การต่างประเทศไทย : ก้าวใหม่หลังโรดแมป : โดย ดร.ชัยยงค์ สัจจิพานนท์

ข่าวดีที่สุดเรื่องหนึ่งของการมีรัฐบาลในระบอบเลือกตั้ง คือด้านการต่างประเทศ

ข่าวดีคือ ต่อจากนี้ เราจะไม่ได้ยินเสียงเรียกร้องให้ประเทศไทย “กลับสู่ประชาธิปไตย” และจัดการเลือกตั้งที่ “เสรีและเป็นธรรม” ที่ฟังมาตลอด 5 ปี และไม่ต้องคอยตอบคำถามประเทศต้นตำรับประชาธิปไตยทั้งหลายว่า ทุกอย่างกำลังเดินไปด้วยดีตาม “โรดแมป” อีกต่อไป

แต่คำถามที่ตามมาคือ แล้วประเทศไทยจะไปทางไหนในเวทีโลกหลังโรดแมป

ถึงแม้วันนี้ ระบอบเสรีประชาธิปไตยในโลกกำลังถดถอย (อย่างน้อยจากมาตรวัดของสถาบันต่างๆ เช่น Freedom House, Economist Intelligence Unit และ Bertelsman Stiftung เป็นต้น) แต่รัฐบาลประชาธิปไตยเลือกตั้งจะยังเป็นตัวเปลี่ยนเกมความสัมพันธ์กับประเทศที่เคยตั้งแง่กับไทย ก่อนหน้านี้ สหรัฐ และตะวันตกใช้แนวทาง “Engage but not Embrace” หรือ “เกี่ยวพันแต่ไม่เกี่ยวกอด” รวมทั้งใช้มาตรการคว่ำบาตรเบาๆ (soft sanctions) กับไทย แต่ต่อจากนี้ ทุกอย่างถือได้ว่า “กลับสู่ภาวะปกติ” จึงถึงเวลาที่ต้องมองไปข้างหน้า ถึงเวลาเริ่มบทใหม่ของความสัมพันธ์

Advertisement

เมื่อช้างสารชนกัน เราจะหันไปหาใคร

แต่ไม่ว่าจะเริ่มต้นใหม่ หรือจะว่าไปตามเดิม สิ่งที่ต้องรีบพิจารณา คือปัญหาความขัดแย้งจีน-สหรัฐ ที่กำลังทำโลกปั่นป่วนตึงเครียดขึ้นทุกขณะ โดยจะมีเอเชียเป็นสมรภูมิหลักในการต่อสู้

หรือหากมองจากมุมของสหรัฐ พื้นที่สำคัญที่สุดของการแข่งขันกับจีนขณะนี้คืออาณาบริเวณที่เรียกว่า “ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific) ซึ่งเป็นอภิภูมิภาค (Megaregion) ครอบคลุมกว้างขวางจากฝั่งตะวันตกแปซิฟิกถึงมหาสมุทรอินเดีย คือครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก คือ 2 ใน 3 ของการค้าทางทะเลของโลก และเป็นพื้นที่ซึ่งยุทธศาสตร์ Indo-Pacific Strategy ของสหรัฐ และพันธมิตรทาบซ้อนอยู่กับอภิมหาโปรเจ็กต์ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน จึงเป็นพื้นที่ของการเผชิญหน้าที่ยากหลีกเลี่ยง แถมยังเป็นภูมิภาคของประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ 6 ประเทศ (จีน อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีเหนือ สหรัฐ รัสเซีย) จึงเป็นพื้นที่ซึ่งสหรัฐถือว่าจะเป็นตัวกำหนดอนาคต กำหนดความเป็นความตายของตน

Advertisement

สหรัฐจึงมีเป้าหมายให้ภูมิภาคนี้มีเสรี และเปิดกว้าง (Free and Open) ทั้งในน่านน้ำและน่านฟ้าสากล รวมทั้งเป็นเสรีประชาธิปไตยทางการเมือง สหรัฐจึงไม่อาจยินยอมให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้มีอิทธิพล รวมทั้งไม่อาจยอมให้ใครขึ้นมาเทียบบารมีในตำแหน่ง “ผู้นำร่วม” ได้

