อ่าน ‘ไวมาร์’ รออนาคตที่อาจจะ ‘มาไว’ : โดย กล้า สมุทวณิช

วันที่คอลัมน์นี้ลงพิมพ์เผยแพร่เป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ น่าเสียดายที่ผมไม่อาจรู้ได้ว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้างและผลที่สุดจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะจะต้องส่งต้นฉบับล่วงหน้า แม้จะไม่ถึงสามวันก็เถิด แต่ก็เกินกว่าที่จะคาดหมายไว้ได้อยู่ดี

เพราะเป็นวันที่จะมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนแรกตามรัฐธรรมนูญ 2562 โดย “รัฐสภา” ซึ่งจะต้องบันทึกไว้เพื่อเป็นหลักฐานด้วยว่า เป็นรัฐสภาที่มีสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 350 คน จากการเลือกตั้ง โดยมีประมาณ 10 ที่นั่งในจำนวนนั้น ที่มีที่มาอันคลุมเครือจากการตีความทางนิติคณิตศาสตร์

และอีก 250 คน มาจากการเลือกและแต่งตั้งคณะบุคคลผู้ทำรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 และจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยหัวหน้าคณะดังกล่าว คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ชื่อและตำแหน่งในวันที่บันทึกนี้) ได้ลงสมัครรับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ด้วย

หากท่านอ่านคอลัมน์นี้ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันพุธที่ 5 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 ก็อาจจะยังไม่รู้ผล ส่วนท่านที่อ่านแบบออนไลน์ที่จะเผยแพร่ในช่วงบ่าย ก็ยังไม่แน่ว่าเขาจะเลือกกันเสร็จหรือยัง

Advertisement

ดังนั้น ระหว่างรอ “ผล” อันอาจจะ “เหตุ” สำคัญประการหนึ่งในหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ ผมมีหนังสืออยากแนะนำให้อ่านกันไปพลางๆ

เป็นหนังสือเล่มดังที่หลายท่านอาจจะมีอยู่แล้วในชั้นหนังสือที่บ้านหรือที่ทำงานท่าน เพราะมันเป็นหนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่ง พิมพ์ซ้ำถึงสี่ครั้งด้วยยอดกว่าเจ็ดพันเล่ม ที่ถือว่ามากอย่างน่าทึ่งเพราะว่าเป็นหนังสือแนวสารคดีประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่นั้นความนิยมและความสนใจจะอยู่ในแวดวงจำกัด

นั่นคือ หนังสือเรื่อง “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ของอาจารย์ ดร.ภาณุ ตรัยเวช จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

Advertisement

เจ้าตัวผู้เขียนหนังสืออาจจะมีตำแหน่งแห่งที่เป็นอาจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยาในคณะวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ แต่ในวงการวรรณกรรมแล้ว เขาเป็นที่รู้จักในฐานะของนักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นที่น่าสนใจ เคยเข้าชิงรางวัลใหญ่ระดับชาติมาแล้วสองครั้ง และผลงานของเขายังมีคนรออ่านอยู่เสมอ

รวมทั้งเป็นนักศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ผู้เป็นที่ยอมรับ แม้แต่ ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวไว้ว่า ด้วยความใฝ่รู้ และความสามารถในการเรียบเรียงข้อมูลอย่างเป็นระบบ แม้แต่ผู้ผ่านการศึกษามาจากประเทศเยอรมนีบางคนก็ไม่อาจทำได้ขนาดนี้

คอลัมน์ตอนนี้ไม่ใช่การรีวิวหนังสือ จึงจะไม่เขียนว่าหนังสือเล่มนี้เขียนอะไรบ้าง มีเค้าโครงการนำเสนออย่างไร แต่จะพาท่านลัดข้ามไปที่ “จุดสำคัญ” ของเรื่องกันเลย ที่หน้า 405 ถึงหน้า 419

อันเป็นบทที่อธิบายว่า ลัทธิและปรัชญาฟาสซิสต์ และนาซีโดยฮิตเลอร์นำไปปรับใช้อย่างไร

