‘จุดบอด’ และ ‘สภาวะตกหลุมอากาศ’ ของขบวนการสหกรณ์ไทย : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

ประสบการณ์การทำงานสหกรณ์ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทุ่มเทเวลาศึกษา เรียนรู้ ทำความเข้าใจทั้งส่วนที่เป็นแนวคิด (ปรัชญา หลักการ และอุดมการณ์ของสหกรณ์ ที่ผมรวมเรียกว่า “จิตวิญญาณสหกรณ์”) และแนวปฏิบัติ (พ.ร.บ. กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ และระเบียบ ข้อบังคับของสหกรณ์) ผนวกกับประสบการณ์ตรงในการทำงานสหกรณ์ในฐานะประธานกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผมได้ตระหนักและรับรู้สิ่งที่ผมเรียกว่า “จุดบอด” ของขบวนการสหกรณ์ ที่เป็นมิติภายในหรือสภาวะภายในของ “คน” ในขบวนการสหกรณ์ โดยเฉพาะ “ผู้บริหาร” ของสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ สันนิบาตสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (ค.พ.ช.) และหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลสหกรณ์โดยตรง รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง เป็นต้น

“จุดบอด” ดังกล่าว หากเทียบเพื่อให้เห็นภาพกับระบบคอมพิวเตอร์ที่เราคุ้นชิน ก็พอเทียบได้กับระบบปฏิบัติการ (OS) ซึ่งเป็นมิติภายใน ที่ผลิตหรือสร้างปฏิบัติการซึ่งเป็นมิติภายนอกออกมา

จุดบอดดังกล่าวก็คือ การมองข้าม หรือละเลยการปลูกฝัง การสร้างเสริม และการพัฒนา “จิตวิญญาณ” สหกรณ์ ซึ่งเป็นมิติภายในให้กับคน และโดยเฉพาะผู้บริหารสหกรณ์ในทุกระดับ โดยเฉพาะเรื่อง “การช่วยเหลือเกื้อกูล” ระหว่างเพื่อนสมาชิกในสหกรณ์ และเพื่อนสหกรณ์ในขบวนการสหกรณ์ด้วยกัน

จิตวิญญาณสหกรณ์ เป็นระบบปฏิบัติการ ซึ่งเป็นมิติภายในของคนสหกรณ์ จะส่งผลต่อการผลิตหรือการสร้างปฏิบัติการ ซึ่งเป็นมิติภายนอกออกมา เช่น กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ แนวปฏิบัติ รวมไปถึงการกระทำ และพฤติกรรมต่างๆ ของคนในขบวนการสหกรณ์ เช่น การเรียกร้องและสร้างแรงกดดันเพื่อให้ได้เงินปันผลที่สูงขึ้น โดยไม่สนใจเรื่องอื่น การรวมกลุ่ม แบ่งแยกกลุ่ม (ผลประโยชน์) เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบทั้งที่ชอบและไม่ชอบ การออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เน้นการควบคุม กำกับและการลงโทษ มากกว่าการกำกับดูแล ส่งเสริม และสร้างสรรค์สหกรณ์ โดยยึด อิง หรือผ่านมุมมอง แนวปฏิบัติ และเกณฑ์มาตรฐานของสถาบันการเงินกระแสหลัก เช่น ธนาคารพาณิชย์ ที่มีนักธุรกิจหรือนักลงทุนเป็นเจ้าของ ในขณะที่สหกรณ์มีสมาชิกเป็นเจ้าของ มีการจัดสรร แบ่งปันผลกำไรกลับคืนให้สมาชิกตามสัดส่วนในรูปของเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน และสวัสดิการต่างๆ

Advertisement

เมื่อวัตถุประสงค์หลักของธนาคาร และสถาบันการเงินกระแสหลักคือผลกำไรสูงสุด แต่วัตถุประสงค์หลักของสหกรณ์คือการช่วยเหลือเกื้อกูลสมาชิกสหกรณ์และขบวนการสหกรณ์ เกณฑ์ มาตรฐาน ตัวชี้วัด วิถีและวิธีการกำกับ ควบคุม ดูแล และการส่งเสริมพัฒนาก็น่าจะแตกต่าง ไม่ควรจะเหมือนกัน

เมื่อระบบปฏิบัติการซึ่งเป็นมิติภายใน (จิตวิญญาณ) ต่างกัน ทำไมต้องมีปฏิบัติการ (มิติภายนอก) เหมือนกัน?

