เด็กเร่ร่อนบนท้องถนน : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน-ดานา โมหะหมัดรักษาผล

หากเราพูดถึงเด็กเร่ร่อนเรามักจะคุ้นชินกับภาพของเด็กที่หนีออกจากบ้านด้วยปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สวมใส่เสื้อผ้ามอมแมม ดมกาว ฟันเหลือง ผมแดง ผิวขรุขระ ยังชีพด้วยการเดินขอทาน เช็ดกระจก หาของกินตามถังขยะหรือขอชาวบ้านบริเวณนั้นกินวันต่อวัน อาศัยนอนตามข้างถนน ป้ายรถเมล์ ตลาด หรืออยู่รวมกับกลุ่มเพื่อนที่เร่ร่อนในตึกร้างด้วยกัน

แต่ในปัจจุบันลักษณะหรือสถานการณ์ของเด็กเร่ร่อนเปลี่ยนแปลงไปมาก เราสามารถพบเด็กชายหญิงกลุ่มหนึ่งแต่งกายเรียบร้อยสะอาดตา พักอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ปกครองมีที่พักเป็นหลักแหล่ง เดินขอเงินนักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืน หรือบางคนเดินขายพวงมาลัยตามสี่แยกบนท้องถนนในช่วงวันหยุดหรือหลังเลิกเรียนเพื่อช่วยครอบครัวหารายได้

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สะท้อนภาพการเปลี่ยนผ่านจากเด็กเร่ร่อนแบบเดิมสู่เด็กเร่ร่อนในอีกมิติหนึ่ง

ในความคิดเห็นทั่วไป ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2560) เกี่ยวกับเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน โดยคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติได้ระบุว่า “เด็กเร่ร่อนบนท้องถนน” นั้นใช้กับเด็กที่วิถีชีวิตขึ้นอยู่กับท้องถนนทั้งเพื่ออยู่อาศัยหรือทำงาน ไม่ว่าจะด้วยคนเดียว ร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัว และมีความผูกพันกับพื้นที่สาธารณะอย่างมาก

Advertisement

ซึ่งจากคำนิยามดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงมิติของการเร่ร่อนของเด็กในสมัยนี้ที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มเด็กที่ออกจากบ้านอาศัยนอนตามที่สาธารณะอย่างที่เราเข้าใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มเด็กที่ออกมาทำงานช่วยหาเลี้ยงครอบครัวบนท้องถนนอีกด้วย

ผู้เขียนมีโอกาสลงพื้นที่สัมผัสบรรยากาศชุมชนตลอดริมทางรถไฟแห่งหนึ่ง ได้พูดคุยกับเด็กและครอบครัวที่อาศัยในชุมชนนั้นและได้พบกับ น้องฟ้า (นามสมมุติ) ในวัย 11 ปี กำลังช่วยยายเดินขายพวงมาลัยอยู่บริเวณสี่แยกใกล้กับชุมชน จากการพูดคุยพบว่าน้องฟ้าต้องช่วยยายขายพวงมาลัยมะลิในช่วงวันหยุดและหลังเลิกเรียนเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวและหาเงินสำหรับไปโรงเรียน

ในระหว่างพูดคุยได้สังเกตเห็นแววตาของน้องฟ้าที่สะท้อนความเหนื่อยล้าจากการเดินขายพวงมาลัยในช่วงเที่ยงวัน ความเหนื่อยล้าที่ต้องรับผิดชอบบทบาทหน้าที่มากกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน จำเป็นต้องออกมาทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวแทนที่จะได้เล่นเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ

Advertisement

ในขณะเดียวกันผู้เขียนได้พบกับคุณยายของน้องฟ้าที่กำลังนั่งเฝ้าดูหลานอยู่บริเวณใต้ร่มไม้ริมถนน ยายได้บอกกับผู้เขียนว่า ร้อยพวงมาลัยให้หลานไปเดินขายเนื่องจากตนเองเดินขายไม่ไหว “หากหลานเดินขายจะมีคนจะซื้อมากกว่าเพราะเขาเห็นว่าเป็นเด็กแล้วสงสารก็เลยช่วยซื้อ” ยายกล่าว

และเมื่อถามถึงสาเหตุที่ยายนั่งในบริเวณนี้ ยายตอบว่า “ไม่กล้าปล่อยให้เขาเดินคนเดียวเพราะกลัวว่าจะถูกรถชนหรือมีใครจับตัวไป”

ไม่ใช่เพียงแค่น้องฟ้าเท่านั้นแต่ยังมีเด็กหลายคนในชุมชนที่ต้องออกมาทำงานช่วยครอบครัวบนท้องถนนเช่นเดียวกัน “ครูจิ๋ว” ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ได้อธิบายว่ามีเด็กอีกจำนวนหนึ่งในชุมชนที่ต้องทำงานช่วยหาเลี้ยงครอบครัวโดยการเดินขอเงินตามบริเวณแหล่งท่องเที่ยวในยามค่ำคืนด้วยการสะกิดนักท่องเที่ยวแล้วแบมือขอ นักท่องเที่ยวก็จะให้เงินหรือซื้อของให้เพราะความสงสาร บางครั้งเด็กต้องทำงานตั้งแต่หนึ่งทุ่มจนถึงตีสองจึงกลับบ้านได้

