‘เทเรซา เมย์’ ลาออก : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

(ภาพ AFP)

ปัญหา “Brexit” สหราชอาณาจักรเข้าสู่ทางตัน นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ได้รับแรงกดดันทั้งในและนอก ในที่สุดจึงประกาศลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน เป็นต้นไป

“เทเรซา เมย์” คือนายกรัฐมนตรี “เฉพาะกิจ” ที่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อการแยกตัวของสหราชอาณาจักรให้ออกจากสหภาพยุโรป (EU)

เวลา 3 ปีที่ผ่านมา เธอได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

เหตุผลส่วนหนึ่งคือ ชาวอังกฤษมีความประสงค์จะให้อำนาจอธิปไตยกลับคืนมา แต่ก็ไม่ยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการนี้ ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล และปฏิเสธการเจรจาแบบประนีประนอม สรุปคือต้องการแบบ “เด็ดขาดไปเลย”

Advertisement

ดังนั้น ความฝันที่จะเป็น “หญิงเหล็กคนที่ 2” จึงสลายไปด้วย

“เทเรซา เมย์” จึงเป็นเพียงนายกรัฐมนตรี “สลับฉาก” อันต้องอกตรมขมจิต

สหราชอาณาจักรประสบกับการพลิกผันแห่งปัญหา “Brexit” ครั้งแล้วครั้งเล่า

Advertisement

เป็นปัญหาที่สาหัสสากรรจ์ ต่อให้เปลี่ยนผู้บริหารประเทศ ก็ยังมองไม่เห็นทางออกแต่อย่างใด ประเด็นย่อมต้องถือว่าเป็นความบกพร่องในหน้าที่ของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ เป็นเหตุให้ผู้ใช้สิทธิเกิดความเอือมระอา อีกประการ 1 ลัทธิประชานิยมของฝ่ายขวามีแนวโน้มกำเริบเสิบสาน แพร่กระจายไปทั่วปฐพี ท่ามกลางบรรยากาศอันอึมครึม ชาวอังกฤษก็ได้แต่อธิษฐาน

God Save the Queen !

“เทเรซา เมย์” ได้ออกมาประกาศว่า “เป็นความภูมิใจที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 บัดนี้มีความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศที่เธอรัก”

มองอดีต 1990 เหตุการณ์ที่หน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรีเดียวกัน “มาร์กาเรต แทตเชอร์” อันมีฉายา “หญิงเหล็ก” ได้ออกมาประกาศการ “ลาออก” นั้น เป็น “ฉากเดียว” กับ “เทเรซา เมย์”

แต่ “แทตเชอร์” ยังมีอาการยิ้มแย้มแจ่มใส แม้กล้ำกลืนน้ำตา ในขณะที่ “เมย์” น้ำตาร่วงริน

“มาร์กาเรต แทตเชอร์” รุ่งเรื่องจำเริญอยู่บนหนทางการเมืองนับทศวรรษ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของสหราชอาณาจักร ผลงานเป็นที่ประจักษ์ แม้คนที่เคยคัดค้านเธอมาก่อน ก็กลับมาสนับสนุน และยอมรับในผลงานของเธอ

ส่วน “เทเรซา เมย์” อยู่ในตำแหน่งเกือบ 3 ปี ทำงานเฉพาะกิจ “Brexit” จนเกิดความพลิกผันปั่นป่วนและล้มเหลวในปริโยสาน อีกทั้งไม่มีผลงานอันใดที่ถือได้ว่าเป็นรูปธรรม

กรณีอาจเป็นเพราะความต่าง 1 ภูมิหลัง 1 ฉันทามติ

ตั้งแต่เริ่มต้น ก็เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกว่า “เทเรซา เมย์” กับ “มาร์กาเรต แทตเชอร์” นั้น

ทิ้งกันมองไม่เห็นฝุ่น

“แทตเชอร์” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจกำลังซบเซา

ประเทศกำลังต้องการผู้นำที่มีทั้งความกล้าหาญและปรีชาสามารถในการแก้ไขปัญหา

การปฏิรูประบบเศรษฐกิจเสรีใหม่ของเธอ เป็นปฏิบัติการที่องอาจกล้าหาญ ถือเป็นการทุบหม้อข้าวของคนงานจำนวนมาก เป็นเหตุให้เกิดการโต้แย้งในวงกว้าง สร้างความแตกแยกของสังคมที่มีอยู่แล้วให้มีมากขึ้น แต่ในที่สุดเธอก็สามารถแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส

