โจทย์ใหญ่ รบ.บิ๊กตู่ เปิดศึก ‘คนรุ่นใหม่’ กองหนุน อนค.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับเสียงสนับสนุน 500 เสียงจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เรื่องแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ดำเนินการคือการเคลียร์ตำแหน่งรัฐมนตรีที่จะมาร่วมบริหารประเทศ

เบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ขอให้ทุกฝ่ายหยุดการต่อรอง แต่ดูเหมือนว่าการต่อรองยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ทั้งการต่อรองภายในพรรคพลังประชารัฐ การต่อรองระหว่างพรรคการเมืองขนาดเล็กกับพรรคพลังประชารัฐ การต่อรองในพรรคประชาธิปัตย์กันเอง

Advertisement

และอื่นๆ

ล่าสุดมีกระแสข่าวระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนการจัดตั้งรัฐบาลที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จะเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร

จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าพรรคแทน นายอุตตม สาวนายน

Advertisement

จะให้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐเป็นเลขาธิการพรรคแทน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เดิมมีข่าวว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขอไปรับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค

และหลังจากกระแสข่าวแพร่ออกไป นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้ความเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นได้ แต่เสี่ยงต่อคดีความ หากพรรคพลังประชารัฐต้องคดีอะไร หัวหน้าพรรคย่อมยากที่จะหลีกเลี่ยง

แต่ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีตัวเลือกน้อย

ทุกอย่างต้องลงมือดำเนินการเอง

พล.อ.ประยุทธ์ตัดลงมือจัดการเกี่ยวกับโควต้ารัฐมนตรีระหว่างพรรค และจัดการเลือกตำแหน่งรัฐมนตรีภายในพรรคพลังประชารัฐเอง

ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ใช้กลไกของพรรคดำเนินการ แต่ดูเหมือนว่ามรสุมที่กระหน่ำเพื่อต่อรองเก้าอี้ยังคงรุนแรง

4 อดีตรัฐมนตรีที่ถูกขนานนามว่า 4 กุมาร เมื่อไม่ได้มีสถานะเป็น ส.ส. จึงขาดน้ำหนักในการต่อรองกับกลุ่มก้อน ส.ส.ภายในพรรค

จะมีก็แต่ พล.อ.ประยุทธ์ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ เท่านั้นที่มีสิทธิเต็มกำลัง

และนี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลงมานั่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเอง
รวมทั้งต้องดันให้ พล.อ.ประวิตร มานั่งดูแลความเรียบร้อยให้ด้วย

ณ ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลงมือดำเนินการทุกอย่างด้วยตัวเอง

การจัดการปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาลนั้น พล.อ.ประยุทธ์จำเป็นต้องดำเนินการไปตามลำดับ ขณะที่การเมืองฟากฝ่ายตรงกันข้ามก็ทวีความเข้มแข็งขึ้นทุกวัน

ในจังหวะที่พรรคร่วมรัฐบาลกำลังต่อรองเก้าอี้กันอย่างหนัก มีกระแสข่าวความขัดแย้งกันทุกวัน ปรากฏว่า 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านกลับมีความเป็นปึกแผ่นมากขึ้น

พรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ ยืนยันว่าการทำหน้าที่ตรวจสอบในสภาจะเข้มข้น

เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลที่รวมเสียงกันแล้วมีจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเพียงเล็กน้อย ปัญหาเรื่องการนับองค์ประชุมย่อมมีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ทุกอย่างล้วนเป็นการบ้านของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ให้คลี่คลายลงไป

แม้ในสัปดาห์หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เป็นนายกฯ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเลื่อนการประชุมสภาออกไป อ้างว่าไม่มีวาระ

แต่การประชุมสภาในช่วงเปิดสมัยประชุมนี้ ย่อมมีขึ้นในสัปดาห์ต่อๆ ไป

และเมื่อใดที่สภาเปิด เมื่อนั้นบรรดาฝ่ายค้านย่อมทำหน้าที่

ใช้สภาเป็นเวทีซักฟอกรัฐบาล

ในบรรดาพรรคร่วมฝ่ายค้าน น่าสังเกตว่าดาวเด่นในสภาไม่ใช่พรรคเพื่อไทยที่ถูก คสช. ยึดอำนาจไปเมื่อปี 2557
พรรคเพื่อไทยในขณะนี้กลายเป็นพรรคที่ต้องแสวงหา “ผู้นำ” และต้องประคับประคองสถานภาพของตัวเอง การยืนหยัดต่อสู้ทางการเมืองมาหลายปีติดต่อกัน ย่อมมีผลต่อพละกำลังในการต่อสู้กับฟากฝั่ง คสช.

ผิดกับ พรรคอนาคตใหม่ ที่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้า มี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ที่มีแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองที่แตกต่างจาก “เพื่อไทย”

พรรคอนาคตใหม่ได้รวบรวม “คนรุ่นใหม่” ที่มีแนวคิดการเมืองคล้ายคลึงกัน และพยายามนำเสนอแนวคิดนั้นให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

การนำเสนอของสมาชิกพรรคอนาคตใหม่จึงตรงไปตรงมา และเรียกเสียงสนับสนุนจาก “คนรุ่นใหม่” ทั่วประเทศได้เยอะ

ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงแรงสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่

พลังโซเชียลที่มีปฏิกิริยาต่อนายธนาธร นายปิยบุตร น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค รวมถึงสมาชิกพรรคอนาคตใหม่นั้นมีนัยยะ

เป็นนัยยะจาก “คนรุ่นเก่า” ที่ฝากความหวังการเปลี่ยนแปลงกับ “อนาคตใหม่”

เป็นนัยยะจาก “คนรุ่นใหม่” ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการเมือง “แบบเก่า” ให้กลายเป็การเมือง “แบบใหม่”

ณ บัดนี้ อนาคตใหม่จึงกลายเป็นโจทย์ข้อใหญ่

เป็นการบ้านใหม่ของ คสช.

ยิ่งเมื่อเปิดเทอมใหม่ นักเรียนในจังหวัดต่างๆ หยิบยกเอาเหตุการณ์การเมืองมาจัดทำเป็นพานไหว้ครู ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า “คนรุ่นใหม่” เริ่มใส่ใจการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นพานที่เป็นรูปรถถัง พานที่เป็นรูปรัฐธรรมนูญ พานที่เป็นรูปชู 3 นิ้ว

หรือพานที่เป็นตราสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่

ทุกจังหวะคือความเคลื่อนไหวของ “คนรุ่นใหม่” ที่มีความคิดความอ่าน

ประเด็นคือ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ คสช. ยังมองว่าเป็น “ภัยความมั่นคง” เหมือนเดิมหรือไม่

การดำเนินการกับพรรคอนาคตใหม่จะใช้กลวิธีเหมือนกับที่เคยใช้กับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยหรือไม่

ใช้สังคมโซเชียลปลุกความเกลียดชัง ใช้กฎหมายขจัดคนเห็นต่างออกจากสังคม ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ไป “ปรับทัศนคติ”

รวมทั้งใช้วิธีการยึดอำนาจ

น่าสังเกตว่าวิธีการเหล่านี้เคยใช้กับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยมาแล้ว

ผลที่เกิดขึ้น คือ พรรคเพื่อไทยอาจจะเงียบสงบลง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการงอกเงยจาก “คนรุ่นใหม่” ที่เป็นคนหนุ่มสาว

เป็นเยาวชน

นี่คือความท้าทายที่เป็นโจทย์ใหม่และเป็นโจทย์ใหญ่ของ คสช.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image