เดินหน้าชน : เลือกตั้งแบบ‘อินเดีย’ : โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

“อินเดีย” เพิ่งจัดการเลือกตั้งใหญ่ ส.ส. จบลงไปหมาดๆ ประกาศผลเลือกตั้งเมื่อ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา แล้วก็ได้ตัวนายกรัฐมนตรีที่จะต้องดูแลพี่น้องประชากรที่มากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ราว 1,300 ล้านคน ใน 28 รัฐ กับอีก 7 ดินแดนสหภาพ

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ของอินเดีย เป็นองค์กรอิสระยืนบนตาชั่งของความยุติธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างอำนาจฝ่ายรัฐใดๆ เป็นที่น่าเชื่อถือของผู้สมัครลงเลือกตั้ง สามารถจัดเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้อยู่หมัด ที่เกิดขึ้นทุกๆ 5 ปี ปีนี้ให้ประชาชนเข้าคูหาระหว่าง 11 เม.ย.ถึง 19 พ.ค. 62 แบ่งช่วงเวลาลงคะแนนเสียง 7 ดีล ทุกคะแนนโหวตนำมานับพร้อมกันในวันที่ 23 พ.ค. แบบม้วนเดียวจบในวันเดียว

ผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 900 ล้านคน ถูกกำหนดให้ใช้สิทธิผ่านการกดโหวตลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เกิดความสะดวกต่อการขนส่งที่ต้องใช้นับล้านเครื่อง ดีกว่าการใช้บัตรกระดาษให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย หากอินเดียยังคงใช้กระดาษจะต้องใช้จำนวนนับหมื่นตัน แล้วยังเป็นทุกข์ในการจัดเวรยามเฝ้าระวัง

เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ช่วยตอบโจทย์ทุกเสียงที่ลงคะแนน มีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีมาตรฐาน ไม่มีใครเข้าไปล้วงข้อมูล ทำการเปลี่ยนแปลงผลได้ง่ายๆ แม้จะไม่ใช่การจัดเลือกตั้งที่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ข้อผิดพลาดย่อมมีบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นทำให้เกิดความโกลาหลวุ่นวาย

Advertisement

เป็นเหตุผลว่าทำไม ชาติจากยุโรปหรือในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยยังต้องส่งคนไปดูวิธีการแบบอินเดีย

เมื่อศึกษาประเทศอินเดียแล้ว มีความแตกต่างในเรื่องชาติพันธุ์ ภาษาอังกฤษที่ใช้พูดเป็นภาษาทางการ ยังมีอีก 15 ภาษาที่สื่อสารกันในแต่ละภาค อัตราการรู้หนังสือโดยเฉลี่ยทั้งประเทศแค่ร้อยละ 52.1 ถือว่าไม่สูง ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถเข้าใจ ไม่ทำให้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการใช้เครื่องกดลงคะแนนเสียง

กกต.ของอินเดียสมกับที่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ใช้แค่โลโก้ของพรรค ติดกับภาพและชื่อผู้สมัคร ตัดปัญหากลุ่มผู้มีสิทธิที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้สังเกตโลโก้พรรคและใบหน้าผู้สมัคร ก็สามารถกดเลือกได้

Advertisement

อินเดียไม่เสียเวลากับเรื่องคะแนนตกน้ำที่อาจแฝงด้วยเลศนัย ไม่ต้องกลัวบัตรเขย่ง ไม่ต้องกลัวการคำนวณที่ยุ่งยากซับซ้อนปนให้น่าสงสัย ทุกคนมี 1 เสียงเลือกได้เพียงคนละครั้ง ขึ้นชื่อว่าเลือกตั้งที่ต้องแข่งขันย่อมมี “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” นี่คือกติกาสากล

การจัดการเขตและหน่วยเลือกตั้งที่คำนึงให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเต็มที่ ไม่ใช่การตีแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้พิสดารจนไม่สะดวก คูหาเลือกตั้งที่มีนับล้านจะถูกตั้งในรัศมีไม่ไกลจากผู้มีสิทธิประมาณ 2 กิโลเมตร หลายพื้นที่เจ้าหน้าที่ต้องบุกฝ่าเข้าไปตั้งคูหา แม้จะลงคะแนนแค่คนเดียว

อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งอินเดียหนนี้ก็ยังมีข่าวที่แสดงความน่าเห็นใจ ไม่ใช่เยาะเย้ยเหยียดหยัน เมื่อหนุ่มอินเดียวัย 25 ในรัฐอุตตรประเทศไปกดเลือกผู้สมัครผิดคน เขาไม่ได้ไม่พอใจระบบการจัดการเลือกตั้ง แต่โทษตัวเองที่ลังเลในเสี้ยววินาที ด้วยอารมณ์พลุกพล่านเลยหั่นข้อนิ้วที่กดผิดไปจนขาด

เป็นที่รับทราบไปแล้วว่า “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดีย หัวหน้าพรรคภาราติยะ ชนตะ (บีเจพี) ได้เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ติดต่อกัน ได้รับความไว้วางใจจากผู้ที่ลงคะแนน 600 ล้าน จาก 900 ล้านเสียง จนครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งด้วยพรรคเดียวใน “โลกสภา” ที่มีทั้งหมด 543 ที่นั่ง

ตลาดหุ้นของอินเดียตอบรับผลการเลือกตั้ง ทั้งมูลค่าการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้น ตัวเส้นกราฟทะยานขึ้นด้วยความยินดี จะได้ลงทุนค้าขายกันอย่างเต็มที่อีกครั้ง

นเรนทรา โมดี อาจไม่ใช่นายกฯที่ดีที่สุด ตัวเขาถูกวิจารณ์หลายเรื่อง ขณะที่การบริหารบ้านเมืองในหลายเรื่องก็เป็นที่พอใจของประชาชนมากเช่นกัน ไม่มีเล่ห์ไม่ต้องใช้กลใดๆ “เสียงสวรรค์” เป็นผู้ตัดสินใจ นี่คือวิถีของโลกประชาธิปไตยโดยแท้

รวมเป็นเวลา 51 วันของการเลือกตั้งอินเดีย เปิดคูหาวันแรก 11 เม.ย. จนถึงนับคะแนน 23 พ.ค. จนถึง 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ชนะการเลือกตั้งก็เดินทางเข้ารับพิธีสาบานตนรับขึ้นเป็นผู้นำอินเดียคนใหม่ จัดตั้งรัฐมนตรีลงตามกระทรวงเป็นที่เรียบร้อย

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image