ความชอบธรรม : ความจำเป็นที่ถูกละเลย : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ส.ว.บางคนให้สัมภาษณ์ว่าแม้รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ แต่รัฐบาลมีความมั่นคงมาก เพราะถึง ส.ส.สามารถลงมติไม่ไว้วางใจหรือไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.ที่สำคัญ เมื่อต้องเลือกนายกฯ คนใหม่ ส.ว.250 เสียงก็ยังมีสิทธิลงคะแนนเลือกนายกฯคนเดิมให้กลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกหรือยิ่งกว่านั้น หากร่าง พ.ร.บ.ใดที่มีท่าทีว่า ส.ส.
จะไม่ให้ความเห็นชอบ ก็อาจเปลี่ยนร่าง พ.ร.บ.นั้นเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ไม่ใช่เฉพาะสภาผู้แทนฯ เท่านั้น

จริงดังที่ ส.ว.นั้นให้สัมภาษณ์ทุกประการ แม้รัฐธรรมนูญไม่ระบุออกมาตรงๆ เช่นนี้ แต่ก็ไม่มีอะไรขัดข้องหากจะปฏิบัติตามนั้น

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า การปฏิบัติเช่นนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ปัญหามาอยู่ที่แม้ไม่ขัดกฎหมาย แต่แย้งกับความชอบธรรม อันเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้, รัฐบาล คสช. และสภาแต่งตั้งของ คสช.ไม่เคยให้ความสำคัญมาก่อน ทั้งยังประสบความสำเร็จในอันที่จะกีดกันประเด็นความชอบธรรมออกไปจากการอภิปรายทางการเมืองในสังคมได้เลย เพราะมีอำนาจที่ไม่ชอบธรรมตามกฎหมาย หรือมีกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ในอันจะขจัดหรือปราบปรามคนที่อาศัยความชอบธรรมเป็นบรรทัดฐานในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

อะไรที่ถือเป็นความชอบธรรมนั้นไม่ได้เป็นสากลนัก ความชอบธรรมทางการปกครองในวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน จึงมีลักษณะเฉพาะของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้หมายความว่าอะไรที่เป็นความชอบธรรมในชาติต่างๆ ทั่วโลก จะไม่มีน้ำหนักเอาเสียเลย ทั้งนี้ก็เพราะความชอบธรรมในทรรศนะของผู้คนย่อมขยับสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ บ้าง อย่างรวดเร็วแทบตามไม่ทันบ้าง เหมือนส่วนอื่นๆ ของวัฒนธรรม

Advertisement

จริงอยู่ที่ อำนาจปกครองในวัฒนธรรมไทยไม่ได้มีที่มาจากการอนุมัติ (consent) ของผู้ใต้ปกครองโดยตรง แต่ก็มีความเห็นชอบบางอย่างของประชาชนกำกับอยู่ด้วย (ความเห็นชอบตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ consent อีกนั่นแหละ แต่ในอีกความหมายหนึ่ง) เช่น ภาพลักษณ์ของผู้ปกครองและระบอบปกครอง ต้องเป็นไปในเชิงโอบอ้อมอารี มากกว่าบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

คงจำกันได้ว่าสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯนั้น ท่านมักจะบอกนักข่าวที่ตั้งคำถามซึ่งท่าน
ไม่อยากตอบว่า “กลับบ้านเถอะลูก” ไม่เคยพูดว่า “ติดคุกเถอะลูก” เลย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ากองทัพซึ่งหนุนหลังท่านอยู่ จะไม่แสดงท่าทีเด็ดขาดดุดันต่อผู้ที่ตั้งตนเป็นศัตรูต่อท่านเสียเลย

แม้ว่าอำนาจปกครองของท่านไม่ได้มาจากการอนุมัติของประชาชนโดยตรง (ก็รู้ๆ กันอยู่ พรรคการเมือง
เลือกท่านเพราะอะไร) แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าตนถูกกดขี่เบียดเบียนจากท่าน

