คอลัมน์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ น้ำท่วมกทม.ครั้งนี้มีทิฟฟี่กับทัมใจก็พอ

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2562 จัดว่าเป็นศุกร์แห่งชาติของชาว กทม.อีกเช่นเคย เพราะน้ำท่วมสูงและรถติด

ต้องขอประทานโทษยาทิฟฟี่และทัมใจด้วย ที่ต้องยกชื่อสองยานี้ขึ้นมาก็ด้วยความรัก และยอมรับในความนิยมของประชาชน ผมคิดจริงๆ ว่าอยู่ กทม.นี่มียาสองตัวนี้ก็น่าจะพอในการรับสภาพกับน้ำท่วมและรถติด

ทัมใจนี่ทานมานานแล้วตั้งแต่ปี 2526 ที่ท่วมหนัก

แต่ทิฟฟี่ที่ “ดูแลสุขภาพดีๆ นะครับ” นี่ก็เพิ่งจะถูกจ่ายมาจากนายกรัฐมนตรีเกือบห้าร้อยนี่แหละครับ

Advertisement

ส่วนทั่นผู้ว่าฯ ที่ท่านนายกฯ เกือบห้าร้อยท่านแต่งตั้งมาด้วยอำนาจพิเศษ เมื่อตอนที่ท่านนายกฯ ยังเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารก็ออกมาบอกว่า ที่ไม่ไปบัญชาการน้ำท่วมเพราะกลัวรถจะติดเพิ่ม

เอางี้ครับ มาตั้งหลักกันก่อน ประเด็นแรกคือ ผมคิดว่ามาจนถึงวันนี้คนกรุงเทพฯไม่ใช่จะไม่รู้ว่าน้ำท่วมนั้นเป็นความเสี่ยงสำคัญในการใช้ชีวิตในเมืองแห่งนี้

แต่เขาก็อยากรู้ว่าประสิทธิภาพของ กทม.นั้นแก้ปัญหาน้ำท่วมได้มากแค่ไหน

Advertisement

คำถามที่สำคัญที่เราต้องเริ่มคิดกันใหม่จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันประเภทที่ว่า ทำอย่างไรกรุงเทพฯน้ำจะไม่ท่วม

แต่เราต้องตั้งหลักใหม่กันว่า เราจะบริหารจัดการชีวิตและบริหารจัดการน้ำท่วมในกรุงเทพฯอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด

คำถามนี้ทำให้เราต้องตั้งหลักใหม่กันทั้งหมด ทั้งเรื่องของชีวิตของเรา และชีวิตของเมือง หรือถ้าจะลงให้ละเอียดขึ้น เราต้องบริหารชีวิตเรา ชีวิตคนอื่น และชีวิตของเมืองด้วย ไม่ใช่ให้เอาตัวรอดกันไปเอง หรือให้รับสภาพกันไปวันๆ

อย่างคำถามง่ายๆ เช่น การเปลี่ยนจากคำว่า น้ำท่วมเป็นน้ำรอการระบายนั้น เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ผิดนะครับ เพราะน้ำท่วมขังกับน้ำรอการระบายมันไม่เหมือนกัน น้ำรอการระบายหรือ minor flooding คือมันไหลลงท่อไม่ทันเพราะปริมาณน้ำฝน

แต่เมื่อเราเข้าใจมันถูกต้อง สิ่งที่จะต้องตามมาก็คือ เราต้องมาไล่ตรวจสอบกันละครับว่าระบบระบายน้ำของเรามันมีประสิทธิภาพพอไหม ถ้าเราเป็นเมืองที่ปริมาณฝนตกหนักขนาดเช่นที่ผ่านมา

จำได้ว่า อดีตผู้ว่าฯไม่ต่ำกว่าหนึ่งคนยังใช้เรื่องของปริมาณฝนมาอ้างว่าเป็นเหตุที่เกิดน้ำท่วม (รอการระบาย) เช่น การอธิบายเรื่องฝนพันปี

คำถามที่ตามมาจึงอยู่ที่ว่า เวลาที่เราพูดเรื่องการรอการระบายของน้ำ เราจะสามารถตรวจสอบการทำงานเรื่องการระบายน้ำได้อย่างไร เราจะปรับระบบการระบายน้ำที่คิดมากกว่าเรื่องอุโมงค์และท่อมาสู่คลอง และระบบการพักน้ำในรูปแบบอื่นได้แค่ไหน

เรื่องนี้น่าจะต้องมีคำตอบมากขึ้นว่ามาตรฐานการระบายน้ำของถนนต่างๆ จะปรับเปลี่ยนได้อย่างไร การพูดถึงอุโมงค์ยักษ์เนี่ยคำถามว่าถ้าน้ำในนั้นระบายได้จริงแต่น้ำมันยังมาจากแต่ละถนนแบบกระปริบกระปรอยเพราะรูระบายน้ำมันแคบขนาดนั้นจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงไหม

