อย่าให้ ‘โอกาส’ ต้องสะดุด เพราะสองกระทรวงทำงานสวนทาง : โดย สมคิด เรืองณรงค์

นั่งดูการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่นำนโยบายการตลาดนำการผลิต มาใช้ในสินค้าเกษตรหลายประเภทแล้วต้องยอมรับว่ารัฐมนตรีท่านนี้มีวิสัยทัศน์ และทำงานจริงจังถึงลูกถึงคน ยกตัวอย่างในเรื่องของไข่ไก่ ที่สามารถแก้ปัญหาระดับราคาตกต่ำให้เกษตรกรได้ลืมตาอ้าปากหลังขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่กระทบผู้บริโภค เท่านั้นไม่พอ ยังสานต่อยุทธศาสตร์ไก่ไข่ ประกาศเป็นแผนดำเนินการ 6 ปี (2562-2566) จับห่วงโซ่การผลิตไข่ทั้งหมดมากาง แล้วลงรายละเอียดในทุกช่วงตอน โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาไข่ ให้ผู้คนทั้งหมดในห่วงโซ่อยู่ได้

ไม่เพียงไข่ไก่ซึ่งเป็นสินค้าในประเทศ ยังมีกรณีของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ต้องเผชิญความหวาดกลัวกับปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ที่ระบาดไปหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ทั้งจีนและเวียดนาม สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯลงมือทำคือ การเร่งให้ความรู้และขอความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผนึกกำลังป้องกันโรคระบาดดังกล่าวทุกวิถีทาง ทั้งด่านชายแดน หรือแม้แต่ในสนามบินระหว่างประเทศ จนถึงขณะนี้ อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบการป้องกัน ASF อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในภูมิภาค ซึ่งจะว่าเป็น “โชคดี” ของไทยก็ได้ จะว่าเป็น “รางวัล” แห่งความทุ่มเทสารพัดวิธีในการป้องกันก็ได้ แต่นี่ย่อมทำให้กระทรวงเกษตรฯได้ภาคภูมิใจและเหนืออื่นใดคนที่ได้รับประโยชน์ที่สุดคือเกษตรกรคนเลี้ยงหมูของไทยทุกคน

เมื่อปริมาณหมูในประเทศขนาดใหญ่อย่างจีนและเวียดนาม มีจำนวนลดลงไม่เพียงพอต่อการบริโภค ย่อมส่งผลถึงระดับราคาหมูในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นตามหลักอุปสงค์-อุปทาน และนี่จึงเป็น “โอกาส” ของเกษตรกรไทยที่สามารถร่วมมือร่วมใจป้องกัน ASF ได้สำเร็จ หมูไทยกำลังเป็นที่ต้องการของหลายประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า เกษตรกรไทยควรจะได้ใช้ช่วงนี้เวลานี้ในการทำรายได้ สร้างกำไรแก่ฟาร์มของตน

ผมไม่ได้หมายความว่ากระทรวงเกษตรฯควรสนับสนุนให้เร่งส่งออกหมูไทย แต่กำลังหมายถึง “การเปิดโอกาส” ให้กลไกตลาดขับเคลื่อนราคาไปตามธรรมชาติของมัน อย่าให้ต้องมา “สะดุด” เพียงเพราะการทำงานของอีกกระทรวงหนึ่ง

Advertisement

ใช่ครับ ผมหมายถึงกระทรวงพาณิชย์ ที่มักจะเอาผู้บริโภคมาเป็นโล่ในการทำงาน และอ้างคำว่า เพื่อลดค่าครองชีพ หรือ เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง หรืออะไรก็ตามแต่จะเรียก แต่โปรดอย่าลืมมองถึงตลาดโลก หากมีการกดดันภายในประเทศย่อมเป็นแรงบีบให้หมูไทยทะลักออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ผลที่ตามมาคือกลไกตลาดภายในประเทศบิดเบี้ยว และอาจส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่คาดคิด

การปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมยิ่งในชั่วโมงนี้ ไม่ต้องกังวลหรอกครับว่าราคาจะพุ่งจนผู้บริโภคเดือดร้อน เพราะเมื่อหลายปีก่อน เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อถึงราคาหมูเป็นช่วงตรุษจีนว่าจะสูงอยู่ในระยะเดียว แล้วหลังจากนั้นราคาจะทรงตัว เพราะหากสูงเกินไปอาจกระทบกำลังซื้อ … คำว่า “หากราคาสูงเกินไปอาจกระทบกำลังซื้อ” นี่สะท้อนให้เห็นว่า เกษตรกรมีหลักการตลาดที่คำนึงถึงผู้บริโภคและระมัดระวังการค้าขายสินค้าของตนเอง เรียกว่าเข้าใจกลไกตลาดดีไม่แพ้นักวิชาการในแต่ละกระทรวง

นอกเหนือจากการไม่ทำให้โอกาสของเกษตรกรไทยต้องสะดุดแล้ว รัฐยังควรต้องส่งเสริมโอกาสนี้ด้วยซ้ำ การที่รัฐสนับสนุน SMEs กลุ่มแม่ค้าออนไลน์ ผลักดันการปล่อยกู้ให้ธนาคารต่างๆ มีโปรโมชั่นเชิญชวน SMEs กลุ่มนี้มากมาย ก็นับเป็นเรื่องที่ดีในการขยายธุรกิจออนไลน์ แล้วเกษตรกรผู้ผลิตอาหารให้คนไทยทั้งประเทศ ท่านจัดเขาไว้ในกลุ่มไหน?

Advertisement

ทุกวันนี้สถาบันการเงินทั้งหลาย ปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรรายย่อยซึ่งจำเป็นต้องใช้ทุนหมุนเวียน และต่อยอดงานที่กำลังเป็นโอกาสของเขา หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่ “เกษตรกรไทย” จะพลาดโอกาสทองที่ราคาหมูทั่วโลกขยับสูงขึ้นแล้ว ยังอาจต้องพับเสื่อเพราะขยายธุรกิจไม่ได้ ลามไปถึงอุตสาหกรรมเกษตรที่ต้องชะลอตัวและถดถอย กระทบภาพรวมเศรษฐกิจประเทศได้ในระยะยาว

ไม่ว่าพรรคไหนจะได้กระทรวงพาณิชย์ไปครอง ไม่ว่าใครจะมานั่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใด ขอยืนยันว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทุกกระทรวงเศรษฐกิจต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่กระทรวงหนึ่งมุ่งพัฒนากระบวนการผลิต ยกระดับมาตรฐานต่างๆ ตามที่ตลาดโลกต้องการ แต่พอถึงกระบวนการขายกลับถูกอีกกระทรวงขวางทาง หรือไม่ให้การสนับสนุน ถ้าสองกระทรวงทำงานสวนทางกันแบบนี้ ประเทศชาติถอยหลังแน่ครับ

คงต้องฝากว่าที่รัฐมนตรี โปรดเปิดทางให้กลไกตลาดทำงาน และช่วยทบทวนนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรรายเล็กรายน้อยได้ต่อยอดอาชีพ ก่อนที่ “โอกาส” (ซึ่งมีมาไม่ค่อยบ่อย)…จะหลุดลอย

สมคิด เรืองณรงค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image