นี่คืออุดมคติของ “อำนาจ” ที่ได้รับความชอบธรรมในวัฒนธรรมไทย ทฤษฎีการปกครองที่เรียกกันว่า “ธรรมราชา” นั้น ไม่ต้องการการอนุมัติของผู้ใต้ปกครอง แต่ต้องการคุณสมบัติบางอย่างของผู้ปกครองซึ่งประชาชนเห็นชอบ จะเป็นคุณสมบัติจริงหรือเพียงการแสดงก็ตาม แต่คุณสมบัตินี้มีความสำคัญ เพราะมันคือ “ความชอบธรรม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกระบอบปกครอง

แม้ความชอบธรรมในการปกครองของวัฒนธรรมไทยอาจไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย แต่เกี่ยวข้องหรือสอดคล้องกันในระดับหนึ่งกับระบบคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย เช่น กระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสุจริตตามกฎหมาย (สุนทรภู่เคยวิพากษ์ตุลาการสมัยของท่านว่าเหมือนอีแร้ง แสดงว่าท่านต้องการเห็นตุลาการที่ไม่ใช่อีแร้ง) อาจไม่ถึงกับพัฒนาระบบกฎหมายไปสู่เรื่องนิติรัฐนิติธรรม แต่ก็เป็น “เชื้อ” ให้เข้าใจเรื่องนิติรัฐนิติธรรมของประชาธิปไตยได้ไม่ยาก

จะชอบหรือไม่ชอบประชาธิปไตยก็ตาม หลักการและระบบคุณค่าของประชาธิปไตยตะวันตกไม่ได้อยู่นอกรั้วบ้านเรา แต่ได้กระจายเข้ามาภายในและแพร่หลายในหมู่ประชาชนพอสมควรแล้ว ต่างคาดหวังการปฏิบัติตามหลักการและคุณค่าเหล่านี้ เมื่อกระทบถึงตัวเองเป็นอย่างน้อยกำลังอำนาจบังคับ (coercive power) เพียงอย่างเดียวไม่อาจจรรโลงระบอบปกครองอะไรในโลกนี้ไว้ได้ในระยะยาวหรอก และที่ผ่านมา คสช.ก็ไม่พยายามใฝ่หาความชอบธรรมใดๆ เพราะเชื่อว่ามีกำลังอำนาจบังคับเต็มมืออยู่แล้ว (ทำให้ คสช.ไม่เหมือนคณะรัฐประหารอื่นใดที่เคยมีมาในเมืองไทย)

เหตุใดสังคมไทยจึงยอมจำนนต่ออำนาจบังคับที่ขาดความชอบธรรมได้นานถึง 5 ปี เป็นเรื่องที่ต้องอภิปรายกันยืดยาวและต้องยกไว้ก่อน แต่การเลือกตั้งแม้ในกติกาที่บิดเบี้ยวอย่างที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดไว้ ก็ยังเป็นความหวังแก่สังคมว่า อย่างน้อยเราอาจหลุดออกจากอำนาจบังคับที่ขาดความเห็นชอบนี้ไปได้ โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ

การสืบทอดอำนาจแม้แพ้เลือกตั้งดังที่เป็นอยู่ ก็ยังยอมรับได้ เพราะอย่างน้อยก็มีสภาผู้แทนฯ และริบอำนาจบังคับบางส่วนของ คสช.ออกไปได้ แต่การบริหารที่ล้มเหลวในทุกด้านจะดำเนินต่อไปโดยไม่ต้องใส่ใจกับความชอบธรรมใดๆ เลยนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ส.ว.ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งเพราะอำนาจบังคับล้วนๆ อาจไม่เข้าใจว่า สิ่งสำคัญที่ คสช.จะสืบทอดอำนาจต่อไปได้อย่างราบรื่นนั้น ก็คือเสริมสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบปกครองของตนเอง

