สุจิตต์ วงษ์เทศ : หม้อเขียนสีบ้านเชียง อุดรธานี ใส่หลุมศพ ไม่ใส่อาหารต้มแกง

เขียนลายหม้อบ้านเชียง

หม้อลายเขียนสีบ้านเชียง มีอายุไม่เกิน 2,500 ปีมาแล้ว (ไม่ใช่ 5 พัน 6 พันปี ตามที่เข้าใจคลาดเคลื่อนมาแต่แรก)
เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว หม้อลายเขียนสีบ้านเชียง ใช้ฝังรวมกับศพในหลุมฝังศพ
ไม่เคยใช้ใส่อาหารหรือหุงต้ม และใส่น้ำไม่ได้ เพราะซึมรั่ว เนื่องจากเป็นเครื่องปั้นดินเผาธรรมดา ไม่เผาแกร่ง

(ซ้าย) หม้อลายเขียนสีเป็นรูปต่างๆ ในศาสนาผี ฝีมือแม่หญิงยุคนั้น ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ขวา) หม้อลายเขียนสี ฝังรวมกับศพ ราว 2,500 ปีมาแล้ว บ้านเชียง อ. หนองหาน จ. อุดรธานี [ภาพจากหนังสือ มรดกวัฒนธรรมบ้านเชียง กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2550]
(ซ้าย) หม้อลายเขียนสีเป็นรูปต่างๆ ในศาสนาผี ฝีมือแม่หญิงยุคนั้น ราว 2,500 ปีมาแล้ว
(ขวา) หม้อลายเขียนสี ฝังรวมกับศพ ราว 2,500 ปีมาแล้ว บ้านเชียง อ. หนองหาน จ. อุดรธานี
[ภาพจากหนังสือ มรดกวัฒนธรรมบ้านเชียง กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2550]

หลุมศพตระกูลหมอผี หัวหน้าเผ่า

หลุมศพที่บ้านเชียง เป็นแหล่งฝังศพของตระกูลหมอผี หัวหน้าเผ่า
จึงมีเครื่องมือเครื่องใช้ ทั้งโลหะและหม้อลายเขียนสี ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงในยุคนั้น คนทั่วไปทำไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจและบริวาร
หลุมศพเหล่านี้อยู่ลานกลางบ้าน หมายถึงลานพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนหมู่บ้าน หรือมิฉะนั้นก็อยู่ใต้ถุนเรือนตระกูลหมอผีหัวหน้าเผ่าพันธุ์
คนยุคนั้นหลายพันปีมาแล้ว นับถือศาสนาผี (ยังไม่มีศาสนาพราหมณ์, พุทธ) เชื่อว่าคนนอนไม่หายใจและไม่เคลื่อนไหว เพราะขวัญหนี หรือขวัญหาย อีกไม่นานเมื่อขวัญกลับคืนร่าง จะลุกขึ้นมาเหมือนเดิม จึงต้องฝังเครื่องมือเครื่องใช้ไว้ด้วย จะได้ใช้สอย
คนทั่วไป (ที่ไม่ใช่หมอผีหัวหน้าเผ่า) เมื่อตายอย่างเดียวกัน เอาเก็บไว้ในเรือน เมื่อถึงเวลาก็ห่อใบไม้หรือเปลือกไม้เอาไปโยนกลางป่าดง แล้วแร้งกาหมาหมูแทะกิน เพราะไม่ฝัง ไม่มีพลังฝังศพได้

จกเบ้า
จกเบ้า

หญิงตีหม้อ

หม้อลายเขียนสีบ้านเชียง เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ทำโดยแม่หญิงยุคนั้น เพราะงานช่างฝีมือเป็นงานศักดิ์สิทธิ์ ลักษณะไฮเทคโนโลยี เป็นสมบัติของแม่หญิง (ไม่อนุญาตให้ผู้ชายทำงานช่างฝีมือ)
ทำจากดินเหนียวด้วยวิธีเดินตีขึ้นรูปไปรอบๆ มีไม้ตีผิวนอก กับมีหินดุรองรับไม้ตีอยู่ข้างใน เรียกตีหม้อ
เมื่อตีเป็นหม้อสำเร็จ ก็เขียนลวดลายด้วยสีเปลือกไม้ กับยางไม้ธรรมชาติ เป็นลายขวัญเพื่อเรียกขวัญให้คืนร่าง วางตากแห้ง หลังจากนั้นเอาฟางก่อไฟสุมอย่างง่ายๆ โดยไม่มีเตาเผา เป็นอันสำเร็จ ใช้ฝังกับศพได้

จับปากหม้อ แม่หญิงตีหม้อ ที่บ้านคำอ้อ ต. บ้านเชียง อ. หนองหาน จ. อุดรธานี
จับปากหม้อ แม่หญิงตีหม้อ ที่บ้านคำอ้อ ต. บ้านเชียง อ. หนองหาน จ. อุดรธานี
ตีไล่กระพุ้งด้วยไม้ลายประกบหินดุ
ตีไล่กระพุ้งด้วยไม้ลายประกบหินดุ
ตีหม้อประกบหินดุ
ตีหม้อประกบหินดุ
 แต่งผิวปากหม้อ
แต่งผิวปากหม้อ
ต่อตีนหม้อ
ต่อตีนหม้อ
เขียนลาย
เขียนลาย
เผาหม้อด้วยเตาเปิด
เผาหม้อด้วยเตาเปิด

[ภาพทั้งหมดจากหนังสือ บ้านเชียง เป็นใคร? มาจากไหน? โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2530 หน้า 99-102]

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image