คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน ยั่งยืนด้วยสิ่งแวดล้อม : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

นโยบาย “Thailand 4.0” เป็นการมุ่งเน้นในการยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการด้วย “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” โดยการปรับเปลี่ยน 3 กลไกเพื่อการขับเคลื่อนสู่ความเติบโตและยั่งยืน อันได้แก่

(1) Productivity Growth (เป็นการเพิ่มผลิตภาพด้วยหลักการ “ทำน้อยได้มาก”)

(2) Inclusive Growth (เป็นการเติบโตไปพร้อมกันด้วยความเท่าเทียมกัน และลดความเหลื่อมล้ำ) และ

(3) Environment Growth (เป็นการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)

Advertisement

ในเรื่องของการส่งเสริมและสนับสนุนให้การประกอบกิจการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้ลงนามความร่วมมือกับ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อกระตุ้นหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดเป็นแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐได้ผนวกหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับหน่วยงานที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน เป็นการกระตุ้นและเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการค้นหากระบวนการผลิตและทางออกต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งเท่ากับเป็นการทำให้เกิดการยอมรับจากชุมชนและสังคมด้วย

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ มีการจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และมีการประเมินวัฏจักรชีวิตของสินค้าและบริการ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างและปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงานในการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Public Procurement GPP) ที่กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานนั้น ได้เริ่มมาตั้งแต่แผนส่งเสริมฯ ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2554 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่แผนส่งเสริมฯ ระยะที่ 3 ในปี พ.ศ. 2560–2564 แล้ว

Advertisement

แนวความคิดที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องตอบโจทย์และแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนและสังคมได้ เช่นเดียวกันกับกิจกรรม CSR ที่ต้องทำร่วมกันระหว่างองค์กรภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ รวมตลอดถึงการมุ่งเน้นการรับรอง “สินค้าฉลากสีเขียว” และกิจกรรมด้านการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วย

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนยังมีแนวความคิดในเชิงสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย “ไบโอเทคโนโลยี” ซึ่งนำมาใช้ในการบำบัดน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มธุรกิจโรงแรม เป็นต้น

ขณะนี้ได้มีการวางยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นส่งเสริมสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐสีเขียวและภาคเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งเน้นผลิตสินค้าและให้บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขยายผลการดำเนินการเพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการใช้ “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” ด้วย ถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับแนวทางในการส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

การประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image