ฉายา “หญิงเหล็ก” จึงเกิด

ส่วนหน้าที่ของ “เมย์” คือนำพาสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป มาตรการของเธอก็คือ เจรจาประนีประนอม แม้เป็นเรื่องดี แต่ทั้งนี้ควรต้องได้รับความเห็นชอบโดยรวมทั่วประเทศ หากมิฉะนั้น ความสำเร็จจะเกิดขึ้นมิได้เป็นอันขาด

เมื่อความสำเร็จเกิดขึ้นไม่ได้ ย่อมหมายถึงความล้มเหลวของเธอเต็มๆ

ปี 2016 ขณะที่ “เดวิด คาเมรอน” เป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้นำเอาชะตาของประเทศมาเป็นเดิมพัน โดยทำการลงประชามติเพื่อแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป และมั่นใจว่าสามารถชนะพลังสหภาพยุโรป แต่ผลปรากฏว่า “พ่ายแพ้หมดรูป”

“เทเรซา เมย์” รับ “ไม้ต่อ” ยืนยันให้ต้องเคารพประชามติ เพื่อทำการเจรจากับสหภาพยุโรปหลายครั้งหลายครา ในที่สุดได้บรรลุญัตติการแยกตัว แต่มิได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา

ก็เพราะนักการเมืองพูดความเท็จกับประชาชนว่า เป็นการแยกตัวที่ไม่เจ็บตัว มีแต่ได้กับได้ ครั้นเมื่อการแยกตัวสำเร็จ ก็จะทำให้สหราชอาณาจักรได้คืนซึ่งอำนาจอธิปไตย มีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น คนอังกฤษจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเป็นความจริง แต่ความจริงสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปเสมือน “ห่วงโซ่” ที่คล้องติดกัน หากตัดขาดจากกัน จะเป็นการกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอย่างแน่นอน

การที่ “เทเรซา เมย์” นำความฝันเพ้อและความเท็จมาทำให้เป็นความจริงนั้น เป็นไปมิได้

และจึงเป็นเหตุให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวกล่าวหาว่าเป็น “ของปลอม”

แม้ “เทเรซา เมย์” พยายามเดินสายให้ฝ่ายตรงข้ามสนับสนุน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

เป็นที่ประจักษ์ว่า ญัตติการแยกตัวถูกรัฐสภา “ตีตก” ถึง 3 ครั้ง แต่ “เทเรซา เมย์” ก็พยายามดิ้นเฮือกสุดท้าย คือใช้วิธีการใหม่โดยขอให้สมาชิกรัฐสภาลงมติว่า ขอทำประชามติอีกวาระหนึ่ง

เพราะเธอหลงเชื่อว่า “เจเรมี คอร์บิน” หัวหน้าพรรคแรงงานจะให้การสนับสนุน

แต่เป็นตรรกะที่มีอาการ “ป่วย” เพราะแม้แต่ฝ่ายที่หนุนการแยกตัวอย่างมั่นคงแข็งขัน ก็กำลังจะปลีกตัวจากไป และนับประสาอะไรฝ่ายตรงข้ามจะมาสนับสนุน

เหตุการณ์สับสนวุ่นวาย ซับซ้อนซ่อนเงื่อน

เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า “เทเรซา เมย์” ไม่มีที่ยืนในเวทีการเมืองแล้ว คณะรัฐมนตรีของเธอ และสมาชิกรัฐสภาของพรรคอนุรักษนิยมก็เกิดความไม่พอใจต่อการทำงานของเธอ แม้กระทั่ง “Andrea Leadsom” ผู้นำวุฒิสภาของพรรคอนุรักษนิยมก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

“เทเรซา เมย์” จึงอยู่ในสภาพ “หลังชนกำแพง” มองไม่เห็นทางออก

ฉะนั้น การ “ลาออก” จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image