นอกจากนี้ ครูจิ๋วได้สะท้อนเพิ่มเติมว่าสถานการณ์เด็กเร่ร่อนในขณะนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายที่ทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเร่ร่อนต่างด้าวที่ติดตามครอบครัวมาอาศัยหรือทำมาหากินในประเทศไทย

ซึ่งพบปัญหาว่าเด็กต่างด้าวกลุ่มนี้ไม่สามารถเรียนต่อในระยะยาวและไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้ ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสัมมนาสถานการณ์เด็กเร่ร่อน แม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว 4 ภาค ได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2560 มีเด็กเร่ร่อนทั้งเด็กไทยและเด็กต่างด้าวรวมกันไม่น้อยกว่า 50,000 คน ที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ ทั้งจากประเทศกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม รวมถึงชาวโรฮีนจา ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับคนทำงานด้านเด็กไม่น้อยทีเดียว

ในทางตรงกันข้ามกลับปรากฏว่ามูลนิธิ องค์กรเอกชน NGO ภาคประชาสังคม รวมถึงครูข้างถนนที่ทำงานภาคสนามอย่างใกล้ชิดกับเด็กเร่ร่อนเหล่านี้ทยอยปิดตัวลง ปิดบ้านและลดคนทำงานภาคสนาม เพราะคนรุ่นใหม่ไม่นิยมบริจาคเงินเพื่อเด็กด้อยโอกาส ภาคราชการยังคงทำงานติดกรอบระเบียบกฎเกณฑ์ เข้าไม่ถึงตัวเด็ก เวลาทำงานไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็ก ดังเช่น เจ้าหน้าที่ทำงานเวลา 08.30-16.00 น. แต่เด็กเร่ร่อนทำงานยืดหยุ่นตามรายได้ที่หาได้ ในช่วงเวลา 17.00-24.00 น. เป็นต้น

กล่าวได้ว่าปัญหารุนแรงซับซ้อนมากขึ้น แต่บุคคลเกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือยิ่งลดน้อยตามลำดับ

สถานการณ์เด็กเร่ร่อนดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นมิติของเด็กเร่ร่อนที่เปลี่ยนไป เด็กต้องปรับตัวและพยายามทำความเข้าใจในวิถีชีวิตของตนเองมากขึ้น รับรู้และเข้าใจเหตุผลของการออกมาทำงานบนท้องถนนว่าทำไปเพราะอะไร ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่าเป็น “การเร่ร่อนบนท้องถนนอย่างมีความหมาย”

หลายครั้งที่เด็กต้องทำงานอยู่บนถนนนานขึ้นเพื่อหาเงินให้เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว ในขณะเดียวกันชีวิตอีกส่วนหนึ่งยังคงต้องไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กในวัยเรียนกลุ่มนี้

การที่ต้องรับผิดชอบบทบาทหน้าที่ทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กันถือเป็นงานหนักสำหรับเด็กที่อาจทำให้พวกเขากลายเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน การใช้ยาเสพติด ไปจนถึงการเป็นผู้กระทำหรือเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจได้

ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนสัญญาณที่กำลังบอกสังคมว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรให้ความสำคัญกับเด็กทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กเร่ร่อนบนท้องถนนที่มักถูกละเลยให้สามารถเข้าถึงสิทธิและบริการที่มีคุณภาพ การมองเห็นพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเข้าใจและประณีตเพื่อคืนชีวิตวัยเด็กให้พวกเขาได้อย่างแท้จริง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ตระหนักและเห็นปัญหาของเด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน เด็กเลขประจำตัวเป็นเลขศูนย์และเลขจี ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคมไทยถึง 3.7 ล้านคน ที่ถูกผลักออกจากครอบครัว โรงเรียน และชุมชนด้วยปัญหาและข้อจำกัดอย่างมากมาย ได้เริ่มจัดโครงการ สนับสนุนงบประมาณและบุคลากร เพื่อเข้ามาช่วยเหลือเด็กแต่ละกลุ่มให้มีโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

การเยี่ยมบ้าน สนับสนุนทุนการศึกษา ชุดนักเรียน รองเท้า กระเป๋า และอุปกรณ์การเรียน พร้อมกับการต่อยอดองค์ความรู้ งานวิจัยที่เชื่อมโยงประสานกับนโยบายและกลไกของราชการเพื่อการขับเคลื่อน ลดความเหลื่อมล้ำและการแก้ไขปัญหาองค์รวมที่ยั่งยืนต่อไป

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
ดานา โมหะหมัดรักษาผล
ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image