พานไหว้ครู โดย ปราปต์ บุนปาน

มีเรื่องชวนคิด-เขียนต่อจากปมวิวาทะ “พานไหว้ครู 2562” อยู่ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “โรงเรียน” นั้นถือเป็นแหล่งเรียนรู้ “การเมือง” หรือ “ความสัมพันธ์ทางอำนาจ” ขั้นพื้นฐาน แห่งแรกๆ ของมนุษย์แทบทุกราย

ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในโรงเรียน มิได้มีแค่สายสัมพันธ์ฉันมิตรสหาย หากยังเป็นสนามปะทะสังสรรค์ของความแตกต่างว่าด้วยสถานภาพทางสังคม-เศรษฐกิจ, กายภาพ ตลอดจนความรู้-ความสามารถ-ลักษณะนิสัย-เพศสภาพ เป็นต้น

เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ซึ่งทุกๆ “การประเมินผล” ในระบบการเรียนการสอน ย่อมมี “การเมือง” แฝงอยู่

Advertisement

ไม่ใช่แค่เรื่องการประเมินผลนั้นๆ มี “ความยุติธรรม” หรือไม่? แค่ไหน? แต่การประเมินผลยังร้อยรัดกับคุณค่า ความเชื่อ และทัศนคติของครู หรือบรรทัดฐานทางสังคม/ชุดอุดมการณ์ที่ผู้สอน โรงเรียน และรัฐ สมาทานอยู่

ไม่ต้องรวมถึง “ความเป็นการเมือง” อันเกิดจากการที่ครูมีอำนาจลงโทษ และจัดการร่างกาย-ระเบียบวินัยของเด็กๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน

จึงไม่ใช่กรณีแปลกประหลาดอะไร ที่เรื่อง “การเมืองในโรงเรียน” ทำนองนี้ มักถูกนำเสนอออกมาเรื่อยๆ ผ่านพื้นที่วรรณกรรมและภาพยนตร์

Advertisement

รวมทั้งความเรียง ภาพวาด มาจนถึงคลิปวิดีโอจำนวนมากมาย ที่สะท้อนความรู้สึกของตัวเด็กนักเรียนเอง (รุ่นแล้วรุ่นเล่า)

ประเด็นถัดมา ขออนุญาตเจาะจงลงไปยังพิธีกรรมไหว้ครู

แม้ในความหมายหน้าฉากหรือกำหนดการอย่างเป็นทางการ พิธีกรรมนี้คือภาพจำลองของรูปแบบความสัมพันธ์อันเคร่งครัดจากประเด็นแรก โดยมุ่งเน้นที่ความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งศิษย์พึงระลึกถึงและทดแทนครูอาจารย์

ทว่าในมิติแบบไม่เป็นทางการ ทั้งครูและนักเรียนคล้ายจะเข้าใจตรงกันว่าบางด้านของ “งานไหว้ครู” นั้นคือช่วงเวลาแห่ง “การผ่อนคลาย” และ “ข้อยกเว้น”

ดังจะเห็นว่าหลายปี (ทศวรรษ) หลัง รูปแบบความสัมพันธ์ตึงเครียดจากบนลงล่างระหว่างครูกับนักเรียนซึ่งต้องดำเนินไปตลอดปีการศึกษา มักได้รับการ “ปลดปล่อยระบาย” ด้วย “พานไหว้ครู” ที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ จนสามารถเรียกรอยยิ้ม-กระตุ้นเสียงหัวเราะ-กระตุกความคิด ของบรรดาสมาชิกแทบทุกช่วงชั้นในชุมชนโรงเรียนได้

“ความคิดสร้างสรรค์” ที่ได้รับการบรรจุลงใน “พานไหว้ครู” ย่อมหยอกล้อสอดคล้องไปกับ “วัฒนธรรมสมัยนิยม” ณ ห้วงเวลานั้นๆ

ต้องยอมรับว่าขวบปีหรือหลายเดือนที่ผ่านมา สังคมไทยกำลังตื่นตัวเรื่อง “การเมือง” พอดี

และ “คนรุ่นใหม่” จำนวนมากก็กำลังตื่นตัวทาง “การเมือง” ไปพร้อมๆ กัน

ซึ่งมิใช่เรื่องผิดแผกแต่อย่างใด เพราะนักเรียน ม.ปลาย นั้นจวนจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเต็มที

หลายทศวรรษก่อน พลังคนหนุ่มสาวก็มีส่วนผลักดันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ

หรือในยุคบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเต็มใบระหว่างทศวรรษ 2530-2540 เยาวชนวัย 10 กว่าๆ จำนวนไม่น้อย ก็ติดตามข่าวสารบ้านเมืองด้วยความกระตือรือร้น (ไม่ว่าจะในฐานะมหรสพความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง หรือในฐานะเครื่องมือเปลี่ยนผ่านให้พวกเขามีความคิดอ่านเป็นผู้ใหญ่ยิ่งขึ้น)

สาเหตุที่ทำให้นักเรียนยุคนี้หันมาสนใจ “การเมือง” ก็เพราะประตู “ประชาธิปไตย” เพิ่งจะถูกแง้มเปิดขึ้นอีกครั้ง พวกเขาจึงได้มองเห็นหรือสัมผัสจินตนาการความเป็นไปได้ใหม่ๆ หลายประการ

แน่นอน พวกเขาได้ตระหนักเช่นกันว่าอาจมีโอกาสสูงที่สังคมการเมืองไทยจะไม่เปลี่ยนแปลงไป และถูกแช่แข็งไว้ให้คงสภาพเดิมเหมือนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ความคิด ความฝัน ความหวัง ความวิตกกังวล เหล่านี้ สะท้อนออกมาผ่าน “พานไหว้ครู” ที่หลายหลากในเดือนมิถุนายน 2562

ด้านหนึ่ง นี่เป็นปรากฏการณ์อันเกิดขึ้นใน “โมงยามพิเศษ” ที่สังคมและผู้คนบางส่วนถูกปลุกฟื้นจากอาการหลับใหลเฉื่อยชาทางการเมือง

อีกด้านหนึ่ง นี่เป็น “ปรากฏการณ์ปกติ” ที่ช่วยประคับประคองสังคมไทยเอาไว้ ไม่ให้ต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งต่างๆ อย่างแตกหัก

ที่สำคัญ “พานไหว้ครู 2562” มิใช่ภัยร้ายแรงคุกคามชาติ หรือกิจกรรมทางการเมืองอันมีมือมืดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคอยบงการจัดตั้งอยู่อย่างสลับซับซ้อน ณ เบื้องหลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image