บทความ : การรับนักเรียนสะท้อนวิธีคิดแบบไร้เดียงสา ของนักการศึกษาไทย : ณรงค์ ขุ้มทอง

ช่วงนี้มีนักการศึกษา/นักวิชาการ/และนักการเมืองบางคนบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารการศึกษา หรือการปฏิรูปการศึกษา เพื่อเป้าหมายให้การศึกษาของชาติโดยรวมดีขึ้น ไม่ว่าในมิติใดๆ ก็ตามโดยเฉพาะคุณภาพของเยาวชนของชาติ 5 ปี ในรัฐบาลท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความมั่นใจและตั้งใจที่มุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการศึกษาอย่างยิ่ง ซึ่งก็ได้ปรับปรุงปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการหลายอย่างส่งผลในเชิงบวกเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางการศึกษาของไทยได้หลายประเด็น เช่น แก้ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ การสร้างโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาส และสร้างความเป็นเลิศให้กับเยาวชน คือ โครงการสานฝันด้านกีฬา/การพัฒนาครู โดยใช้กระบวนการคูปอง เป็นต้น

แต่ประเด็นข่าวการรับเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมกลับมาเป็นที่สนใจและมีหลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานามากมาย แต่ดูแล้วเป็นเรื่องเดิมๆ วนเวียนอยู่อย่างนี้ ปีใดผู้บริหารของกระทรวงคิดอย่างไรก็เอาวิธีคิดมาขับเคลื่อนผลักดันให้เป็นนโยบาย การรับนักเรียน ซึ่งมักจะเปลี่ยนแปลงทุกปี เปลี่ยนตามสถานการณ์ หรือความคิดของผู้มีอำนาจ ขาดหลักการและเหตุผลที่รองรับได้ ซึ่งการรับนักเรียนควรจะเป็นหลักการที่เอื้อและครอบคลุม โดยเฉพาะสิทธิและโอกาสของเด็กไทยทุกคน

การให้โรงเรียนดังหรือโรงเรียนแข่งขันสูงรับนักเรียน 100% หลายคนมองว่าเป็นเรื่องดี จะได้มีนักเรียนเก่ง แต่อย่าลืมว่าการคิดแบบนี้เป็นการสกัดกั้นเด็กที่เรียนไม่เก่ง ไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนในโรงเรียนดีโรงเรียนดังในชีวิตนี้ใช่หรือไม่

การแบ่งแยกนักเรียนระหว่างเก่งกับไม่เก่งมันสะท้อนการแบ่งชนชั้นหรือไม่ มันฝืนธรรมชาติของสังคมมนุษย์ด้วยกันใช่หรือไม่ ทำไมต้องให้คนเก่งต้องอยู่กับคนเก่ง อย่าลืมว่าในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ จะให้คนเราเกิดมาเก่งเหมือนกัน แต่ความต่างของคนต่างหากจึงทำให้สังคมอยู่กันแบบเอื้ออาทร คนเก่งมีเยอะที่ขาดทักษะชีวิต ขาดการเรียนรู้วิชาชีวิต สุดท้ายฆ่าตัวตายก็มากเหมือนกัน แต่ละปีหยุดเพ้อเจ้อได้แล้ว สงสัยไม่มีอะไรทำหรือไง อย่าลืมว่าโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เป็นแหล่งที่หล่อหลอมให้เยาวชนแข็งแกร่งและเข้มแข็งด้านทักษะชีวิตมากกว่าทางวิชาการ

Advertisement

ในโรงเรียนแข่งขันสูง ควรมีเด็กทุกระดับ ทุกความรู้ความสามารถแต่ละด้านได้อยู่รวมกัน เด็กเก่งมีเพื่อนที่เรียนไม่เก่งก็ได้เรียนรู้จากเพื่อนที่เก่ง อย่าลืมว่าโลกทางการศึกษามันไร้พรมแดนใครใคร่เรียนใครพร้อมจะเรียน เรียนไม่พร้อมก็หยุดเรียน แล้วค่อยกลับมาเรียนใหม่ ส่วนคนใดเรียนเก่งก็สามารถพัฒนาตนเองได้ ท่ามกลางเพื่อนที่ไม่เก่ง การศึกษานอกระบบไม่ว่า DLTV กศน. และวิทยาลัยชุมชน คือทางเลือกที่สำคัญของเด็ก และมีเด็กจำนวนหลายหมื่นเข้าเรียนและประสบความสำเร็จ

ในโรงเรียนแข่งขันสูงหรือโรงเรียนขนาดใหญ่ ปกติก็จะมีนักเรียนทุกความสามารถอยู่ปะปนรวมกันอยู่แล้ว และจะมีเด็กเก่งๆ อยู่ในโครงการและแผนจัดชั้นเรียนอยู่แล้ว เป็นไปไม่ได้ในสังคมโลก ที่จะให้คนเก่งอยู่เฉพาะคนเก่ง ไม่แน่อาจเพี้ยนๆ กันทั้งโรงเรียน ทั้งนักเรียนและครู ตื่นขึ้นมาเห็นตัวเลข เข้าโรงเรียนมีแต่บรรยากาศแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน ทำไม่ได้ก็ไปแสวงหาที่เรียนพิเศษ เพิ่มภาระให้กับผู้ปกครอง เรียนจบออกมาเป็นใหญ่ในบ้านเมือง ไม่ฟังใคร เอาตัวกูเป็นหลัก เป็นใหญ่ เล่ห์เหลี่ยมมาก ถ้าโกงก็ฉลาดโกง แถมหน้าด้านอีก ซึ่งมีให้เห็นอยู่ขณะนี้

