นวัตกรรม‘พานไหว้ครู’ และวัฒนธรรมการล้อเลียน : โดย ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง

กิจกรรมไหว้ครูของนักเรียนที่เคยชื่นมื่น ซาบซึ้ง น้ำหูน้ำตาไหลกันทั้งครูและศิษย์ มาปีนี้สร้างความสนใจให้แก่สังคมนอกรั้วโรงเรียน และสังคมการเมืองได้ไม่น้อย เมื่อเด็กนักเรียน “ผุด” พานไหว้ครูล้อการเมืองออกมาให้ได้เห็นได้ชมพร้อมๆ กันหลายโรงเรียน โดยไม่ได้นัดหมาย

เด็กวัยมัธยม ทั้งช่วงมัธยมต้นและมัธยมปลาย ตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการ (Development Psychology) คือคนที่อยู่ในช่วงอายุ 12-18 ปี เป็นพัฒนาการในช่วงวัยรุ่น วัยนี้มีพลังสร้างสรรค์ในตัวมากมาย บุคลิกภาพของเขาได้รับการหล่อหลอมจากพันธุกรรม (Heredity) และสิ่งแวดล้อม (Environment) พันธุกรรมนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนมาก คนที่เรียนวิชาชีววิทยาพื้นฐานอธิบายได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น นักจิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychology) ให้สนใจมากกว่าพันธุกรรม ถ้าจะให้จำแนกว่าสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ที่มีชีวิตมาตั้งแต่ปฏิสนธิ จนกระทั่งตายนั้นมีอะไรบ้าง ก็พอยกตัวอย่างเฉพาะที่สำคัญๆ เช่น สภาพแวดล้อมขณะอยู่ในครรภ์มารดา การอบรมเลี้ยงดูในครอบครัว ระบบโรงเรียน สภาพแวดล้อมทางสังคม (เช่น การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมทั้งวัฒนธรรมทางวัตถุ และไม่ใช่วัตถุ สื่อมวลชน ศิลปะ สถาบันศาสนา สถานที่ทำงาน เป็นต้น) รวมทั้งการเรียนรู้ (Learning) ของปัจเจกบุคคลนั้นๆ

กรณีของ “พานไหว้ครูล้อการเมือง” นั้น ผู้เขียนคิดว่าเป็นหลักฐาน (Evidence) ของหลักการข้างต้น กล่าวคือ การที่เด็กนักเรียนผลิตพานไหว้ครูได้อย่างนี้ เกิดจากความสามารถทางสมองที่ส่วนหนึ่งได้มาจากพันธุกรรม อีกส่วนหนึ่งได้จากการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมองส่วนที่มีหน้าที่เรื่องการคิด ส่วนเนื้อหา (Content) ของพานไหว้ครูที่ออกมาในแนวล้อการเมืองนั้น แน่นอน นักเรียนได้มาจากผลของการรับรู้ (Perception) ที่เกิดจากการเรียนรู้ทางสังคม ทั้งเรื่องสภาพการเมืองปัจจุบัน และวัฒนธรรมการล้อเรียนที่มีอยู่แล้วในสังคม

Advertisement

ถ้านักเรียนไม่สนใจการเมือง เขาก็ไม่มีเนื้อหาทางการเมือง ถ้าสังคมของเราไม่มีวัฒนธรรมการล้อเลียน นักเรียนของเราก็น่าจะขาด “ตัวแบบ” ทางความคิดที่จะนำมาลอกเลียน

อันที่จริง การล้อเลียน (Parody) เป็นการแสดงออกทาง “อารมณ์ขัน” ของศิลปะที่ได้รับความนิยมกันมาทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากมีจุดหมุ่งหมายเพื่อสร้างความสนุกสนานเป็นหลัก นอกจากนั้นมีจุดมุ่งหมายให้การล้อเลียนเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่กระตุ้นให้ “หันกลับ” ไปเพ่งพินิจต่อสิ่งที่ถูกล้อเลียนอีกครั้งว่าสามารถเป็นเครื่องมือที่จะถ่ายทอดความคิดและอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ผู้สร้างงานตั้งจุดมุ่งหมายไว้ได้หรือไม่ ประการใด

ในกระบวนการล้อเลียนนั้น เนื้อหา (Contents) ดั้งเดิมของตัวแบบมักจะถูกถอดออกไปส่วนหนึ่ง และบรรจุ เนื้อหาใหม่ที่เกี่ยวข้องกับกับเนื้อหาเดิม หรือบางครั้งก็ขัดแย้งกับเนื้อหาเดิม แต่รูปแบบ (Form) ของตัวแบบยังคงอยู่ กล่าวคือเนื้อหามักถูกผสมปนเปกันจนเกิดเป็นลักษณะผิดฝาผิดตัวบ้าง จับแพะชนแกะบ้าง จนเนื้อหากลายเป็นสิ่งสร้างอารมณ์ขัน บางครั้งแม้ดูเป็นเรื่องการเสียดสี (Satire) แต่ก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เจ็บแสบหรืออับอายแต่ประการใด