คําถามต่อมาก็คือแนวคิดเรื่องการวางผังเมืองของ กทม. ไม่ว่าจะปรับกันกี่แผนก็ยังไม่เห็นวิธีคิดในเรื่องของการวางผังเมืองที่เข้าใจสภาพนิเวศวิทยาของเมืองที่ลึกไปกว่าเรื่องของภูมิทัศน์ที่พื้นผิว และการวางผังเมืองด้วยตา

หมายถึงการทำความเข้าใจถึงสภาพภูมิประเทศและระบบธรรมชาติในพื้นที่มากกว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวแบบแปะหญ้า ปลูกต้นไม้ และเข้าใจระบบการชุ่มน้ำและระบายน้ำของพื้นที่ เช่น ลองถามว่าถ้าจะทำเมืองให้กระชับจะวางพื้นที่พาณิชย์หนาแน่นนั้น พื้นที่ตรงนั้นน้ำจะท่วมไหม หรือควรจะจัดการใช้ที่ดินอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของกรุงเทพฯตามระบบนิเวศ ไม่ใช่วางตามหลักการเศรษฐกิจและผลกำไรเท่านั้น เช่น ถ้าเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมก็ไม่ควรจะให้สร้าง หรือผู้พัฒนาที่ดินจะต้องมีส่วนช่วยหารต้นทุนกับเมือง

นอกจากนี้แล้ว การจะวางความรับผิดชอบของเจ้าของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่จะต้องรับผิดชอบกับการระบายน้ำนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องคิด ทั้งน้ำหนักตึกที่จะมีผลต่อการทำให้เมืองทรุด รถติด แล้วทำให้คนที่ต้องผ่านตึกเดือดร้อน ยิ่งเวลาน้ำท่วมยิ่งหนัก ดังนั้นก็ต้องย้ำอีกทีว่า ผู้พัฒนาที่ดินจะต้องช่วยเมืองแบกรับต้นทุนในการจัดการน้ำท่วมด้วย

โดยสรุป เราอาจต้องคำนวณความรับผิดชอบร่วมและการจัดหาพื้นที่สีฟ้าที่จะช่วยการรับน้ำในเมืองในแง่ของความเร่งด่วน เช่น พื้นที่แต่ละเขตที่เสี่ยงน้ำท่วมจะต้องมีพื้นที่เก็บน้ำในพื้นที่และจะต้องให้แต่ละส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่ใช้งบประมาณของเมืองมาจัดการแต่เรื่องแบบนี้ในบางพื้นที่เท่านั้น

ในเรื่องต่อมา การพูดเรื่องน้ำท่วมควรจะพิจารณาเรื่องระบบความโปร่งใสของการจัดการการระบายน้ำในระดับข้อมูลที่ชอบอธิบายกันว่าเราต้องการ big data นั่นแหละครับ

เมืองอัจฉริยะที่เราพูดกันนั้นน่าจะต้องอัจฉริยะในแง่การจัดการบริหารระบบน้ำได้ด้วย เราควรจะต้องพิจารณาว่า เรามีความรู้เรื่องของข้อมูลการระบายน้ำแต่ละเขตมากน้อยแค่ไหน และทำการคำนวณ วิเคราะห์ด้วยว่าระบบระบายน้ำนั้นมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ไม่ใช่ดูแค่ว่าแต่ละเขตมีเครื่องสูบน้ำกี่หัวเท่านั้น แต่ต้องวิเคราะห์ได้ด้วยว่ามันพอไหม มีทดแทนไหม (และกุญแจไม่หาย หรือไฟต้องถึง)

รวมไปถึงระบบการคำนวณว่าถ้าปริมาณฝนประมาณเท่านี้ น่าจะท่วมแค่ไหน เรื่องแค่นี้ควรจะทำได้แล้ว เพราะขนาดกูเกิลยังมีระบบคำนวณรถติดได้แล้วว่ากี่นาทีจะไปถึงเป้าหมาย

การพูดถึงระบบข้อมูลจะต้องพิจารณาถึงการคำนวณการพยากรณ์อากาศที่สัมพันธ์กับระบบน้ำท่วมแล้ว ไม่ใช่อธิบายแค่ว่าฝนจะตกน้อย กลาง หรือมาก แต่ต้องคำนวณศักยภาพของการระบายน้ำ และความสูงต่ำของพื้นที่ด้วย

กล่าวโดยรวมแล้ว คำว่า big data คำว่า open data และ open city จะต้องสัมพันธ์กัน หมายถึง การจัดทำฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล และต้องเปิดข้อมูลออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ ช่วยคิด เอาไปคำนวณทางเลือกการทำนาย