ผู้เขียนอธิบายไว้ในหน้า 405-406 ว่า “…ฟาสซิสต์คือรูปแบบหนึ่งของเผด็จการ ระบอบที่คนกลุ่มน้อยหรือแม้กระทั่งคนเพียงคนเดียวกุมอำนาจเหนือคนส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ดี ถ้าแค่นั้นฟาสซิสต์ก็คงจะไม่ต่างอะไรกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เฟื่องฟูในศตวรรษที่สิบเจ็ดถึงสิบเก้า …” รวมถึงรูปแบบการปกครองโดยเผด็จการทหารอย่างอื่นด้วย แต่ “…ขุมอำนาจของฟาสซิสต์ไม่ได้มาจากปากกระบอกปืนเพียงอย่างเดียว แต่มาจากความนิยมของมวลชน มวลชนส่วนน้อยที่เชื่อฝังหัวในความถูกต้องของตัวเอง และเมื่อฟาสซิสต์ครองอำนาจได้ พวกเขาก็จะใช้กลไกทุกอย่างของรัฐ ทั้งการประชาสัมพันธ์เอง การโฆษณาชวนเชื่อเอย ขยับขยายมวลชนส่วนน้อยให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ…”

เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ต้นตำรับแห่งลัทธิฟาสซิสต์ ได้ครองอำนาจจากกองกำลัง “เชิ้ตดำ” (Squadritisti) ที่มีจำนวนประมาณสองหมื่นห้าพันคน ก่อความวุ่นวายในอิตาลี และกรีฑาทัพเข้ามาในกรุงโรม แรกทีเดียว มุสโสลินีไม่ได้มีมวลชนมากมายอะไรนัก ลงเลือกตั้งครั้งแรกก็แพ้ แต่เพราะกองทัพอันธพาลเชิ้ตดำก่อความวุ่นวาย ปิดล้อมสถานที่สำคัญต่างๆ บีบให้รัฐบาลและพระมหากษัตริย์อิตาลีขณะนั้นยอมแพ้ อันที่จริงในระยะนั้น กองกำลังอันธพาลของมุสโสลินีนั้นไม่ได้เข้มแข็งอะไรมากนัก แต่เพราะผู้ครองอำนาจและชนชั้นนำในอิตาลี หรือแม้แต่พระมหากษัตริย์ในขณะนั้นประมาทเกินไป และคิดว่าจะควบคุมพวกของ
มุสโสลินีให้มาเป็นพวกได้

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ให้ความเห็นไว้ในบทความเรื่อง “บทเรียนจากการขึ้นสู่อำนาจ ของมุสโสลินีกับฮิตเลอร์” ของเขาในข่าวสดออนไลน์ว่า “…การยาตราสู่กรุงโรมเป็นการเกทับลักไก่ หรือ ‘บลั๊ฟ’ กัน ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นการเดิมพันอำนาจและลักไก่ที่มุสโสลินีได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะเหล่าอนุรักษนิยมไม่ยอมเสี่ยงใช้กำลังกับพวกเชิ้ตดำ และแลกมาด้วยยุคมืดและความพังพินาศของอิตาลี…”

เมื่อเสียงข้างน้อยควบคุมอำนาจรัฐได้แล้ว เขาก็สามารถที่จะครอบงำกลไกต่างๆ เพื่อขยายตัวกลุ่มคนของพวกเขาออกไปได้ รวมถึงการกดหัวปิดปาก หรือแม้แต่ตามล้างตามฆ่าฝ่ายที่คิดต่างได้

แล้วฟาสซิสต์แตกต่างจากประชาธิปไตยอย่างไร ในเมื่อต่างฝ่ายต่างเป็นอำนาจที่มาจากประชาชนด้วยกันทั้งคู่ กลับไปที่เล่มไวมาร์ ภาณุอธิบายว่า “…ประชาธิปไตยไม่พยายามปฏิเสธความจริงว่า สังคมยุคใหม่สลับซับซ้อนเกินกว่าผู้คนจะยอมรับในคำตอบเดียว หลังจากชนะการเลือกตั้ง วันที่ประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีขึ้นปฏิญาณตน เขาหรือเธอย่อมตระหนักว่า ตัวเองมาอยู่ตรงนี้ได้เพราะความเห็นชอบของคนเพียงกึ่งหนึ่ง อาจจะไม่ใช่แม้เสียงส่วนใหญ่เลยด้วยซ้ำ และต่อจากวันนี้ เขาหรือเธอต้องบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ขัดแย้งกับความเห็นชอบของคนอีกจำนวนมหาศาล…”

