อยากเข้าใจคนรุ่นใหม่ ก็ต้องถามเขาให้ถูกคำถาม : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงหลายประการว่า “คนรุ่นใหม่” โดยเฉพาะในการเมืองไทยปัจจุบันนั้นมีใครบ้าง เช่นเป็นเยาวชนเท่านั้น หรือเป็นเฉพาะคนที่เพิ่งเข้ามาเลือกตั้งครั้งแรก หรืออาจหมายถึงคนรุ่นเก่าที่เชื่อมั่นในแนวคิดของพรรคที่นำเสนอวิถีทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ แต่ในสิ่งที่ผมจะนำเสนอนี้ ก็ขอให้คำจำกัดความง่ายๆ ในแง่ของปัจจัยด้านอายุและประสบการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก

อธิบายง่ายๆ ก็คือ คนรุ่นเยาวชนหนุ่มสาว ที่เพิ่งมีโอกาสเลือกตั้งเป็นครั้งแรก โดยในแง่นี้พิจารณาว่า การเลือกตั้งนั้นถือเป็นการมีส่วนร่วมที่เป็นทางการในชีวิตของเขาเป็นครั้งแรกอย่างไรก็ตาม เมื่อเราพิจารณาเรื่องของการเมืองของคนรุ่นใหม่ในบ้านเรานั้น เรื่องที่น่าสนใจก็มีอยู่หลายเรื่อง

เรื่องแรก คนรุ่นใหม่ในการเมืองไทยในรอบนี้เป็นปรากฏการณ์ที่มีความหมาย กล่าวอีกอย่างก็คือ ในทุกยุคสมัยของการเมืองนั้น คนรุ่นใหม่ นั้นมักจะถูกกล่าวถึง แต่การกล่าวถึง อาจจะไม่ได้มี “ความหมาย” ที่ตรงกัน หรือมี “นัยยะสำคัญทางการเมือง” ตรงกันเสมอไป

แน่นอนว่า การกล่าวถึงคนรุ่นใหม่กับการเมืองในสังคมไทย อาจจะมีสองช่วงสำคัญ ช่วงแรกนั้น
ก็คือช่วงของการเมืองเดือนตุลา (2516-2519) และช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่นานนี้ (2561)

Advertisement

ข้อดีประการหนึ่งก็คือ การพูดถึงพลังของคนรุ่นใหม่ของสองยุคสมัยนี้ (แม้ว่าในสมัยตุลา อาจจะเรียกว่า พลังของคนหนุ่มสาวมากกว่า คนรุ่นใหม่) อาจจะไม่จำเป็นต้องนำมาเปรียบกัน เพราะไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสมอไปในหลายประการ โดยเฉพาะในประเด็นที่ผมจะขอเน้นย้ำในวันนี้

ในแง่ที่ว่า คนรุ่นใหม่สมัยตุลาฯนั้นเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติในความหมายของขบวนการทางสังคม (หรือที่เรียกกันว่า ขบวนการนักศึกษา) มากกว่าการมีส่วนร่วมในการเมืองรูปแบบที่เป็นทางการโดยเฉพาะพรรคการเมือง

แต่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันอย่างน้อยก็มีความชัดเจนในแง่ของการระบุตัวตนกับพรรคการเมือง (party identification) ที่ชัดเจน

Advertisement

และอีกด้านหนึ่งก็คือ คนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน มีบทบาทในการเคลื่อนไหวในสื่อใหม่เป็นอย่างมาก และสามารถยึดครองบางปริมณฑลของสื่อใหม่เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ซึ่งในแง่นี้ก็เปิดให้เราเห็นว่า ในโลกออนไลน์ก็ยังมีอีกหลายปริมณฑลย่อยในการต่อสู้ และการยึดครองในแง่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เพียงจำนวน แต่หมายถึงการกำหนดประเด็นในการต่อสู้และเนื้อหา-สาระในการถกเถียงได้อย่างทรงพลัง

การหลุดพ้นจากร่มเงาของการถูกเปรียบเทียบกับขบวนการนักศึกษาในยุคเดือนตุลาฯในแง่ของความสำเร็จและล้มเหลวนั้นถือเป็นนัยยะทางการเมืองที่สำคัญ และทำให้เรามีโอกาสเข้าใจการเคลื่อนไหว และความสนใจ/ไม่สนใจทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ได้เพิ่มมากขึ้น

