หลงประเด็นข้อกฎหมาย อะไรจะเกิดขึ้น โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

ผู้พิพากษาโดยเฉพาะผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ต้องมีความเข้าใจในประเด็นแห่งคดี จึงจะทำให้การพิจารณาพิพากษาคดี ดำเนินไปอย่างถูกต้องเป็นธรรม โดยเฉพาะในคดีแพ่ง หากการกำหนดประเด็นผิดพลาดจะมีผลไปถึงการกำหนดภาระการนำสืบพยาน ไม่ชอบไปด้วย ตัวอย่างเช่น ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินที่จำเลยกู้ไปจากโจทก์คืน จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้กู้เงินไปจากโจทก์แต่อย่างใด ประเด็นในคดีนี้จึงมีว่า “จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์หรือไม่” ซึ่งผู้พิพากษาก็จะกำหนดหน้าที่นำสืบ ในเรื่องนี้โดยให้โจทก์เป็นฝ่ายสืบก่อน แล้วให้จำเลยสืบแก้ การกำหนดประเด็นให้ถูกต้องจึงมีผลต่อคดีซึ่งอาจทำให้ผลการพิพากษาคดีผิดพลาดไปได้หากมีการหลงประเด็น ส่วนในคดีอาญานั้นมีประเด็นเดียวคือ จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ซึ่งภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่ฝ่ายโจทก์ก่อนเสมอ เพราะถ้าโจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง หรือมีข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง คือต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (มาตรา 227) วรรคสอง

ข่าวใหญ่ที่เป็นที่สนใจของสังคมมีอยู่หลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องอุทยานราชภักดิ์ ที่เป็นข่าวใหญ่เพราะเป็นเรื่องการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของอดีตพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสูงสุดของปวงชนชาวไทย ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนสูง จึงหนีไม่พ้นว่าจะต้องมีข้อสงสัยในเรื่องความโปร่งใสในการก่อสร้าง หากตัดปัญหาข้อสงสัยในเรื่องนี้ออกไปก็ต้องถือว่าคณะผู้ก่อสร้าง ได้กระทำในสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อหัวใจของคนไทยผู้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกคน นับว่าพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นสมบัติที่สำคัญยิ่งของคนไทยทั้งชาติ

เมื่อมีข่าวของความไม่โปร่งใสในการก่อสร้างเกิดขึ้นต้องถือว่า คนไทยทุกคนมีเสรีภาพในการเข้าไปตรวจสอบ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณี การปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

การตรวจสอบการทุจริตนอกจากจะเป็นสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายสูงสุดของประเทศแล้ว ยังเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ต้องการปราบปรามการทุจริตให้สิ้นไปจากแผ่นดินไทยด้วย ดังนั้น การที่เกิดกรณีที่มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าถูกเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิดำเนินการกักตัวระหว่างเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 และได้มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนายออกมากล่าวถึงกรณีของ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ทำนองว่าที่มีทหารเข้าไปดูแลนักศึกษาก็เพื่อป้องกันการปะทะกับกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา และไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิของ “จ่านิว” ทั้งไม่ได้เป็นผู้สั่งตัดโบกี้รถไฟ

Advertisement

กรณีที่เกิดขึ้นนี้จำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะต้องถูกควบคุมตัวเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายหรือตามคำสั่งของ คสช.

แม้การเดินทางเพื่อไปยังอุทยานราชภักดิ์ของคณะนักศึกษาจะมีผู้คนบางกลุ่มวิจารณ์ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเป็นการซ่อนเจตนาดังกล่าวไว้ภายในจิตใจ แล้วนำไปโยงกับการกระทำหรือการเคลื่อนไหวครั้งก่อนๆ ของนักศึกษากลุ่มนี้ก็ตาม แต่การกระทำความผิดทางอาญานั้นต้องมีการแสดงออก หรือที่นักกฎหมายมักกล่าวกันเป็นที่เข้าใจว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” การกระทำเพียงแต่พากันชักชวนโดยสารรถไฟเพื่อไปยังอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเป็นสถานที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ จะแปลเจตนาไปถึงว่าประสงค์จะไปก่อเหตุวุ่นวายทางการเมืองน่าจะไกลเกินไป แต่ถ้ากลุ่มนักศึกษาไปถึงอุทยานแล้วได้ไปพูดกล่าวชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมในการต่อต้านรัฐบาลที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดข้อสงสัยในความโปร่งใส ในการดำเนินการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เช่นนี้จึงจะพอฟังได้ว่ามีเจตนาเคลื่อนไหวทางการเมือง