ในสภาพการณ์ช้างสารชนกันเช่นนี้ ประเทศไทยจะทำอย่างไรที่จะไม่กลายเป็นหญ้าแพรกที่แหลกลาญ

เราควรจะเลือกข้าง หรือไม่เลือกข้าง ควรวางตัวเป็นกลาง หรือถอยห่างจากทั้งสองฝ่าย หรือ ควรจะคบซ้อน ซ่อนเงื่อน (hedging) ไม่ผูกมัดจนเกินไป ไม่เลือกฝ่ายเดียว แต่ทั้งร่วมมือและทัดทาน (congagement) ทั้งสองข้างควบคู่กันไป

ยิ่งกว่าสงครามการค้า

ในภาพใหญ่ ความขัดแย้งจีน-สหรัฐครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียง “สงครามการค้า” หรือ “สงครามภาษี” แต่เป็นเกมใหญ่ที่เปิดศึกทั่วด้านซึ่งผู้รู้เรียกว่า การแข่งขันทางยุทธศาสตร์แบบเบ็ดเสร็จ (Comprehensive Strategic Competition/Great-Power Competition) เพื่อครองการเป็น “มหาอำนาจนำ” ในการจัดระเบียบโลก รวมทั้งจัดระเบียบเอเชีย ทั้งสองฝ่ายจะสู้กันด้วยการเมือง การทูต การทหาร เศรษฐกิจ สังคมและยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทุกรูปแบบ และดูเหมือนว่า ณ เวลานี้ทั้งสองฝ่ายกำลังเผชิญหน้า ท้าทาย ตอบโต้กันไปมาด้วยวิธีคิดแบบ Zero-Sum Game ในสภาวะนี้ จะไม่มีฝ่ายใดยอมถูกมองเป็นฝ่ายแพ้ เป็นผู้อ่อนแอ อย่างน้อยโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ต้องการชัยชนะเพื่อผลในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ขณะที่กระแสชาตินิยมในจีน จะทำให้สี จิ้นผิงไม่อาจยอมให้เกิดภาพเป็นฝ่ายถูกกระทำย่ำยีจากตะวันตกได้เช่นในอดีต ศึกครั้งนี้จึงอีกยาวไกล

ผู้รู้ทางทหารเรียกการแข่งขันนี้ว่า สงครามแบบผสม (Hybrid War) ที่สู้กันซับซ้อนหลายชั้นหลายมิติ ทั้งทำสงครามการค้า/สงครามเศรษฐกิจ สงครามการเมือง/ภูมิรัฐศาสตร์ การทหาร การชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี สงครามข้อมูลข่าวสาร สงครามไซเบอร์ สงครามจิตวิทยา ไปจนถึงการแทรกแซงการเลือกตั้งของอีกฝ่าย ฯลฯ นักทฤษฎีบอกว่า ชัยชนะของสงครามแบบนี้ชี้ขาดกันที่เทคโนโลยีชั้นสูง นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่สหรัฐ เล่นงาน Huawei และโจมตีนโยบายพัฒนาเทคโนโลยี Made in China 2025 ของจีน
นอกจากนั้น การต่อสู้ยังมีลักษณะความขัดแย้งแข่งขันระหว่าง “ตัวแบบอเมริกัน” (ทุนนิยม/เสรีนิยม) กับ “ตัวแบบจีน” (อำนาจนิยม/ทุนนิยมโดยรัฐ) ชิงกันเป็นต้นแบบกำหนดระเบียบอุดมการณ์/ค่านิยมทางเศรษฐกิจการเมืองโลกต่อไป

ยิ่งกว่านั้น ในท่ามกลางการเผชิญหน้าที่มีศึกการค้าเป็นแนวรบ ยังเกิดปรากฏการณ์ดราม่า สงครามวาทศิลป์ (war of words) การปลุกปฏิกิริยาชาตินิยม จนบางฝ่ายเห็นว่า ความขัดแย้งคืบเข้าใกล้การปะทะระหว่างอารยธรรม (Clash of Civilization) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะมีผลสร้างความเกลียดชังต่อกันในระดับประชาชนไปยาวนาน อย่างน้อยคาดได้ว่า ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ในสหรัฐ จีนจะตกเป็นเป้าโจมตีจากทั้งสองพรรคใหญ่เพื่อเรียกคะแนนนิยม

ความขัดแย้งครั้งนี้ จึงส่อเค้าก่อตัวเป็นสงครามเย็นรอบใหม่ (New Cold War)

“Outside Power” vs “Revisionist Power” : ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง?