จากบรรยากาศยุคมืดทางปัญญาของการเข้าใจคนรุ่นใหม่ในช่วงที่ผ่านมาที่ถูกมองว่า อ่อนแอ ไม่สนใจบ้านเมือง ทั้งจากความเสื่อมถอยของขบวนการนักศึกษา เมื่อใช้ขบวนการเดือนตุลาเป็นไม้บรรทัด

และในอีกด้านหนึ่งก็จะพบความคาดหวังของสถาบันทางการเมืองต่างๆ ที่ต้องการได้คะแนนของคนรุ่นใหม่มาเป็นฐานคะแนนของทุกคน เมื่อพิจารณาจากการรณรงค์ทางการเมืองประเภท การเลือกตั้ง และการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ ที่มุ่งเป้าไปที่การสร้างกิจกรรมเยาวชน หรือแม้กระทั่ง การหาคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นตัวแทนหรือสมาชิกพรรคในทุกๆ รอบทางการเมืองที่จะมีการเลือกตั้ง

มารอบนี้ ความเปลี่ยนแปลงของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเกิดพรรคการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน แถมตัวแทนของพรรคนั้นก็ไม่ใช่คนที่มีหน้าตาเป็นคนรุ่นใหม่เท่านั้น เพราะผู้สมัครจำนวนมากนั้นก็ไม่ใช่แค่คนที่อายุน้อยและไม่เคยเลือกตั้งมากก่อน

พวกเขามีประสบการณ์ทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการเมืองรัฐสภา หรือเป็นลูกหลานของนักการเมืองและตระกูลการเมือง

ขณะที่ในอีกมุมหนึ่งของสังคมนั้น การปรากฏตัวของการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนั้น
ก็กลับถูกปะทะโดยชุดทรรศนะในแบบเดิมๆ ที่มองว่า พวกคนรุ่นใหม่เหล่านี้ล้ำเส้นบ้าง ไม่รู้จริงทางการเมืองบ้าง อาจจะถูกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้ไม่หวังดีบ้าง ทรรศนะคติที่เรียกว่า patronization หรือการอวดอ้างเพื่อครอบงำหรือกดเอาไว้ให้อยู่ใต้พวกตนเช่นนี้เห็นอยู่เสมอๆ ใน

ทรรศนะประเภทที่ดีใจกับการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ แต่กังวลห่วงใยว่าพวกเขาจะถูกชักจูงไปในทางที่ผิด
ทรรศนะที่มีต่อเสื้อแดงเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก ในความหมายที่เห็นใจกับความทุกข์ยากและเหลื่อมล้ำ แต่ก็กังวลว่าคนพวกนี้จะไม่มีความรู้พอและถูกชี้นำโดยคนที่ไม่หวังดี

ความต่างจากทรรศนะที่มีต่อเสื้อแดงก็เห็นจะเป็นเรื่องที่ว่า จะอธิบายไม่ได้แล้วกับคนรุ่นใหม่ว่าพวกเขาไม่มีการศึกษา หรือไม่มีสถานะทางเศรษฐกิจ แต่ก็จะต้องย้ำประเด็นว่าการศึกษาที่ถูกต้องเหมาะสมคืออะไร และความรู้ชุดไหนบ้างที่พวกเขาควรจะมีก่อนมีสิทธิเลือกตั้ง และความรู้ที่ถูกถามนั้นมีนัยยะสำคัญทางการเมืองแค่ไหน (ไม่นับว่าพวกเขาเป็นคนที่อยู่ในบ้านเดียวกันกับพวกที่คิดต่างด้วย)

และอาจจะลืมถามไปว่า คนรุ่นอื่นมีความรู้พอไหม หรืออะไรคือบ่อเกิดของความไม่รู้ เช่น จำนวนสมาชิกสภามีจำนวนเท่าไหร่ ทั้งที่รัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้ร่างมาโดยพวกเขา และจำนวนสมาชิกก็ไม่ใช่ประเด็นที่ถกเถียงในมิติการลงประชามติรับร่างใช่ไหม

นี่แหละครับ การเปิดโปงให้เห็นวาทกรรมของความไม่พร้อมทางการเมือง ที่เรามักชอบอ้างว่าคนอื่นนั้นไม่พร้อมจะเข้าสู่ประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงคนที่มีสถานะและความรู้แบบหนึ่งต่างหากที่ไม่พร้อมเข้าสู่ประชาธิปไตย