แต่ผู้นำฟาสซิสต์จะเชื่อว่า เขาปกครองประเทศโดยความเห็นชอบของประชาชนทั้งประเทศ

“…ฟาสซิสต์ผลักศัตรูทางการเมืองให้กลายเป็นศัตรูแห่งชาติ ศัตรูร่วมกันที่ทุกคนต้องกดขี่หรือเข่นฆ่า พวกเขาอ้างถึงความสมัครสมานสามัคคี และเรียกความรักชาติว่า ‘ความรู้สึกในความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐาน’ นี่คือมายากลทางวัฒนธรรมที่ฟาสซิสต์หยิบมาใช้เพื่อปฏิเสธความขัดแย้งและความหลากหลายในสังคมยุคใหม่…”

ในวันนี้ เราได้เห็นกลไกบางอย่างที่เหมือนจะชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ที่จะมีกลไกที่เกิดจากคนกลุ่มหนึ่ง ที่แม้ส่วนหนึ่งจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตามรูปแบบประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงกันในความเป็น “เสียงข้างมาก” ทั้งในแง่ของจำนวน ส.ส. ที่อาจจะมีมากกว่าเพราะกลไกการคำนวณด้วยสมการอันพิสดารให้ผู้ที่มีเสียงสนับสนุนไม่ถึงจำนวนเฉลี่ยที่ควรเป็น เข้ามามีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้ โดยข้ออ้างว่า เพื่อให้เสียง (ข้างน้อย) เหล่านั้นไม่ตกน้ำ แล้วก็ถีบผู้ที่ควรจะเป็นผู้แทนราษฎรจากเสียงข้างมากตกทะเลไปแทน

และที่ไม่ต้องปฏิเสธ คือเสียงสนับสนุนกว่าครึ่งของฝ่ายหนึ่งที่ซึ่งเคยเป็นผู้ทำรัฐประหารในสภานั้นมาจากคนที่เขาเลือกเข้าไปเอง โดยอาศัยความชอบธรรมจากรัฐธรรมนูญที่อ้างว่ามาจากการลงประชามติ จากคำถามพ่วงที่เหมือนเข็มซ่อนปลาย และการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่พยายามจะอธิบายให้ประชาชนที่จะลงมตินั้นรู้ว่ามีเข็มซ่อนอยู่

กลไกที่ทำให้แม้ว่าจะเป็น “เสียงข้างน้อย” ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ผู้ที่ครองอำนาจจากความได้เปรียบนั้นก็ตายแล้วฟื้นขึ้นมาใหม่ เหมือนศพซากที่ตายแน่นิ่งในความจริงแห่งแสงตะวัน แต่ลุกกลับฟื้นคืนขึ้นมาเดินได้ ในความคลุมเครือแห่งรัตติกาล

ซึ่งจากนี้เราจะได้เห็นผู้มาจากเสียงข้างน้อยนั้น อ้างความถูกต้องดีงาม อ้างประชาชนและชาติบ้านเมือง ตู่เหมาเอาว่าตัวเองคือบิดาแห่งรัฐประเทศ เจตนาของตนคือเจตนารมณ์แห่งชาติ ผู้ใดคิดต่างจากนี้คือผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง ไม่สมควรเป็นราษฎรในสังกัดแห่งรัฐชาติไทย

จากนั้น เขาจะเดินเครื่องกลไกครอบงำของเขาต่อ ทั้งอำนาจอย่างอ่อนที่สั่งสอนหล่อหลอมเชิงวัฒนธรรมและความคิด อำนาจไม้แข็งทั้งด้านสว่างที่อาศัยกฎหมายและกระบวนยุติธรรมเป็นเครื่องมือ และด้านมืดจากกองกำลังนักเลงอันธพาล เช่นที่นักกิจกรรมหลายท่านได้ประสบ

