ความจริงของสิ่งต่างๆ และอยากรู้วิชาการนั้นๆ เช่น อยากรู้กฎทางวิทยาศาสตร์ อยากรู้ความจริงของเรื่องราวนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร เขาก็จะต้องตั้งใจอ่านหนังสือค้นคว้าตำรับ ตำรา ตั้งใจทดลองสิ่งต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความรู้ แรงจูงใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จเห็นว่า แรงจูงใจที่ถูกต้อง ที่จะทำให้มนุษย์พัฒนาตนเองได้ คือ แรงจูงใจที่เรียกว่า ฉันทะ ได้แก่ ความใฝ่รู้ และใฝ่สร้าง สรรค์ หรือใฝ่ทำ ต้องการทำ ไม่ใช่ต้องการเสพ ความใฝ่สร้างสรรค์นี้ ถ้าเอามาใช้ในการผลิตต่างๆ ทางด้านอุตสาหกรรม ก็คือ ความใฝ่ผลิต ถ้าใช้ในทางที่ดีงามทั่วๆ ไป ก็คือ ความต้องการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ทำประโยชน์ให้เกิดมีเป็นจริงขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับแรงจูงใจที่ผิดคือความใฝ่เสพ หรือความใฝ่หาสิ่งบำรุงปรนเปรอ ซึ่งไม่ต้องการความรู้อะไร ไม่ต้องการทำงานอะไร แต่อยากได้สิ่งต่างๆ มาบำรุง บำเรอ หู ตา จมูก ปาก ลิ้น โดยไม่ต้องทำ เราจึงจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง คือ แรงจูงใจใฝ่รู้ ใฝ่ทำ ใฝ่ผลิต และใฝ่สร้างสรรค์ให้แก่นักศึกษา

4.อัตตสัมปทา การพัฒนาศักยภาพของตนให้เต็มที่ พระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คือพัฒนาได้ ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า มีศักยภาพ มนุษย์แต่ละคนมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาให้สมบูรณ์ ทั้งศักยภาพเฉพาะตัว คือ มีความถนัด จัดเจนของตนเอง ถ้าไม่พัฒนา ไม่ฝึกฝนขึ้นมา ก็ไม่มีโอกาสแสดงออก ไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และศักยภาพของมนุษย์ คือ มีความเป็นสัตว์ประเสริฐที่สามารถเข้าถึงปรีชาญาณ ความดีงาม และอิสรภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงต้องพัฒนาศักยภาพนั้นขึ้นมา โดยมีความเชื่อมั่นตามหลักการที่ว่า มนุษย์สามารถพัฒนาตนได้จนเป็นสัตว์ที่ประเสริฐอย่างยิ่ง แม้แต่จะเป็นพุทธะก็ได้ เป็นผู้ที่เทวดา มาร ตลอดจนพระพรหม เคารพบูชาก็ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้มนุษย์ฝึกฝนตนเอง เรียกว่า พัฒนาศักยภาพของตนจนสมบูรณ์ การพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สมบูรณ์นี้ นอกจากทำให้มีการศึกษาตาม
หลักการทั่วไปแล้ว ก็ทำให้ต้องค้นหาว่าตนเองมีความถนัด มีความ สามารถด้านไหน แล้วก็พัฒนาตนขึ้นไปให้เต็มที่แห่งศักยภาพนั้น

5.ทิฏฐิสัมปทา การมีทัศนคติ และค่านิยมที่ดี หลักข้อนี้สำคัญมาก เพราะชีวิตและสังคมจะดำเนินไปอย่างไร จะเป็นไปตามทัศนคติและค่านิยม คนในสังคมมีค่านิยมอย่างไร ก็หันเหวิถีของสังคมไปอย่างนั้น เช่น ในการ
มองภาพความเจริญ ถ้าคนในสังคมมีค่านิยมในการผลิต ก็มองภาพความเจริญอย่างนักผลิตว่า เจริญอย่างเขา คือ ทำได้อย่างเขา ถ้ามีค่านิยมบริโภค ก็มองภาพความเจริญแบบนักบริโภคว่า เจริญอย่างเขา คือมีกินมีใช้อย่างเขา เราต้องสร้างค่านิยมและทัศนคติที่ถูกต้อง

โดยเริ่มด้วยการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นท่าทีของจิตใจที่นำมาซึ่งปัญญาและการกระทำตามเหตุตามผล เพราะเชื่อการกระทำที่เป็นไปตามกระบวนการของเหตุผลว่า ทำเหตุอย่างไร ผลเกิดอย่างนั้น ซึ่งก็คือหลักกรรมนั่นเอง

