เดินหน้าชน : เสียกับเสีย : โดย สัญญา รัตนสร้อย

สองเดือนเศษภายหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม

ผ่านกระบวนการยาวนานของคณะกรรมการการเลือกตั้งกว่าเดือนครึ่ง จึงประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.เขต และการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

ผ่านความพยายามรวบรวมเสียงของพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล

ครั้งนี้ออกจะแหวกธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะพรรคคะแนนอันดับ 2 “พลังประชารัฐ” เป็นฝ่ายเดินเกมรุกประสานสิบทิศ

Advertisement

เมื่อไปสำรวจตรวจสอบเสียงที่มีอยู่ในมือขั้วพลังประชารัฐ มี ส.ส. 116 เสียง รวมกับพรรคขนาดกลาง พรรคขนาดเล็ก และพรรคขนาดจิ๋ว สิริรวม 201 เสียง

ยังเหลือตัวแปรอย่างพรรคประชาธิปัตย์ 53 เสียง ที่ยังมีความเห็นแตกเป็นสองฝักสองฝ่ายระหว่างร่วม-ไม่ร่วม รอเคาะกำหนดท่าทีอีกครั้งวันที่ 4 มิถุนายน

คะแนนจากพรรคประชาธิปัตย์จึงสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะส่งให้พลังประชารัฐและพันธมิตรมีที่นั่ง ส.ส.เกินกว่า 250 เสียงจัดตั้งรัฐบาล

Advertisement

ขณะที่ในอีกขั้วตรงข้าม พรรคเพื่อไทยกับแนวร่วมอีก 6 พรรค ตรึงกำลังอยู่ที่ 246 เสียง (หากนับกรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จะเหลือ 245 เสียง)

หากทุกอย่าง “เข้าทาง” พลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์เติมเต็มให้เป็น 254 เสียง

ก็จะลดอาการอีหลักอีเหลื่อในข้อครหา “ผลัดกันเกาหลัง” ที่ 250 ส.ว. จะไปโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 มิถุนายน

อันที่จริงหลายฝ่ายก็เชื่อกันไปแล้ว ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์จะได้ต่ออายุนายกฯ ไม่ว่าเสียงจะเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ จากการที่มีเสียง ส.ว.หนุนหลัง

พรรคพลังประชารัฐอาจถือเป็นการบรรลุเป้าหมาย เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

แต่ยังมีบางฝ่ายกลับมองไปอีกทาง เห็นว่านั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของจุดจบ

เพราะหน้าตาของรัฐบาลพลังประชารัฐบวกแนวร่วม 19 พรรค กับจำนวน ส.ส.ปริ่มน้ำ 254 เสียง เสถียรภาพรัฐบาลมีปัญหาสุ่มเสี่ยงอย่างมาก

การต่อรองผลประโยชน์ทั้งภายในพรรคแกนนำ และพรรคร่วมรัฐบาลเป็นไปได้ทุกเวลา

โดยเฉพาะในวาระมีร่างกฎหมายสำคัญเข้าสู่สภา เช่น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่น่าจะเป็นความท้าทายอันดับแรกของรัฐบาลชุดใหม่

โอกาสเกิดสิ่งที่เรียกว่า “งูเห่าเฉพาะกิจ” ทำหน้าที่ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวแพ้เสียงในสภา โดยธรรมเนียมปฏิบัติรัฐบาลต้องลาออก

หรือแม้เอาตัวรอดไปได้ ยังต้องเจอกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งตัวนายกฯและรัฐบาล จ่อคิวในอนาคต

รัฐบาลมากพรรค รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ สร้างปัญหาให้ประเทศมีตัวอย่างให้เห็นกันมาแล้ว

ไม่เพียงเป็นปัญหาในทางการเมือง แต่ลามไปถึงภาคเศรษฐกิจ นักธุรกิจนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น กระทบไปถึงปากท้องประชาชน

ในทางทฤษฎีเกม มีการกำหนดหลักการไว้ 3 รูปแบบ

เกมศูนย์ (zero-sum games) ผู้ชนะจะได้ไปทั้งหมด ขณะที่ผู้แพ้ก็จะสูญเสียไปทั้งหมด

เกมที่ไม่เป็นศูนย์ (nonzero-sum games) ผู้ชนะได้ไปบางส่วน ขณะที่ผู้แพ้ก็ไม่ได้เสียจนสิ้นเนื้อประดาตัวไป และอาจนำไปสู่ทุกฝ่ายชนะไปด้วยกัน (win-win) ได้รับประโยชน์ร่วมกัน

เกมที่แพ้ทุกฝ่าย (loss-loss) ไม่มีผู้ชนะหรือได้อะไรไป ทุกฝ่ายมีแต่สูญเสีย

บรรยากาศการเมืองเกมแห่งอำนาจ สองขั้วยันกันอยู่ขณะนี้ โอกาสเกิดเกมศูนย์หรือวิน-วิน ยังมองไม่เห็น

ถ้าอย่างนั้น เรากำลังเดินเข้าสู่เกมแห่งการสูญเสียกันทุกฝ่ายหรือเปล่า

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image