ที่เห็นและเป็นไป : ‘อำนาจ’ ในมุมรัฐบาล : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

หากตรวจสอบความรู้สึกนึกคิดของผู้คนต่อรัฐบาล ผ่านช่องทางต่างๆ ที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มสามารถใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเฉพาะในแวดวงสนทนา หรือในสื่อทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ที่ใช้กันกว้างขวาง

ความเห็นที่มีต่อรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่เปิดออกมา ไม่มีความคิดที่ให้น้ำหนักต่อความน่าเชื่อถือศรัทธาอะไร

ออกจะไปในเชิงของความคิดที่ว่า “ตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐบาลมา ไม่ว่าจะจากการเลือกตั้ง หรือจากการยึดอำนาจ ไม่มีที่บอกว่ารายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดนี้ดีกว่ารัฐบาลชุดไหนในอดีตที่ผ่านมา”

โดยเฉพาะในเชิงคุณภาพที่แสดงถึงความรู้ความสามารถที่พอจะเป็นความหวังสำหรับอนาคตของประเทศได้

Advertisement

และหากตรวจสอบอย่างยอมรับความจริง จะพบว่ามุมมองในเชิงเป็น “คณะรัฐมนตรี” นี้ เป็นความคิดที่ข้ามสี ข้ามความแตกแยกไปแล้ว

ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่าย ที่เป็นกลุ่มคนซึ่งมีความเห็นขัดแย้งกันมาในทุกเรื่อง จะมองเห็นคุณภาพคณะรัฐมนตรีไปในทางเดียวกันคือ “ควรจะแต่งตั้งได้ดีกว่านี้”

ที่น่าสนใจคือ ความเห็นทั้งสองฝ่ายมีบทสรุปไปในทางเดียวกัน คือ “ปล่อยให้เป็นไป”

Advertisement

เพียงแต่ที่มาของบทสรุปนั้นไม่เหมือนกัน

ฝ่ายที่ยืนอยู่เคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้การสนับสนุนมาแต่ต้น แม้จะแสดงความผิดหวัง แต่ไม่ได้แสดงอาการต่อต้านอะไร

ทุกคนแสดงออกถึงความเข้าใจว่าทำได้ดีที่สุดแค่นี้ สำหรับโครงสร้างทางการเมืองที่แม้จะบั่นทอนอำนาจนักการเมืองอาชีพ แต่ที่สุดแล้ว เพื่อประคับประคองอำนาจจำเป็นต้องทำใจยอมรับ

ส่วนฝ่ายที่ยืนอยู่คนละฝั่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ เห็นรายชื่อคณะรัฐมนตรีแล้วพากันหัวเราะ เพราะเชื่อว่าภาพที่ไร้คุณภาพเหล่านี้จะกระทำต่อรัฐบาลชุดนี้ในมุมที่ไม่ดีนัก แค่รอจังหวะชี้ให้เห็นความเลวร้าย และนำเสนอสิ่งที่ดีกว่า

เวลาจะเป็นคำตอบในใจประชาชนเอง

หากประเมินจากความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ดูคล้ายกับว่า “ความมั่งคง” หรือ “เสถียรภาพ” ของรัฐบาลน่าจะมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น

ความคิดเช่นนี้นำเสนอกันอยู่ทั่วไป

โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านความขัดแย้งวุ่นวายในช่วงแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรี ทั้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และภายในพรรคเดียวกัน

เป็นภาพของคณะรัฐมนตรีที่ก่อความรู้สึกว่า ไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่ร่วมกันได้

ทว่าหากมองผ่านความคิดความเห็นของคนวงในรัฐบาล โดยเฉพาะที่ยืนอยู่ในหัวขบวนของศูนย์อำนาจ จะพบว่ามีความมั่นใจมากว่าจะเป็นรัฐบาลที่อยู่ได้อย่างมั่นคง ไม่มีอะไรที่จะมาสร้างความกระทบกระเทือนได้

คนที่อธิบายสภาวะที่ก่อความมั่นใจได้ชัดคือ “วิเชียร ชวลิต” ที่อยู่ร่วมกับ คสช.มาแต่เริ่ม

เป็นการกล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ทิศทางการเมืองภายใต้รัฐบาลใหม่ : การเมืองของความหวังหรือจุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งใหม่” ทำนองที่ว่า สภาผู้แทนราษฎรที่เคยเป็นศูนย์รวมอำนาจทางการเมืองในอดีต ถึงวันนี้ที่รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นตัวกำหนด มันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว อำนาจไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร

เช่นเดียวกับที่ “วิษณุ เครืองาม” ผู้มีหน้าที่อธิบายกติกาประเทศ ที่บอกทำนองว่า “วุฒิสมาชิกไม่เกี่ยวกับประชาชน จึงไม่ต้องประกาศคณะกรรมการสรรหา”

ทั้งที่ “ส.ว.” มีบทบาทสูงยิ่งในโครงสร้างอำนาจ แต่กลับถูกกำหนดให้ไม่ต้องเชื่อมโยงกับประชาชน

และนี่ดูจะเป็นคำตอบ

การมองว่ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพนั้น เป็นการมองจากมุมเดิมๆ ที่เคยชินมาว่า “อำนาจอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร” จึงต้องฟังความรู้สึกนึกคิดของประชาชน

ซึ่งปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว

ศูนย์รวมอำนาจมาอยู่ที่ “องค์กรที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน”

ประชาชนไม่มีความหมายในกลไกอำนาจเท่ากับบารมีของผู้ทำการแต่งตั้งกลไกเหล่านั้น

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image