ส่อง ‘ยุทธศาสตร์ไก่ไข่’ ฉบับที่ 3 มุ่งสร้างความยั่งยืนแบบ win-win ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค : โดย ประพิม ช่วงไสว

ยุทธศาสตร์ไก่ไข่ ปี 2562-2565 ที่อยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม.อนุมัตินั้น เป็นฉบับล่าสุดที่ประกอบด้วยแนวทางที่ภาครัฐ เกษตรกร และผู้ประกอบการ ได้ร่วมกันสร้างภาวะสมดุลตลอดห่วงโซ่ของไก่ไข่ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ไก่ไข่ฉบับนี้ ปรับปรุงขึ้นจากจากยุทธศาสตร์ฉบับก่อนหน้า มีเป้าหมายสร้างสมดุลอุปสงค์และอุปทานของไข่ไก่ในประเทศ เพื่อให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพ โดยเพิ่มหลักการ “ตลาดนำการผลิต” ของนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ มาปรับใช้ในการบริหารจัดการแบบครบวงจร ให้สามารถป้องกันปริมาณไข่ไก่ล้นตลาด ซึ่งเป็นวิธีที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้จริง และช่วยอุดช่องโหว่ของปัญหาที่เกิดขึ้นได้

หลักการตลาดนำการผลิต ไม่ได้หมายถึงเรื่องของช่องทางการจำหน่ายเท่านั้น การตลาดในปัจจุบันต้องคำนึงถึงการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้า ตั้งแต่ฟาร์ม ล้ง โรงงานแปรรูป จนถึงสถานที่จำหน่าย การทำให้ไข่ไก่มีคุณภาพสูง ปลอดสารตกค้าง ปลอดภัยต่อการบริโภค มีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยมีมาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรมปศุสัตว์ช่วยรับรอง เพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค อาทิ มาตรฐาน Q การติดฉลาก ปศุสัตว์ OK เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางที่ช่วยสนับสุนนการขยายช่องทางการตลาดได้กว้างขวางขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่องทางตลาดบน หรือตลาดระดับชุมชน

สำหรับการเพิ่มศักยภาพการตลาด ยุทธศาสตร์นี้ยังมองถึงการเชื่อมโยงตลาดสินค้าพลอยได้ (by product) เช่น ไก่ปลด มูลไก่ ขนไก่ รวมถึงการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร หรือการจับคู่เกษตรกรกับผู้ค้าโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจว่าสินค้าที่ตนเองผลิต รวมถึงส่วนที่เป็นผลพลอยได้ต่างๆ นั้น มีตลาดรองรับ อย่างไรก็ตาม การขยายตลาดต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพ และปรับระบบการเลี้ยง ลดต้นทุนการผลิต ควบคู่กับการพัฒนามาตรฐานสินค้า ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยทำให้ผู้ผลิตไข่ไก่สามารถแข่งขันได้ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจต่างๆ ให้เกษตรกรยินดีที่จะปฏิบัติตามมาตรการแก้ปัญหา เพื่อให้อาชีพการเลี้ยงไก่ไข่เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงของพี่น้องเกษตรกรต่อไป ตลอดจนมีกำลังใจในการผลิตอาหารโปรตีนให้ผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

Advertisement

ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์ฉบับล่าสุดยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเกี่ยวกับไก่ไข่ ตั้งแต่ พัฒนาสายพันธุ์ อาหารสัตว์ การพัฒนาอัตลักษณ์ของสินค้าในแต่ละพื้นที่ แนวทางนี้จะเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้ตลาดของไข่ไก่ขยายตัวขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในทุกวันนี้มีความต้องการที่หลากหลาย ไม่ว่า จะเป็นไข่เพื่อสุขภาพ ไข่เสริมโภชนาการ การแปรรูปไข่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหมาะกับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม แต่ละช่วงวัย รวมถึงผู้บริโภคที่ใส่ใจวิธีการเลี้ยงไก่ เช่น ต้องการไข่ไก่ที่มาจากฟาร์มเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ (cage free)

กล่าวได้ว่า การร่างยุทธศาสตร์ไก่ไข่ฉบับนี้ ได้เล็งเห็นความเป็นจริงของทิศทางตลาดและแนวโน้มผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและยกระดับให้อุตสาหกรรมไข่ไก่ของไทยเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว

เมื่อมียุทธศาสตร์ที่ดีแล้ว จากนี้คงขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติ หรือบรรดาเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ค้าทั้งรายใหญ่ รายย่อย ฯลฯ ที่จะใช้ประโยชน์จากแผนนี้ ในการร่วมกันสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ให้ยั่งยืน คนไทยมีไข่ไก่บริโภคในราคาเหมาะสม และเกษตรกรอยู่ได้แบบ win-win ต่อไป

Advertisement

ประพิม ช่วงไสว
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image