การมีปฏิบัติการ เช่น เกณฑ์ มาตรฐานที่ดูดี มีความเข้มข้นสูง แต่บีบรัดให้สหกรณ์ทำงานลำบาก ไม่สร้างและส่งเสริมมิติภายในหรือระบบปฏิบัติการของสหกรณ์ น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะนอกจากจะไม่เป็นการพัฒนาและสร้างเสริมจิตวิญญาณสหกรณ์แล้ว ยังเป็นการลดทอนความเป็นสหกรณ์ให้เหลือเป็นแค่สถาบันการเงินตามปกติทั่วไป

สภาพการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ ด้วยแนวคิดและแนวปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินโดยทั่วไป โดยการบีบบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมจากหน่วยเหนือ และผู้มีอำนาจที่ขาดจิตวิญญาณสหกรณ์ ทำให้ขบวนการสหกรณ์ตกอยู่ในสภาพ “ตกหลุมอากาศ” เป็นระยะๆ และถี่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อขบวนการสหกรณ์ที่ทำหน้าที่สำคัญในการช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

สหกรณ์ก็เปรียบเสมือนต้นไม้ การตัดแต่งกิ่ง การเสียบ ต่อกิ่ง การตัดกิ่งหรือต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง การบอนไซ การใช้สารเคมีกำจัดโรค อาจทำให้ต้นไม้สหกรณ์ดูดีได้ในระยะสั้น แต่หากมิได้บำรุง ดูแล รักษารากให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง ต้นไม้สหกรณ์ก็จะค่อยๆ อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ จนตายไปในที่สุด

พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับล่าสุดมีผลบังคับใช้แล้ว แม้จะพบว่าเป็น พ.ร.บ.สหกรณ์ที่ไร้ “จิตวิญญาณสหกรณ์” ตามที่ผมเคยเขียนวิจารณ์ไว้ในคอลัมน์นี้เมื่อประมาณสองเดือนก่อน เราชาวสหกรณ์ก็ต้องปฏิบัติตามจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่ ความหวังที่พอจะเหลือบ้างก็อยู่ที่กฎกระทรวงที่จะออกมาทั้ง 13 ฉบับ หากยังคงยึดโยงอยู่กับมิติภายนอกตามที่ผมกล่าวถึงในบทความนี้ ไม่เปิดโอกาส และสร้างสรรค์ความยืดหยุ่นมากพอให้กับความเป็นลักษณะเฉพาะตัวของสหกรณ์ที่แตกต่างกันทั้งประเภท (7 ประเภท+อื่นๆ) และขนาดของสหกรณ์ (เล็ก กลาง ใหญ่) โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียนขนาดใหญ่ที่เป็น “สหกรณ์เงินเหลือ” ที่พัฒนาก้าวไกลไปจากจุดเริ่มต้นมากมาย จะประสบปัญหาการบริหารจัดการ สภาวะ “เงินเหลือ” เพราะถูกจำกัดการลงทุน เพียงเพื่อแสดงความคารวะ และ/หรือศิโรราบให้กับการ “บริหารความเสี่ยง” ตามแนวปฏิบัติที่ใช้กันในสถาบันการเงินทั่วไป

ขอย้ำและยืนยันอีกครั้งว่า “จิตวิญญาณสหกรณ์” ซึ่งเป็นมิติภายในคือ “ระบบปฏิบัติการ” ของคนสหกรณ์และขบวนการสหกรณ์ ไม่เหมือน ไม่ใช่ “ระบบปฏิบัติการ” ของธนาคารและสถาบันการเงินทั่วไป จึงไม่ควรถูกบีบรัด หรือถูกบังคับให้ต้องมีการปฏิบัติ หรือใช้เกณฑ์ และมาตรฐานทางการเงินที่เหมือนกัน

การทำประชาพิจารณ์เพียงเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้มีการรับฟังอย่างลึกซึ้ง ไม่ห้อยแขวนการตัดสินไว้ก่อน ไม่มีพลังแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจที่แท้จริง ไม่ร่วมรับรู้ปัญหาและสภาพแวดล้อมของปัญหา ไม่ร่วมสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ที่พึงประสงค์และเป็นไปได้ ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ต่อขบวนการสหกรณ์อย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นการบั่นทอนจิตวิญญาณสหกรณ์ลงไปเรื่อยๆ เพราะสิ่งดีๆ ที่คนในขบวนการสหกรณ์เสนอมากมายในระหว่างการทำประชาพิจารณ์ ไม่ปรากฏใน พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างอีกว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ผ่านการประชาพิจารณ์ (แบบฉาบฉวยและผิวเผิน) จากขบวนการสหกรณ์แล้ว

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะร่วมมือกันอย่างมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ช่วยกัน “กำจัดจุดอ่อน” ซึ่งเป็น “จุดบอด” ของขบวนการสหกรณ์ ร่วมมือกันสร้างสรรค์และพัฒนาความเข้มแข็งและความมั่นคงให้กับขบวนการสหกรณ์ทั้งมิติภายในและมิติภายนอก เพื่อจะได้ก้าวข้ามสภาวะการ “ตกหลุมอากาศ” สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image