ในทางทฤษฎี ชุดความคิดความเชื่อที่ถูกล้อเลียนมักจะถูกเบี่ยงเบนแนวคิดหลักไป จนความน่าเชื่อถือของชุดความคิดความเชื่อนั้นสั่นคลอน หน้าตาของชุดความคิดที่เกิดขึ้นใหม่จึงอาจจะดูเพี้ยนๆ (Absurd) หรือขาดความสมเหตุสมผลไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร เนื่องจากมันเป็นการล้อเลียน

กรณี “พานไหว้ครูล้อการเมือง” ของนักเรียน เราสามารถพบเจอว่า ดอกไม้ ธูปเทียน (อาจจะรวมถึง ดอกเข็ม ดอกมะเขือ หญ้าแพรก) ก็ยังอยู่ เพิ่มเติมส่วนที่เป็นประเด็นทางการเมืองปัจจุบันเข้าไป

หากจะกล่าวถึงต้นแบบศิลปกรรมล้อเลียนของไทยที่คนไทยนึกถึงเป็นเรื่องแรกก็คือระเด่นลันได ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อล้อเลียนเรื่องอิเหนาที่ทั้งฉาก ทั้งตัวละคร และทั้งวัฒนธรรมต่างๆ ล้วนแต่เป็นกษัตริย์และบริวาร มาเป็นละเด่นลันไดวณิพกสีซอขอทาน ฝ่ายนางเอกก็เป็นนางประแดะหูกลวงดวงสมร ภรรยาของท้าวประดู่ภูธรคนเลี้ยงวัว

หลังจากเข้าสู่ยุควรรณกรรมร่วมสมัย (Contemporary Literature) แล้ว วรรณกรรมที่เข้าข่ายของวรรณกรรมล้อเลียนก็มีปรากฏอีกหลายเรื่อง เช่น นวนิยายเรื่องไผ่ตัน ของสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ล้อเลียนนวนิยายเรื่องไผ่แดงของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บทละครร้อยแก้วชื่อ “สังข์ทองตอนตีกอล์ฟ” ของฮิวเมอร์ริสต์ ซึ่งเป็นนามปากกาของ อบ ไชยวสุ ที่แต่งเพื่อล้อเลียน “สังข์ทองตอนตีคลี” ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 นวนิยาย “อยู่กับโก” ของ หยอย บางขุนพรหม ที่ล้อเลียนนวยิยาย “อยู่กับก๋ง” ของหยก บูรพา นวนิยายเรื่อง “เพ็ชรพระอุแหม่” ของนายขนมเทียนที่เขียนเพื่อล้อเลียนนวนิยาย “เพชรพระอุมา” ของพนมเทียน เป็นต้น

ที่เป็นร้อยกรองก็มี เช่น มะเนาะ ยูเด็น แต่งร้อยกรองชื่อ “ห้าร้อย” (ไม่เกี่ยวอะไรกับสมาชิกรัฐสภาที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีนะครับ) เพื่อล้อเลียนแนวการแต่งร้อยกรองของกวีที่มื่อชื่อเสียงในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อุชเชนี ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นต้น และไพบูลย์ วงษ์เทศ เขียน “ฉันจึงมาหาความหงอย” วรรณอำร่วมสมัย ล้อเลียนลีลาการแต่งวรรณกรรมของนักเขียนและกวีชั้นยอดของเมืองไทย ทั้ง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เสถียร จันทิมาธร จ่าง แซ่ตั้ง เป็นต้น

การล้อเลียนของวรรณกรรมแปลแนวปรัชญาที่มุ่งให้ผู้อ่านแสวงหาตัวตนที่แท้จริงของตนเองเรื่องลือลั่นคือโจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล ของริชาร์ด บาก ที่กล่าวถึงการแสวงหาตัวตนที่แท้จริงหรือศักยภาพที่แท้จริงของนกนางนวลโจนาธานว่านกนางนวลก็สามารถบิน (ทิ้งดิ่ง) ได้รวดเร็ว อาจจะบินได้เร็วกกว่านกอินทรีย์ด้วยซ้ำ ก็ถูกล้อเลียนโดยเรื่อง ลุดวิก ฟอน วูล์ฟแกง : อีแร้ง ที่เขียนโดย ดอล์ฟ ชาร์ฟ แปลโดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เช่นเดียวกัน ที่ให้ตัวเอกเป็นนกอีแร้งไม่พอใจที่จะกินซากศพ แต่อยากอ่านหนังสือออกแบบคน พออ่านหนังสือออกก็อยากให้เพื่อนในฝูงอ่านหนังสือบ้าง

ในแวดวงของกิจกรรมนักเรียนนักศึกษา ผู้เขียนก็เคยเห็นแต่การล้อการเมืองของขบวนพาเหรดกีฬาประเพณีฟุตบอลประจำปีของชาวจุฬา-ธรรมศาสตร์ เพิ่งจะได้เห็นของผู้เรียนระดับมัธยม ก็พานไหว้ครูปีนี้แหละ

