สัพเพเหระคดี : หย่อนสมรรถภาพ : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณโผงเป็นพนักงานเดินเครนของบริษัทมาตั้งแต่ปี 2549 แต่ระยะหลังๆ ปี 2553-2556 และต่อมาถึงปี 2557 ดูจะมีกิจธุระปะปังอื่นๆ นอกเหนือบริษัทมากมาย ประเดี๋ยวลากิจ ประเดี๋ยวลาป่วย เรียกว่าลามากกว่าใครๆ ในแผนกเลยทีเดียว

บริษัทเคยทำหนังสือเตือนเรื่องการลา แล้วต่อมาได้ส่งเข้าโครงการปรับปรุงสมรรถภาพ

ทว่าคุณโผงก็ยังปฏิบัติเช่นเดิม

สุดท้ายบริษัทจึงมีหนังสือลิกจ้าง!

Advertisement

คุณโผงมาฟ้องบริษัท ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมา 500,000 บาท

บริษัทต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จะลาป่วยลากิจบ่อยครั้งจนเคยได้รับหนังสือเตือน แต่มิได้เข้าลักษณะเป็นผู้หย่อนสมรรถภาพหรือไร้ความสามารถหรือจิตฟั่นเฟือนจนมิอาจปฏิบัติหน้าที่การงานของตนให้แก่บริษัทได้ เพียงแต่ประพฤติตนบกพร่องไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่และขาดความรับผิดชอบเท่านั้น

Advertisement

แล้วพิพากษาให้บริษัทจ่ายเงินจำนวน 26,000 บาท

บริษัทอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานเห็นว่า บริษัทเลิกจ้างคุณโผงอ้างเหตุว่าหย่อนสมรรถภาพในหน้าที่การทำงาน หรือไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนตามข้อบังคับการทำงานหมวดที่ 11 ซึ่งการหย่อนสมรรถภาพในหน้าที่การทำงานนั้นต้องพิจารณาถึงตำแหน่งหน้าที่ ความสามารถในการทำงาน และการหย่อนลงของความสามารถมาประกอบ

คุณโผงเป็นพนักงานเดินเครน จึงต้องอุทิศเวลาและความสามารถในการทำงานตามที่บริษัทมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงอย่างเต็มความสามารถ แต่คุณโผงกลับลาป่วยและลากิจบ่อยครั้ง ทำให้สถิติการหยุดงานหรือขาดงานสูง จนเคยได้รับหนังสือเตือนจากบริษัท

แม้จะเป็นการลาตามสิทธิซึ่งได้รับอนุญาตจากบริษัทแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการลาบ่อยครั้งจนเกินสมควร

อีกทั้งคุณโผงยังได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานปี 2553-2556 ในระดับที่ต้องปรับปรุง (ระดับซี) ติดต่อกัน จึงย่อมแสดงความสามารถในการทำงานที่ลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่องตลอดมา

ทั้งบริษัทเองก็ไม่ได้เลิกจ้างคุณโผงโดยทันทีหลังที่มีผลการประเมินดังกล่าว กลับให้โอกาสในการแก้ไขฟื้นฟูความสามารถ ตามโครงการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานแล้ว

แต่คุณโผงไม่ได้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

พฤติการณ์ของคุณโผงถือว่าเป็นการหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ มิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

บริษัทจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างดังกล่าว

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

(คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 48/2560)

+++++++++++++++++++++++++++++++++

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522

มาตรา 49 การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image