การให้เด็กเก่งมาอยู่ในโรงเรียนใดเพียงโรงเรียนเดียว ทำให้ผู้บริหารได้รับการยกย่องชมเชยเก่งโน้นเก่งนี่ (ที่จริงเด็กมันเก่งเอง) ผู้บริหาร ครูได้อานิสงส์ตรงข้ามโรงเรียนที่มีเฉพาะนักเรียนที่ไม่เก่งมีแต่ปัญหาสารพัด ยากจน องก่อนวัยอันควร เสื้อผ้าไม่มีใส่ เงินกินขนม อาหารเที่ยงไม่มี แต่ผู้บริหารและครู ทุ่มเทเสียสละจนเด็กเรานี้เข้มแข็งแกร่ง ที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมได้ อยากถามว่าใครเก่งกว่าใครกันแน่

Advertisement

ด้านจำนวนนักเรียนในห้องเรียนของโรงเรียนแข่งขันสูง ควรจะอยู่ที่ 35 ถึง 40 คน และไม่ควรให้เพิ่มอีก ถ้าทำได้ก็จะทำให้โรงเรียนในระดับอำเภอหรือโรงเรียนที่ไม่แข่งขันสูง ได้มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้งบประมาณหรือเงินรายหัวได้นำมาใช้ในการบริหารจัดการโรงเรียนและจำนวนนักเรียน 30 ถึง 40 คน สามารถเน้นคุณภาพการเรียนการสอนได้อย่างทั่วถึง กรณีนักเรียนในเขตพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องคิดให้รอบคอบในสิทธิและโอกาสของเด็กให้มาก

อยากฝากเตือนผู้บริหารทั้งหลาย ว่าการรับนักเรียนจะเป็นอย่างไร จะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร แต่อยากเตือนให้ทุกท่านรู้ว่าการจัดการศึกษายุคใหม่เป็นการจัดการศึกษาที่ตอบสนองและเอื้อให้กับผู้เรียนของกลุ่มทุกเพศทุกวัย และจงตระหนักว่าจำนวนนักเรียนนับวันจะลดลงด้วยการเจริญพันธุ์ในการมีบุตรน้อยลง มีโรงเรียนเอกชนที่ดีๆ มีคุณภาพกว่าโรงเรียนของรัฐมากมาย หลักสูตรกินได้ หลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรออนไลน์ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นอนาคตในโรงเรียนอาจจะไม่มีนักเรียนพลุกพล่านอาจจะเป็นได้ สิ่งเหล่านี้ผู้มีอำนาจต้องคิดและวางแผนได้แล้ว แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยหลายแห่งกำลังเดินสายหานักศึกษาเข้าเรียนแล้ว

หยุดเสียที ที่คิดจะปรับเปลี่ยนโน้นนี่ ทั้งๆ ที่มีหลายอย่างให้คิดให้ทำ ไม่คิดไม่ทำ เช่น การติดตามประเมินคุณภาพครู+ผู้บริหาร การปรับกระบวนการการคัดเลือกผู้บริหาร เช่น ไม่ควรใช้วิธีการได้มาของผู้บริหารจากการสอบเพียงอย่างเดียว ควรหันไปพิจารณาความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการทำงานเป็นหลัก ไม่ใช่ให้ครูที่ไม่อยากสอนมาสอบเป็นผู้บริหาร แล้วเติบโตบริหารโรงเรียน ไม่มีความรู้ หรือรู้แบบงูๆ ปลาๆ งานจัดหาคนลงในตำแหน่งผู้บริหาร และรองผู้บริหารที่ว่างอยู่เป็น 1,000 ตำแหน่ง ปล่อยให้โรงเรียนไม่มีผู้บริหาร ไม่สอบผู้บริหารเป็นแรมปี แต่ไม่มีคนคิด ไม่มีคนรับผิดชอบ เกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาของไทยเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้

สุดท้ายเวรกรรม มันมาถึงเด็กตาดำๆ อีก เพราะเรามีผู้มีอำนาจที่มีวิธีคิดวิธีทำไม่เคยเปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะไม่เปลี่ยนไปจนตาย สุดท้าย การศึกษาไทยไม่พ้นดังคำกล่าวของท่านพุทธทาสภิกขุ วัดสวนโมกขลาราม เปรียบเทียบไว้ว่า “การศึกษาไทยเหมือนหมาหางด้วน”

ณรงค์ ขุ้มทอง

ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ

กรรมการที่ปรึกษาโรงเรียนดาวนายร้อย กรรมการยุทธศาสตร์ศึกษาธิการจังหวัดสงขลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image