การล้อเลียนจึงเป็นเครื่องมือทางศิลปะที่มุ่งเน้นความสนุกสนานและ และการ “หยอกล้อ” กันตามนิสัยมนุษย์ โดยเฉพาะคนไทย นอกจากสร้างความสนุกสนานแล้ว ยังเป็นสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น ระเด่นลันได ต้นตำรับวรรณกรรมล้อเลียนของชาติไทยกลายเป็นวรรณคดีมรดกที่มีคุณค่า ทำไมคนไทยรุ่นปู่ย่าตายายติดอกติดใจหนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผนจนอ่านกันทั้งบ้านทั้งเมืองเหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือมันไม่ใช่เรื่องในราชสำนัก นี่คือนวัตกรรม เนื่องจากมันหลุดออกจาก “ขนบ” (เสียบ้าง) การเล่าเรื่องละเด่นลันไดและนางประแดะของพระมหามนตรี (พรัพย์) การเล่าเรื่องความรักของขุนช้างขุนแผน และนางวันทอง จึงเป็นการเปิด “พื้นที่” ของคนชายขอบมาเล่าสู่กันฟัง แทนที่จะเล่าอยู่แต่เรื่องราวของมนุษย์ในสังคมชั้นสูง เราอย่าลืมนะครับว่าคนชายขอบยังเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเรา

อนึ่ง ผู้เขียนยังมั่นใจว่าทักษะการคิด (Thinking Skills) ของเยาวชนไทย โดยภาพรวม ยังเป็น “จุดอ่อน” ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิดวิเคราะห์ ที่อาจจะเรียกอีกอย่างว่า การคิดเชิงวิพากษ์ หรือการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) การคิดสังเคราะห์ (Synthetic Thinking)

การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ดูจากตัวชี้วัดการประกันคุณภาพการศึกษาของการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ได้ ทักษะการคิดวิเคราะห์ หรือการคิดอย่างมีวิจารณญาณได้รับการกำหนดไว้ เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่สถานศึกษาต้องพัฒนานักเรียนให้บรรลุตามเกณฑ์ที่กำหนด แม้เราจะมีเด็กส่วนหนึ่งที่มีทักษะการคิดเป็นเลิศ ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ มากมายก็ตาม

การที่เยาวชนเราได้คิด และได้สร้างสิ่งประดิษฐ์ หรืออาจจะเรียกว่านวัตกรรม (Innovations) เพื่อเป็นสื่อแทนระบบคิดของเขา อันที่จริงพวกเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ควรจะ “ดีใจ” ที่เด็กของเราสนใจการบ้านการเมือง และสะท้อนออกมาเป็นพานไหว้ครูของเขา เนื้อหาที่เป็น “การเมือง” จะเหมาะสมหรือไม่เหมาะ (ตามความคิดของผู้รับรู้แต่ละคน) ก็ไม่เป็นไรมิใช่หรือ

ดีกว่าเด็กของเราไม่สนใจการเมือง และไม่สนใจการฝึกทักษะการคิด ไม่ว่าคิดเชิงวิพากษ์ คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ และคิดสร้างสรรค์

ผู้เขียนยังเชื่อว่า พานไหว้ครูล้อการเมืองของนักเรียนมีประโยชน์ในด้านการ “ใช้เป็นข้อมูล” เพื่อประเมินว่าเด็กของเราคิดได้ “สร้างสรรค์” หรือไม่ ในการประเมินชิ้นงานของนักเรียน มันจะไปยากตรงไหน ความคิดไหนดีก็ชื่นชม ส่งเสริม ให้กำลังใจ ความคิดไหนไม่ดีก็ชี้แนะ บอกกล่าว เขาเป็นนักเรียน เขารอ “วิทยาทาน” จากผู้ใหญ่ และครู ภารกิจการบอกกล่าว ชี้ถูกผิด แก่เยาวชนเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของพวกเรา เยาวชนของเราจะเป็นกองกำลังทางสติปัญญาให้แก่ประเทศชาติของเราต่อไป ประเทศชาติของเราจะรอดหรือไม่รอด เราต้องตั้งความหวังไว้กับเยาวชนด้วย

สิ่งที่ “อันตราย” คือ ใช้อารมณ์ “อคติ” ของเรา ตัดสินระบบคิดของเยาวชน โดยขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เราต้องไม่ลืมว่าผู้ใหญ่ในสังคม เป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมของเยาวชน โดยความหมายคือ ส่วนหนึ่งเยาวชนเขาก็เรียนรู้จากเรา.

ขอย้ำว่าการล้อเลียนทางศิลปะ หรือสิ่งสร้างสรรค์นั้น มีวัตุประสงค์เพื่อ “ให้อารมณ์ขัน” แก่ผู้รับรู้เป็นหลัก ดังนั้น หลักการตอบสนองต่อการล้อเลียนก็มีอยู่ง่ายๆ แบบทวนโจทย์ว่า ถ้าหัวเราะไม่ออกก็เพ่งพินิจต่อสิ่งที่ถูกล้อเลียนอีกครั้งว่ามันเป็นอยู่อย่างไร

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง
คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image