“เผด็จกร่าง” (สำนวนอาจารย์เกษียร เตชะพีระ) คือสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงอย่างถึงที่สุด ไม่เฉพาะแต่ตัวนายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารมาก่อนเท่านั้น แต่รวมถึงสมุนทั้งในกองทัพและนักสอพลอที่ได้รับแต่งตั้งมาทั้งหมดด้วย (เป็นวุฒิสภาชุดแรกของไทยที่ไม่อาจอ้างว่าเป็นตัวแทนของภาคส่วนใดในสังคมได้เลย นอกจาก คสช.) อะไรที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.มีชัย จึงไม่อาจทำได้จริงโดยไม่ “กร่าง” และยิ่ง “กร่าง” ก็ยิ่งเน้นความอับจนทางความชอบธรรมให้ชัดขึ้น

ความชอบธรรมของระบบปกครองไม่แต่เพียงทำให้ประชาชนยอมรับเท่านั้น แต่เพราะประชาชนยอมรับจึงทำให้สร้างความชอบธรรมด้านอื่นเพิ่มได้ด้วย ในที่นี้ขอพูดเพียงด้านเดียวคือเศรษฐกิจ

ความสำเร็จทางเศรษฐกิจนั้นเป็นข้ออ้างความชอบธรรมของเผด็จการหลายแห่งในโลก แม้ไม่ใช่ความชอบธรรมด้านอุดมการณ์ แต่เป็นผลให้ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนอย่างกว้างขวาง คสช.ไม่อาจอ้างความชอบธรรมด้านนี้ได้เลย เพราะประสบความล้มเหลวด้านเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง 5 ปี หากไม่มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนมาออกเสียงสนับสนุนในการสรรหานายกฯในสภา รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาย่อมเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจทั้งชุดเป็นสิ่งแรก อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความหวังในหมู่ประชาชนได้บ้างว่า จะผ่านพ้นภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจอย่างหนักไปเสียที

แต่นายกฯ ที่สืบทอดอำนาจจาก คสช.กลับตั้งทีมเศรษฐกิจที่ล้มเหลวนั้นกลับคืนมาทั้งทีม ประหนึ่งว่าไม่ใส่ใจต่อความเห็นชอบของประชาชนเลย หรือไม่มีความจำเป็นต้องเสริมสร้างความชอบธรรมใดๆ

ทีมเศรษฐกิจอ้างเสมอว่า ความซบเซาทางเศรษฐกิจที่เกิดในบ้านเรามีเหตุมาจากภายนอก ซึ่งเราควบคุม
ไม่ได้ เช่น สงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจ แต่ก็น่าประหลาดที่เพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย, มาเลเชีย, เวียดนาม, หรือแม้แต่กัมพูชาล้วนมีเศรษฐกิจโตขึ้นอย่างรวดเร็วในระหว่างความซบเซาอันยาวนานของไทย

เหตุภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้นั้นมีอยู่จริง และเป็นธรรมดาที่ต้องมีอยู่เรื่อย เพราะเหตุเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงด้าน “สิ่งแวดล้อม” ทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มือเศรษฐกิจที่ไหนๆ ก็ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงด้านนี้ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะรับมือมันอย่างไร และในกรณีที่ไม่อาจรับมือได้ จะกระจายความเสียหายอย่างไร จึงจะกระทบต่อคนอ่อนแอน้อยที่สุด จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องอาศัยความเห็นชอบของประชาชนในวงกว้าง เพราะจะเลือกให้คนกลุ่มใดได้อะไร เสียอะไร คือการเมือง และขึ้นชื่อว่าการเมือง ย่อมดำเนินการให้มีประสิทธิภาพได้ ก็ต่อเมื่อมีประชาชนหนุนหลังอยู่อย่างมากเพียงพอ

จริงอยู่ส่วนหนึ่งที่นักลงทุนชะลอการลงทุน เพราะ “สิ่งแวดล้อม” ทางเศรษฐกิจไม่เอื้อ แต่ “สิ่งแวดล้อม” หนึ่งๆ ก็ดึงนักลงทุนอีกประเภทหนึ่งเข้ามาแทนเสมอ เหตุใดนักลงทุนจึงชะลอการลงทุนในประเทศไทยภายใต้ คสช.