6. อัปปมาทสัมปทา การมีความกระตือรือร้นขวนขวาย ไม่ประมาท หลักการศึกษาข้อนี้ เป็นการปลุกจิตสำนึกของนักศึกษาและเยาวชนให้เกิดความตื่นรู้อยู่เสมอ เพราะสภาพแวดล้อมทั่วไป เป็นสภาพแวดล้อมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งทั้งหลายเกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง มีแต่การเปลี่ยนแปลง ไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เป็นอนิจจัง เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มนุษย์จะต้องมีจิตสำนึกต่อความเปลี่ยนแปลง จึงจะนำไปสู่ความไม่ประมาท คือ ความกระตือรือร้นขวนขวายไม่อยู่นิ่งเฉย ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า รีบสร้างสรรค์ ซึ่งเตือนใจมนุษย์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของกาลเวลาว่า เวลาแต่ละวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่า ให้ได้อะไรบ้าง ไม่มากก็น้อย นี่เป็นข้อเตือนใจให้ทุกคนพิจารณา

เจ้าประคุณสมเด็จได้ตั้งข้อสังเกตว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องความเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปด้วยกันกับหลักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความไม่เที่ยงนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย หลักการนี้สำคัญมาก พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ไม่ประมาท เพื่อจะได้รู้เท่าทัน ตื่นตัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อะไรเกิดขึ้นเป็นสัญญาณ เป็นนิมิตหมายที่จะเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม ก็รีบค้นหาให้รู้แล้วป้องกันแก้ไข อะไรเกิดขึ้นเป็นสัญญาณ เป็นนิมิตหมายที่จะนำไปสู่ความสุข ความเจริญ ก็ให้รีบสร้างเสริมขึ้นมา พัฒนาขึ้นมา หลักธรรมนี้จึงเป็นเครื่องชี้บ่งว่าคนที่อยู่ในพระพุทธศาสนา และการศึกษาจะต้องพยายามสร้างคนให้เป็นคนที่กระตือรือร้นตลอดเวลา ไม่ใช่คนเฉื่อยชา

7.โยนิโสมนสิการสัมปทา การรู้จักคิดพิจารณาให้เกิดปัญญาที่จะรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เมื่อรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เราจึงจะปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง การที่มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะเราปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันเป็นไปอย่างไร มีคุณหรือมีโทษอย่างไร ทำให้ไม่รู้ว่า เราจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร ดังนั้น จึงต้องรู้จักสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้จักโลก รู้จักชีวิต รู้จักปัญหา รู้จักเหตุของปัญหา เมื่อรู้แล้ว ก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นได้ถูกต้อง นี่แหละคือการแก้ปัญหา แก้ทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยสติปัญญาที่รู้ ที่เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ได้ถูกต้อง

การที่จะมีปัญญานั้น สิ่งหนึ่งที่จะต้องสร้างขึ้นให้เป็นตัวนำมาซึ่งปัญญา ก็คือการรู้จักคิด รู้จักพิจารณา ที่สมัยนี้เน้นกันนักหนาในวงการศึกษา เรียกว่า การคิดเป็น ทางพระเรียกว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่าการทำในใจโดยแยบคาย หรือการรู้จักคิด คิดเป็น คิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น แยกแยะมันออกไปให้เห็นชัดว่า ส่วนใดเป็นส่วนดี ส่วนใดเป็นส่วนเสีย ส่วนไหนเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ ส่วนไหนเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม พร้อมกันนั้นก็รู้จักคิดสืบสาวตามกระบวนการของเหตุปัจจัย การคิดพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องจะทำให้เกิดปัญญา และเกิดคุณธรรม ความดีงาม ท่าทีของจิตใจในการมองสิ่งต่างๆ ให้รู้จักคิดรู้จักพิจารณานี้ เป็นสิ่งที่การศึกษาจะต้องฝึกนักศึกษาให้มองให้เป็น คิดให้เป็น ให้คิดแล้วได้ปัญญา และได้คุณธรรม

ในสังคมไทยที่กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่นี้ เป็นหน้าที่ของการศึกษาและทุกภาคส่วนที่จะต้องมีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดการศึกษาและการเรียนรู้ รวมทั้งการจัดระบบการศึกษาที่จะนำไปสู่การการเรียนรู้อย่างแท้จริง

หลักรุ่งอรุณของการศึกษาที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นำเสนอ จึงเป็นหลักที่ควรแก่การไตร่ตรองพิจารณา เพื่อนำไปสู่แนวทางการพัฒนาการศึกษาของไทยในมิติต่างๆ เมื่อได้พัฒนาตามหลักนี้แล้ว ก็เชื่อมั่นได้ว่าแสงเงินแสงทองแห่งการศึกษาของไทยได้เริ่มขึ้นแล้ว

ผศ.ธนภณ สมหวัง

สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image