สะพานแห่งกาลเวลา : ดีเอ็นเอ กับ ยีเนียโลยี : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ที่สหรัฐอเมริกาในเวลานี้ กำลังฮือฮากับเทคนิคใหม่ในการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม ที่ส่งผลให้
เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถไขคดีดังๆ ที่เคยเป็นปริศนาในอดีตเนิ่นนานมาแล้วหลายต่อหลายคดี

คดีที่โด่งดังและเป็นข่าวพาดหัวใหญ่โตก็มีอย่างเช่น คดี “โกลเดน สเตท คิลเลอร์” ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วมีการไขคดีที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุค 70 และไม่เคยมีแม้แต่ผู้ต้องสงสัยได้สำเร็จ ปรากฏว่าหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ได้จากเทคนิคใหม่นี้ ชี้ไปที่ตัวฆาตกรรายสำคัญที่ติดคุกอยู่ในเวลานี้ ในข้อหาทำฆาตกรรมต่อเนื่องอีก 12 ราย กับข่มขืนกระทำชำเราเหยื่ออีก 45 ราย

ก็มีหวังต้องคิดคุกเพิ่มจากข้อพิสูจน์การทำฆาตกรรมรายที่ 13 ที่พบใหม่เพิ่มเติมไปอีก

อีกคดีหนึ่งซึ่งเคยเป็นเรื่องลึกลับ เจ้าหน้าที่ก็ใช้เทคนิคเดียวกันนี้สอบสวน จนสามารถพบตัวผู้กระทำความผิดเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา จับกุมและส่งฟ้องศาลได้ กำลังจะกลายเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์อาชญากรรมสหรัฐอเมริกาที่ใช้หลักฐานพยานอย่างนี้เป็นหลักในการฟ้องร้องกันในศาล

Advertisement

เทคนิคที่ว่านี้รู้จักกันในหมู่เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนที่นั่นในชื่อ “เจเนติค ยีเนียโลยี” (genetic genealogy) ซึ่งหมายถึงการตรวจสอบดีเอ็นเอซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรมแล้วนำมาสอบหาเครือญาติที่มีดีเอ็นเอตรงกันย้อนกลับไปเป็นหลายๆ ชั่วอายุคน ตามหลักวิชาการด้าน “วงศาวิทยา” ที่บางแห่งเรียกว่า “พงศาวลีวิทยา” หรือ “ยีเนียโลยี” ครับ

คดีที่ว่านี้ สำนักงานตำรวจ สโนโฮมิช เคาน์ตี นครซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าของคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับ 2 หนุ่มสาวแคนาดาเมื่อปี 1987 หรือเมื่อ 32 ปีก่อนได้สำเร็จ

เหยื่อฆาตกรรมโหดในครั้งนั้นคือ เจย์ คุก วัย 20 ปี กับแฟนสาวชื่อ ทันยา ฟาน คายเลนบอร์ก อายุ 18 ปี เป็นชาวแคนาดาทั้งคู่ ฝ่ายชายถูกบุหรี่ทั้งซองยัดลงคอหอยจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต ส่วนผู้หญิงถูกข่มขืนกระทำชำเราแล้วจ่อยิงศีรษะจนเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม ตำรวจตามเบาะแส ร่องรอยมานานหลายสิบปี ไม่มีวี่แววว่าจะได้ตัว แม้แต่ผู้ต้องสงสัย

จนกระทั่งนักสืบ จอห์น ชาร์ฟ กลับมารื้อคดีใหม่เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา

เบาะแสสำคัญอย่างเดียวที่นักสืบชาร์ฟ มีอยู่ในมือ คือคราบอสุจิที่ติดอยู่กับเสื้อผ้าของทันยา ซึ่งไม่ใช่หลักฐานสำคัญเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว เพราะยังไม่มีเทคนิคการตรวจสอบดีเอ็นเอเหมือนในปัจจุบัน

นักสืบชาร์ฟ นำคราบดังกล่าวไปให้ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพของเอกชนชื่อ “พาราบอน นาโนแล็บ”
จัดการแยกดีเอ็นเอของคนร้ายออกมา

แต่ดีเอ็นเอ ไม่ได้บอกชื่อเสียงเรียงนามเอาไว้ ทางทีมสืบจึงจำเป็นต้องนำเอาเทคโนโลยีใหม่ อย่าง เจเนติค
ยีเนียโลยี ซึ่งขอเรียกว่า เป็นการสืบลำดับวงศาคณาญาติด้วยข้อมูลทางพันธุกรรม มาใช้