เหตุคงมีหลายอย่าง แต่หนึ่งในเหตุหลายอย่างนั้นคือ เมืองไทยภายใต้ คสช.ไม่อยู่ในสภาพที่อาจคาดเดาอะไรได้ ความสามารถที่จะทำนายอนาคตได้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของการลงทุนทุกประเภท เขาไม่สนใจกับความเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยหรอก แต่เขาต้องแน่ใจว่าจะมีเสถียรภาพทางการเมืองในระดับหนึ่ง คสช.สร้างสภาพที่ไร้เสถียรภาพทางการเมืองให้เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะ คสช.เป็นระบอบ “อปกติ” ซึ่งทำให้คาดเดาอนาคตได้ยาก แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะ คสช.ทำให้การตัดสินใจทางเศรษฐกิจกลายเป็นการตัดสินใจของบุคคลมากเกินไป จน “ระบบ” หยุดทำงาน การคาดเดาอนาคตจึงกลายเป็นการคาดเดาใจคน

จนแม้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับไม่น่ารักนี้แล้ว การเมืองไทยก็ยังขาดเสถียรภาพอยู่นั่นเอง ไม่แต่เพียงรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำในสภาผู้แทนฯเท่านั้น ส.ว.ยังให้ความเห็นว่า รัฐบาลต้องเลือกอยู่ในอำนาจที่ปราศจากความชอบธรรมต่อไปไม่สิ้นสุด อำนาจประเภทนี้ดำรงอยู่อย่างไม่สั่นคลอนย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าแล้วมันจะจบอย่างไร เก็บเงินไว้ในกระเป๋าไม่ดีกว่าเอามาลงทุนในสภาพเช่นนี้หรอกหรือ หลายโรงงานไม่ยอมแม้แต่จะลงทุนกับเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะไม่แน่ใจว่าจะคุ้มทุนหรือไม่

เผด็จการที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเช่นเวียดนามและจีน ล้วนเป็นประเทศที่ระบอบปกครองมีเสถียรภาพสูง ทุกคนคาดเดาได้ว่า ระบอบที่ไม่เปิดให้มีเสรีภาพเต็มที่เช่นนี้ จะสร้าง “สิ่งแวดล้อม” ทางเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกับที่ได้สร้างมาแล้วต่อไป ไม่ว่าเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จะชื่ออะไรก็ตาม

แม้แต่ “ระบอบฮุน เซน” ก็ยังมีเสถียรภาพมาก พอให้คาดเดาได้ดีกว่า คสช.และรัฐบาลสืบทอดอำนาจ

ระบอบประชาธิปไตยมีแนวโน้มจะเอื้อต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจก็ตรงนี้ นั่นคือ “สิ่งแวดล้อม” ทางเศรษฐกิจของระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของผู้มีอำนาจไม่กี่คน แต่ผูกพันกับผลประโยชน์ของคนจำนวนมากในสังคมซึ่งเข้าไปเกาะเกี่ยวกับ “สิ่งแวดล้อม” นั้น จนต่างก็ทำกำไรได้ในระดับที่ตนยอมรับได้ (ในระดับหนึ่ง) จึงทำให้การเปลี่ยนแปลง “สิ่งแวดล้อม” ดังกล่าวไม่อาจเกิดได้ในเวลาฉับพลัน ต้องผ่านกระบวนการต่อรองของคนอีกหลายกลุ่มกว่าจะเป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ผู้ลงทุนจึงสามารถปรับตัวตามได้ทันเป็นส่วนใหญ่

แต่รัฐธรรมนูญและรัฐสภาชุดนี้ ไม่สามารถนำเสถียรภาพทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาได้ จึงค่อนข้างแน่นอนว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะซบเซาต่อไป เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image