และสุดท้าย การเปิดข้อมูลจะต้องมีเป้าหมายให้เมืองนี้เป็นของทุกคน ให้ทุกคนมีโอกาสได้มีชีวิตที่ดีจากการทำความเข้าใจความซับซ้อนของเมืองด้วย

เรื่องที่สามที่อยากจะพูดถึงก็คือ บทบาทของผู้บริหารเมืองกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก การย่ำน้ำท่วมนั้นไม่ใช่เรื่องของการสร้างภาพ และความเป็นตลาดล่างเสมอไป เพราะเอาเข้าจริง กทม.มีเรื่องที่สำคัญที่ประชาชนเขาคาดหวังแค่สองเรื่อง คือน้ำท่วมกับขยะ

หมายถึงว่าแม้ว่า กทม.จะมีอำนาจหน้าที่มากมาย แต่หน้าที่ส่วนใหญ่ก็ซ้อนทับกับองค์กรอื่น และยิ่งเป็นเมืองหลวงแล้ว กทม.ก็ยิ่งมีองค์กรอื่นอีกมากมายที่เข้ามาจัดการชีวิตของเราและของเมือง

แต่ขยะกับน้ำท่วมนี่แหละครับที่ประชาชนเขาคาดหวังจริงจังว่าจะต้องแก้ให้ได้

ส่วนรถติดนั้นซับซ้อน ผมคิดว่ารถติดประชาชนเขาเข้าใจว่ามีเงื่อนไขมากมาย โดยเฉพาะกับเรื่องของคนที่ขับรถไม่ดี และกับการระบายรถของตำรวจ

แต่ “รถติดเพราะน้ำท่วม” นั่นแหละครับที่เขารับไม่ได้ แล้วเขาด่า กทม. เพราะเขารู้ว่า กทม.มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเรื่องนี้

ผมไม่ได้จะอธิบายเรื่องนี้ในฐานะตลาดล่าง หรือเรื่องความคาดหวังเฉยๆ แต่มันเป็นเรื่องของ accountability หรือความพร้อมรับผิดขององค์กรสาธารณะ ซึ่งมันหมายถึงความโปร่งใสในการทำงาน และความเอาใจใส่ของผู้บริหาร และ ความคาดหวังของประชาชนในเรื่องบริการสาธารณะดังกล่าว

พูดให้มันง่ายคือ การออกไปถ่ายรูปในพื้นที่อย่างน้อยก็ชี้ให้คนที่เดือดร้อนเห็นว่าผู้บริหารเมืองมาดูปัญหาในพื้นที่ ไปให้ถูกพื้นที่ อธิบายให้ได้ว่าพื้นที่นั้นทำไมต้องรีบไปก่อนพื้นที่อื่น และทำไมต้องไปในพื้นที่ือื่นๆ ต่อไป

นั่นแหละครับคือความเป็นผู้บริหารในพื้นที่ที่มาจากประชาชน และเข้าไปสัมผัสทุกข์ของพวกเขาถึงพื้นที่ และเข้าไปยอมรับผิด เขาไปให้เขาด่า เพราะอย่างน้อยคนที่เดือดร้อนจะรู้สึกว่าผู้บริหารใส่ใจกับปัญหาอย่างจริงจัง

เรื่องสุดท้าย เราต้องคิดถึงเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งการรายงานสภาพคูคลอง และการดูแลขยะมูลฝอยไม่ให้อุดตัน

แต่นั่นยังไม่พอครับ ผมคิดว่าในสถานการณ์น้ำท่วมจริงเมื่อวันศุกร์ที่่ผ่านมา ซึ่งผมก็ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย จะพบว่า รถติดในบางถนนไม่ได้เพราะน้ำท่วมจนวิ่งไปไม่ได้ แต่เป็นเพราะผู้ใช้ถนนจำนวนหนึ่งไม่อยากจะเอารถไปเสี่ยง จึงเบี่ยงไปใช้เลนทางขวา ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงแล้วอีกสองเลนทางซ้ายแม้จะท่วมแล้วก็ยังวิ่งได้ เพราะน้ำไม่ได้สูงเกินฟุตปาธ

ผมเห็นรถเมล์วิ่งขวา รถกระบะวิ่งขวา ทำให้ถนนสามเลนนั้นใช้ได้เลนเดียว

เรื่องนี้คงต้องมาคิดกันใหม่นิดนึงว่าระบบการใช้ถนนในช่วงวิกฤตนั้นจะเป็นอย่างไร “รถเล็กควรออกจากฝั่งไหม” หรือรถใหญ่ควรกล้าวิ่งในเลนซ้ายที่ท่วมมากหน่อยไหม เพราะยังไม่ได้สูงถึงขนาดที่วิ่งไม่ได้

นี่เพิ่งเริ่มฤดูฝนนะครับ ยังเจอฝนและน้ำท่วมกันอีกพักใหญ่ครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image