ในสถานการณ์ซับซ้อนทางยุทธศาสตร์ การเลือกข้าง คือความล้มเหลวตั้งแต่ต้น แต่จะกำหนดตำแหน่งตัวเองอย่างไร และจะทำอย่างไรถ้าไม่เลือกข้าง จะไม่กลายเป็นการสร้างความขุ่นเคืองแก่ทั้งสองฝ่าย

แม้ที่ผ่านมาทั้งจีน และสหรัฐ ต่างมีโวหารว่า ไม่ต้องการให้ใครเลือกข้าง แต่ในความเป็นจริง การที่สหรัฐมีท่าทีเปิดเผยว่าต้องการปิดล้อม สกัดกั้นการผงาดขึ้นของจีน (Rise of China) และกดดันให้จีนถอยร่น (pushback) 360 องศา พร้อมกับเรียกจีนว่า รัฐปฏิกิริยาป่วนระเบียบโลกที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของสหรัฐ (“Revisionist Power”) นั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะขาดแรงหนุนของระบบและเครือข่าย “พันธมิตร และหุ้นส่วน” โดยในพื้นที่อินโด-แปซิฟิก สหรัฐ มีเพื่อนมิตรที่คอยเกื้อหนุนทั้งเต็มที่และอาจไม่ค่อยเต็มที่ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส อินเดีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา เป็นต้น

ขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงอยู่ในระหว่างจัดแถวแนวร่วม (realignment) ครั้งใหญ่ โดยมีการรวมตัวของพันธมิตรกลุ่ม QUAD (สหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างเครือข่าย “สถาปัตยกรรมความมั่นคง” ใหม่ในภูมิภาคในฝั่งสหรัฐ ส่วนในฝ่ายจีนนั้น การไปเยือนรัสเซียของสี จิ้นผิง เมื่อ 5-7 มิถุนายน ส่อเค้าลางว่าทั้งสองฝ่ายอาจจับมือกัน ซึ่งจะทำให้ดุลทางยุทธศาสตร์ซับซ้อนยิ่งขึ้นอีก

เราจะวางตัวอย่างไรภายใต้ความกดดันจากทั้งสองฝ่าย ถ้าไม่เลือกข้างเราจะวางตัวอย่างไร?

นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2558-2564 นโยบายที่ 16 ข้อ 16.8 กล่าวว่า ประเทศไทยจะ “รักษาดุลยภาพในการดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศ โดยมีจุดยืนและท่าทีที่เหมาะสม ที่เอื้อต่อการแสวงประโยชน์ร่วมของไทยกับประเทศต่างๆ และไม่ให้ตกอยู่ท่ามกลางความตึงเครียดของการแข่งขันอิทธิพลหรือการรักษาผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันของมหาอำนาจ”

นโยบายฟังรื่นหูทางภาษา แต่ยากในทางปฏิบัติ คงไม่มีประเทศใดหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกอยู่ท่ามกลาง “ความตึงเครียด” “การแข่งขันอิทธิพล” และ “ผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน” ของมหาอำนาจได้ คงไม่มีใครลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวงได้ และคงยากที่ใครจะรักษา ดุลยภาพ (equilibrium) ที่เที่ยงตรงเป็นตาชั่งดิจิทัลได้อย่างแท้จริง

ในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา แม้ไทยแสดงท่าทีรักษาสมดุลกับมหาอำนาจ แต่ในสายตานักสังเกตการณ์จำนวนมาก เห็นว่าไทยได้ใช้นโยบายหันเข้าหาจีน ใช้จีนเป็นหลังพิงทางการเมืองเพื่อลดแรงกระแทก และแรงกดดันของตะวันตก นำไปสู่ความร่วมมือใกล้ชิดกับจีนทุกทาง ทั้งเศรษฐกิจ การลงทุน การทหาร การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ โครงการรถไฟความเร็วสูง การศึกษา วัฒนธรรม ฯลฯ โดยการซื้อเรือดำน้ำ