เหตุที่วิธีการสืบทวนย้อนหาวงศ์ญาติด้วยดีเอ็นเอ เป็นไปได้ในสหรัฐอเมริกา เป็นเพราะในสหรัฐอเมริกามีเว็บไซต์อย่าง “จีอีดีแมตช์” (GEDmatch) อยู่

จีอีดีแมตช์ เป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการสืบค้นหาวงศาคณาญาติด้วยข้อมูลทางพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ เปิดให้ผู้ที่ต้องการใช้บริการ นำเอาดีเอ็นเอของตนเองเข้าไปเทียบเคียงกับดีเอ็นเอที่อยู่ในฐานข้อมูลของเว็บไซต์ ทำให้บุคคลคนนั้นสามารถควานหา “ญาติๆ” ทางพันธุกรรมของตนเองที่มีแผนที่พันธุกรรม (จีโนม) เหมือนหรือตรงกัน

พาราบอน นาโนแล็บ นำเอาดีเอ็นเอที่ได้จากเสื้อผ้าของเหยื่อ ป้อนเข้าไปในฐานข้อมูล จีอีดีแมตช์นี้ ได้ผลลัพธ์ของดีเอ็นเอที่ใกล้เคียงกันออกมาเป็น 2 คน ซึ่งเป็นญาติห่างๆ ของเจ้าของดีเอ็นเอ

ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งของห้องแล็บแห่งนี้ ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเหล่านั้น มาสร้าง “สาแหรก” หลายรุ่นของคนทั้งสองขึ้นมา จากนั้นก็ตรวจสอบว่า ในสาแหรกทั้งสองนั้นมี “ญาติ” รายไหนเป็น “ญาติร่วมกัน” ของคนทั้งสอง

“ญาติร่วมกัน” รายนั้น ก็คือผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ลงมือทำฆาตกรรมเมื่อ 30 ปีก่อน ชื่อที่ปรากฏคือ
“วิลเลียม ทัลบอท ที่ 2”

นักสืบชาร์ฟ ยังไม่พอใจแค่นั้น ส่งเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าระวัง ตรวจสอบพฤติกรรมของ วิลเลียม ทัลบอท อยู่นาน ในที่สุดก็ได้หลักฐานเด็ด เป็นถ้วยกาแฟที่ผู้ต้องสงสัยทิ้งเอาไว้

เมื่อนำมาเก็บดีเอ็นเอ แล้วนำมาเทียบเคียงกับดีเอ็นเอที่ได้จากเหยื่อเมื่อกว่า 30 ปีก่อน พบว่าตรงกันก็เปลี่ยนสถานะจากผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ต้องหา ส่งฟ้องศาลได้ในที่สุด โดยจะมีการเริ่มพิจารณาคดีกันในสัปดาห์นี้

เรื่องนี้ประสบความสำเร็จในเชิงอาชญาวิทยาก็จริง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายวิจารณ์กันขรมอยู่เหมือนกัน

ข้อสังเกตของนักกฎหมายหลายคนก็คือ ทางการจำเป็นต้องมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในกระบวนการได้มาซึ่งหลักฐานพยานให้รอบคอบรัดกุมมากกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้ทำกันแบบลักลอบไร้การควบคุมเช่นนี้

ปัญหาก็คือ ถ้าเกิดผิดพลาดขึ้นมา จะเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความผิดพลาดอย่างไร ก็ไม่มีกำหนดไว้ และในระหว่างกระบวนการ มีการเปิดเผยข้อมูลของคนอีกหลายคนที่ถึงแม้จะเป็นญาติ แต่ก็เป็นวงศ์วานว่านเครือที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับการกระทำผิดแต่อย่างใด

เข้าข่ายการละเมิดความเป็นส่วนตัวขนานใหญ่ขึ้นมาได้

จีอีดีแมตช์เองถูกวิจารณ์มากเข้าก็กำหนดกฎใหม่ ต้องให้ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลอนุญาตก่อน ตำรวจจึงจะเข้าไปใช้ข้อมูลในฐานข้อมูลของตนได้

ส่วนศาลจะยอมรับหลักฐานพยานนี้หรือไม่ ยังน่าสนใจติดตามผลลัพธ์ของคดีต่อไปนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image