ตัวอย่างเช่น การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 นั้นถ้าเพียงแต่คิดจะกระทำการแม้จะกระทำการไปบ้างแล้วแต่ถ้ายังไม่ถึงขั้น สะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ หรือยุยงราษฎรให้เป็นกบฏ หรือรู้ว่ามีผู้จะเป็นกบฏแต่กระทำการอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุก? ก็ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 114 หรือถ้ากลุ่มนักศึกษายังมิได้กระทำได้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ… ก็ยังไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

Advertisement

ส่วนกลุ่มที่ไปดักรอนักศึกษาเพราะไม่เห็นด้วยกับการเดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์นั้นได้ลงมือกระทำความผิดสำเร็จแล้ว คือชุมนุมกันเกินกว่า 5 คน มีเจตนาประสงค์ต่อผล คือขัดขวางมิให้กลุ่มนักศึกษาเดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์ ตามสิทธิที่เขาพึงมีได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 และเพื่อช่วยตรวจสอบความไม่โปร่งใส ในการก่อสร้างอุทยานแห่งนี้ ซึ่งเป็นการกระทำตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนทำตามหน้าที่พลเมืองดีที่ต้องช่วยหน่วยงานของรัฐ เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช.เองก็มีนโยบายสำคัญที่ประสงค์จะให้ประชาชนช่วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการแจ้งข่าวเมื่อมีข้ออันควรสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจกระทำการทุจริต ฝ่ายนักศึกษาจึงมิใช่ผู้กระทำความผิดจึงสมควรจะได้รับการคุ้มครอง เมื่อเขาประสงค์จะเดินทางไปทำหน้าที่ของพลเมืองดีผู้ทำตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลเสียด้วยซ้ำไป คือช่วยตรวจสอบเมื่อสงสัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการไม่โปร่งใส แต่ฝ่ายความมั่นคงกลับขัดขวาง การกระทำหน้าที่ของพลเมืองดี โดยได้มีการถึงกับตัดโบกี้รถไฟ และจับกุมคุมขังกลุ่มนักศึกษา ซึ่งมิได้เป็นผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด แต่กลับปล่อยผู้กระทำความผิดซึ่งขัดขวางการเดินทางของนักศึกษา และยังมีการขว้างปาไม้และก้อนหินโดยเจตนาทำร้ายร่างกายกลุ่มนักศึกษาด้วย

กรณีนี้ฝ่ายความมั่นคงต้องปฏิบัติหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดเพื่อส่งดำเนินคดีต่อไป หากไม่ทำก็ต้องถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

การหลงประเด็นไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญาหรือทางการบริหารประเทศ ก็ย่อมทำให้เกิดความเสียหายดังนี้

1.ถ้าเป็นเรื่องทางแพ่ง การหลงประเด็นกำหนดภาระหน้าที่นำสืบพยานผิดอาจมีผลเสียหายแก่คดีถึงกับทำให้ฝ่ายที่ควรชนะคดีกลายเป็นฝ่ายแพ้คดีไปก็ได้

2.ถ้าเป็นเรื่องทางอาญา ผลเสียหายจะเกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย ตลอดจนเสรีภาพของบุคคล เช่น ลงโทษผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด เป็นต้น

3.ถ้าเป็นเรื่องทางการบริหารประเทศ ผลเสียหายย่อมเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติทำให้ประชาชนเดือดร้อนยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่าจะมีคนร้ายมาซุ่มใช้อาวุธปืนยิง นาย ก. เนื่องจากมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน และยังทราบดีว่าคนร้ายจะไปแอบซุ่มอยู่ ณ ที่ใด ต่อมา นาย ก. ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงแต่พลาดไม่ถูก นาย ก. ดังนี้ถ้าแทนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับกุมคนร้ายและดำเนินคดีในข้อหาพยายามฆ่า แต่กลับมาจับกุม นาย ก. ไปควบคุมตัวโดยอ้างว่า เพราะต้องการจะป้องกัน นาย ก. ไม่ให้ถูกคนร้ายยิงตาย ดังนี้ต้องถือว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหลงประเด็น

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้โอวาทแก่เทศาภิบาล (ผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน) เมื่อมาทูลลาจะไปรับตำแหน่งใหม่ความว่า “เจ้าคุณ อำนาจอยู่ที่ราษฎรเชื่อถือ ไม่ใช่อยู่ที่พระแสงราชสัตรา จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเจ้าคุณทำให้ราษฎรเชื่อถือด้วยความศรัทธาแล้ว ไม่มีใครถอดเจ้าคุณได้แม้ในหลวง เพราะท่านก็ทรงปรารถนาให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขเช่นเดียวกัน”

“การหลงประเด็นข้อกฎหมายก็จะเกิดข้อเสียหายฉะนี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image