พวกเขาจะใช้เล่ห์กลการอธิบายและให้เหตุผลแบบเอาแต่ได้ โดยไม่สนใจความสอดคล้องอย่างเป็นระบบ เหมือนการตักบุฟเฟต์สลัดบาร์ที่จะเอาอะไรใส่จานมาก็ได้ตามใจชอบ บางครั้งที่ต้องการเขาอาจจะอ้างสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในอีกทางหนึ่งเขาก็เชิดชูอำนาจรัฐและความมั่นคงไปพร้อมๆ กัน พวกเขาจะประณามป้ายสีให้นายทุนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ร้าย แต่นายทุนอีกฝ่ายซึ่งเป็นพรรคพวกกันนั้นเป็นหุ้นส่วนผู้ร่วมพัฒนาความยั่งยืนแห่งประชารัฐที่ประเทศชาติจำเป็นต้องตอบแทนด้วยทรัพยากร เวลา และโอกาสอันเป็นของส่วนรวม

เช่นเดียวกับวิธีการที่พวกนาซีใช้ พวกเขาไม่ได้รังเกียจทุนนิยมหรือนายทุน แต่พวกเขาเกลียดชังทุนผูกขาดที่เป็นผู้ร้ายของเขาคือนายทุนและบริษัทข้ามชาติของชาวยิว “…พวกเขาไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ไม่ได้ตั้งป้อมว่านายทุนจะต้องเลวร้ายเสมอไป ตราบใดที่นายทุนคนนั้นดำเนินธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ…”

ดังนั้น “…เขาพยายามปั้นแต่งศัพท์ใหม่ๆ เพื่อมาใช้กลบเกลื่อนแนวคิดอันคลุมเครือ ทุนไม่ใช่ปีศาจในตัวมันเอง ชาวเยอรมันรู้จักใช้ ‘ทุนสัมมนา’ ‘ทุนสร้างสรรค์’ ‘ทุนเพื่อสาธารณประโยชน์’ ขณะที่ชาวยิว ชาวต่างชาติ รู้จักแต่ ‘ทุนสามานย์’ ‘ทุนกู้ยืม’ ‘ทุนตลาดหุ้น’ ‘ทุนยึดครองโลก’ …” (หน้า 409)

การอ่านหนังสือ “ในสาธารณรัฐไวมาร์ฯ” ของ ภาณุ ตรัยเวช ในสภาวะที่ผู้เชื่อในเสรีภาพ ความหลากหลาย และประชาธิปไตยอาจจะอยู่ในสภาวะที่ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะเหมือนกับถูกวางไว้ในค่ายกลหมากล้อมขั้นบันได ที่ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็มีแต่จะถูกกินหรือเข้าตาจนที่ขอบกระดาน

แต่อย่างน้อย มันก็จะทำให้เราเข้าใจวิธีการโกหกและฉ้อฉลอำนาจที่ใช้กันในประวัติศาสตร์แห่งไวมาร์ เพื่อรอบางวันที่อาจจะ “มาไว” ในประเทศของเรา

กล้า สมุทวณิช

ภาณุ ตรัยเวช ยังมีผลงานนวนิยายและสารคดีเชิงประวัติศาสตร์อีกหลายเล่ม มีผู้กล่าวไว้ว่า “อยากรู้ว่าพวกเขามาจากไหน อ่าน ‘คดีดาบลาวยาวแดง’ (นวนิยายโดย สำนักพิมพ์มติชน) อยากรู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไร อ่าน ‘ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง’ อยากรู้ว่าเราจะสู้กับเขาอย่างไร อ่าน ‘America First รบเถิดอรชุน’ และถ้าอยากรู้ว่าเราจะสู้เพื่ออะไร อ่าน ‘Aesthetica สาวใช้กับปริศนาคดีศิลป์’ (นวนิยายรูปแบบ Light Novel โดยสำนักพิมพ์พะโล้)”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image