สะพานแห่งกาลเวลา : ปฏิวัติเกษตรกรรมที่สิงคโปร์ : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

An employee pollinates a strawberry plant at Sustenir Agriculture's indoor farm in Singapore May 24, 2019. Picture taken May 24, 2019. REUTERS/Edgar Su

สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ทั้งประเทศมีเนื้อที่เพียง 724 ตารางกิโลเมตร น้อยกว่าเนื้อที่ของแทบทุกจังหวัดของประเทศไทย ยกเว้นเพียง 3 จังหวัดเท่านั้นคือ นนทบุรี (622 ตร.กม.) ภูเก็ต (543 ตร.กม.) และสมุทรสงคราม (จังหวัดที่มีเนื้อที่น้อยที่สุดในบรรดา 77 จังหวัดของไทย เพียง 417 ตารางกิโลเมตร)

จะทำเกษตรกรรม ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ จึงมีปัญหาอย่างมาก

ที่ผ่านมา สิงคโปร์ทำเกษตรกรรม สร้างอาหารใช้บริโภคกันได้เพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ของอาหารที่ประชากร 5.6 ล้านคน ของสิงคโปร์บริโภคกันในแต่ละปีเท่านั้นเอง

แต่สิงคโปร์กำลังปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งใหญ่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีระดับสูงเข้าช่วยเพื่อการนี้

Advertisement

รัฐบาลประกาศโครงการใหม่นี้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตั้งเป้าจะผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถเลี้ยงคนในประเทศได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 นี้ คนที่นั่นเลยเรียกโครงการนี้ว่า “30-by30”

คำขวัญของโครงการคือ “โกรว์ มอร์ วิธ เลสส์” ที่สื่อนัยโดยตรงถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น โดยที่ใช้เนื้อที่ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศให้น้อยที่สุด

พอล เต็ง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย นานยาง เทคโนโลยี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมของประเทศ บอกว่า เกษตรกรสิงคโปร์ต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่เวลาพูดถึงเรื่องการผลิตอาหารให้มากพอจนเกิดความมั่นคงทางอาหารขึ้นมาได้ นั่นคืออย่าไปคิดถึง “ที่ดิน” แต่ให้คิดถึง “ที่ว่างๆ” แทน

Advertisement

ภายใต้แนวคิดเรื่องการคำนึงถึง “ที่ว่าง” แทน “ที่ดิน” อย่างนี้ ทำให้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนฟาร์มปลูกผัก “ลอยฟ้า” คือใช้พื้นที่ดาดฟ้าเป็นสถานที่เพาะปลูก หรือไม่ก็เป็น “สวนผักแนวตั้ง” ที่คนสิงคโปร์เรียกว่า “สกาย ฟาร์ม” เพิ่มจำนวนขึ้นมามากกว่าเท่าตัว ตอนนี้มีมากกว่า 30 ฟาร์มแล้ว

ปลูกกันตั้งแต่ผัก เคล เรื่อยไปจนถึงมะเขือเทศเชอรี่ และสตรอเบอรี่ ครับ

ทั้งหมดเป็นฟาร์มที่ไม่ใช้ดิน แต่ใช้เทคโนโลยี ไฮโดรโพนิคแทนที่ เหมือนกับที่บ้านเราเรียกกันว่าผักไฮโดรโพนิคนั่นแหละครับ

ซัสเทเนียร์ หนึ่งในกิจการฟาร์มดังกล่าว ได้รับทุนสนับสนุนจากหลายๆ แหล่งทุน รวมทั้ง เทมาเส็ก และ กร็อค เวนเจอร์ จากออสเตรเลีย เพื่อขยายกิจการทั้งในสิงคโปร์ แล้วเตรียมการแตกหน่อไปเปิดในฮ่องกงอีกด้วย

สิงคโปร์ไม่มีที่ขุดบ่อเลี้ยงปลา กลุ่มบริษัท อพอลโล อคัวคัลเจอร์ ก็สร้างตึก 8 ชั้นขึ้นมาเป็นสถานที่
เพาะเลี้ยงปลาโดยเฉพาะ ระบบเลี้ยงเป็นแบบอัตโนมัติทั้งหมด มูลค่ารวม 70 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

เมื่อเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะทำให้ผลผลิตปลาของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 110 ตันต่อปี

อีริค อึ้ง ซีอีโอของอพอลโล บอกว่า การเลี้ยงด้วยวิธีเดิมๆ อาศัยธรรมชาตินั้น ผลผลิตที่ได้ไม่แน่นอนเกินไป ปีไหนเกิดสาหร่ายระบาดขึ้นมา น้ำเน่าเสียปลาตายทั้งบ่อก็เคยเจอมาแล้ว

ต่างจากการเลี้ยงในพื้นที่ควบคุม ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้าช่วย แน่นอนกว่ากันเยอะ

นอกเหนือจากกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของรัฐอย่างเทมาเส็ก จะป้อนเงินทุนเข้ามาสนับสนุนกิจการในโครงการเกษตรกรรมไฮเทคแนวใหม่นี้แล้ว รัฐบาลเองยังกันเงินเอาไว้อีกราว 144 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับนำไปใช้ด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนา หรืออาร์แอนด์ดี เพื่อเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตโดยเฉพาะ

รัฐบาลยังเตรียมสร้างพื้นที่เกษตร-อาหาร ขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับโครงการ “โรงงานเพาะปลูกในอาคาร” และการทำ “ฟาร์มแมลง” โดยเฉพาะในราวกลางปี 2021 นี้

แต่ที่ไฮเทคที่สุดสำหรับโครงการ 30-บาย-30 ของสิงคโปร์คือ โครงการที่เพิ่งเริ่มต้นของบริษัท
ชิอ็อค มีทส์ ได้รับการสนับสนุนจากกิจการอาหารระดับโลกอย่าง มอนเด นิสซิน คอร์ป. ของฟิลิปปินส์

ผมเรียกโครงการนี้ว่า เป็นการผลิตเนื้อกุ้งโดยไม่จำเป็นต้องเลี้ยงกุ้ง แต่ใช้การเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อกุ้งแทน

เขาใช้วิธีนำเซลล์เนื้อกุ้งมาเพาะเลี้ยงให้เจริญเติบโตในถังบรรจุสารละลายที่เป็นอาหารของเซลล์เหล่านั้น เพาะไว้เช่นนั้น 4-6 สัปดาห์แล้วถ่ายของเหลวในถังออก

สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือเนื้อกุ้งครับ เหมือนเนื้อกุ้งสับที่พร้อมนำไปทำลูกชิ้นกุ้งได้ทันทีนั่นแหละ

ถ้าโครงการสร้างฟาร์มผลิตเนื้อกุ้งโดยไม่ต้องเลี้ยงกุ้งแห่งนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะถือเป็นฟาร์มเพาะเนื้อกุ้งในเชิงพาณิชย์เป็นแห่งแรกของโลกครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image