หากจะสร้างสมดุล รักษาระยะระหว่างทั้งสองฝ่าย นี่ควรเป็นช่วงเวลาปรับระดับความร่วมมือกับสหรัฐให้เป็นปกติ หลังจากแนวโน้มดีขึ้นในยุครัฐบาลทรัมป์ และการเยือนของนายกรัฐมนตรีในปี 2560 ต้องไม่ลืมว่า สหรัฐเป็นพันธมิตรทางความมั่นคงตามสนธิสัญญา Manila Pact 1954 ไทยเป็นพันธมิตรนอกนาโต (major-non NATO ally) ต้องไม่ลืมว่าสหรัฐยังคงเป็นผู้นำด้านความมั่นคงที่เข้มแข็งที่สุดของโลก เป็นผู้นำเทคโนโลยีชั้นสูง มีบทบาทนำในประเด็นปัญหาข้ามชาติระดับโลก เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย การเผชิญภัยพิบัติ สุขภาพโลก ฯลฯ ซึ่งหลายมิติจีนยังไม่อาจทดแทน จึงถึงเวลาที่ไทยจะปรับฟื้นสัมพันธ์กับสหรัฐ ให้ใกล้ชิดดังเดิม โดยในด้านการทหารนั้น รวมทั้งการกลับเข้าร่วม IMET (International Military Education and Training) การฝึกร่วม Cobra Gold แบบจัดเต็ม และอาจรวมการจัดหาทางทหารที่สหรัฐ เปิดทางให้ใหม่หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ไทยควรใช้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์ Indo-Pacific Strategy ที่หากวัดกันด้วยวงเงินงบประมาณยังไม่อาจเทียบ BRI ได้ แต่ขณะก็นี้กำลังเติบใหญ่ขึ้น โดยเน้นเข้าร่วมในโครงการด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา เช่น ในด้านพลังงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงทางดิจิทัล และความมั่นคงทางไซเบอร์ (สหรัฐตั้งเป้าหมายจะระดมเงินลงทุนภาคเอกชนหกหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่นลงทุนเบื้องต้น ห้าหมื่นล้านดอลลาร์)

ทั้งนี้ โดยยังคงยึดความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality)

สงครามเย็นรอบใหม่หากเกิดขึ้น จะไม่เหมือนรอบเก่าที่แบ่งขั้วแบ่งค่ายกันชัดเจน มี “ศัตรูร่วม” เป็นแรงจูงใจในการต่อสู้ สงครามเย็นรอบใหม่จะไม่มีมิตรและศัตรูแน่ชัด มีแต่ “frenemy” เป็นทั้งมิตรและศัตรูคู่แข่งไปในเวลาเดียวกัน

ข่าวดีคือ สงครามเย็นรอบใหม่จะมีพื้นที่ความร่วมมือจีน-สหรัฐ อยู่อีกมากจากการที่เศรษฐกิจการค้า การเงินของทั้งคู่ พึ่งพาเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันสูง (นักประวัติศาสตร์ Nial Ferguson เรียกความสัมพันธ์นี้ว่า Chimerica) จึงมีพื้นที่ยืดหยุ่นทางยุทธศาสตร์ให้เล่น ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง

สงครามเย็นสหรัฐ-โซเวียต กินเวลา 40 ปี ก่อนโซเวียตล่มสลาย ในสงครามเย็นรอบใหม่หากดูจากขีดความสามารถของทั้งสองฝ่าย อาจกินเวลานานกว่านั้น ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน จะเลือกทางใด คือคำถามง่ายๆ ที่ตอบได้ยาก คือคำถามใหญ่ที่ต้องเตรียมคำตอบ ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีโรดแมปใหม่ เพื่อการเดินทัพทางไกลอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางหลายพันไมล์หรือหลายหมื่นลี้ก็ตาม

ดร.ชัยยงค์ สัจจิพานนท์
อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image