มีตัวอย่างจากต่างประเทศที่น่าสนใจอยากนำเรียนท่านผู้อ่าน จากกรณีข้อถกเถียงเรื่องบทบาทของคนรุ่นใหม่ทางการเมืองของออสเตรเลียไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่ค่อนข้างมีความกังวลว่าคนรุ่นใหม่นั้นอาจจะไม่ค่อยสนใจทางการเมืองมากนัก เมื่อพิจารณาจากจำนวนของการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะมาลงทะเบียนก่อนที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง (ของบ้านเราไม่ต้องลงทะเบียน ไปใช้สิทธิได้เลย)

คำอธิบายในกรณีออสเตรเลีย ก็คือ คนรุ่นใหม่นั้นเคลื่อนย้ายตัวเองบ่อย และอาจจะมีเรื่องอื่น
ในชีวิตที่จะต้องทำมากกว่าการไปลงทะเบียนเลือกตั้ง ส่วนคนที่มาลงทะเบียนเลือกตั้งนั้นก็มาลงเพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นการเรียกร้องอะไร หรือสนใจมิติทางการเมืองเป็นพิเศษ

นอกจากนั้นแล้ว พวกเขายังเห็นว่า ถ้าไม่ถูกบังคับให้มาลงคะแนนเสียงพวกเขาครึ่งหนึ่งก็คงไม่มาเลือกตั้ง

ในอีกด้านหนึ่งนั้น จากการสำรวจเมื่อปี ค.ศ.2013 ในออสเตรเลียพบว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความไว้วางใจ (trust) และความซื่อตรง (integrity) ในฐานะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจเลือกตั้งของพวกเขา และยังมีข้อมูลอีกชุดในปี 2014 ที่ชี้ว่าพวกเขาไม่ได้รู้ว่าพวกเขามีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองในกระบวนการประชาธิปไตยที่ดำเนินอยู่ รวมทั้งเขารู้สึกว่านักการเมืองอาชีพนั้นห่างไกลจากพวกเขาและก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพรรคแต่ละพรรคต่างกันอย่างไร และนักการเมืองอยู่พรรคไหน

หนึ่งในสี่ของคนรุ่นใหม่ของออสเตรเลียถึงกับให้ความเห็นว่า รัฐบาลแบบไหนก็เหมือนๆ กัน คือไม่ได้มีนัยยะอะไรกับพวกเขา

คำถามสำคัญก็คือ ข้อมูลเช่นนี้หมายถึงว่าคนรุ่นใหม่นั้นไม่สนใจการเมืองจริงไหม?

คำตอบไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง แต่พวกเขาไม่ได้เห็นว่านักการเมืองและพรรคการเมืองนั้นเป็นตัวแทนของพวกเขาในกรณีปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงตัวพวกเขาต่างหาก

ในออสเตรเลียจึงมีการนำเสนอมุมมองใหม่ว่า แทนที่จะไปถามว่าทำไมคนรุ่นใหม่นั้นไม่สนใจจะเลือกตั้ง สิ่งที่ควรถามมากกว่าก็คืออะไรคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่นั้นสนใจ กังวล และ ห่วงใย และอะไรคือรูปแบบการมีส่วนร่วมที่พวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วม รวมไปถึงการตั้งคำถามกับการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงในสถาบันทางการเมืองต่างๆ

เมื่อเริ่มตั้งคำถามใหม่ สิ่งที่พบก็คือ ไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง แต่พวกเขาสนใจในการมีส่วนร่วมในทางตรง ในชีวิตประจำวัน ในการเคลื่อนไหวแบบปัจเจกบุคคล และการเคลื่อนไหวในแบบเครือข่าย เช่นการมาให้ความร่วมมือไม่ให้การสนับสนุน (boycotts) หรือการแชร์ข่าวและข้อมูลทางการเมืองในโลกออนไลน์ พวกเขาสนใจกิจกรรมเป็นเรื่องๆ ไป เช่นไปอาสาสมัครกับมูลนิธิ หรือเครือข่าย ริเริ่มการรณรงค์และล่ารายชื่อออนไลน์ หรือผลิตสื่อของตนเอง รวมกระทั่งไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวสั้นๆ กะทันหัน (flashmob) หรือกล่าวง่ายๆ ว่าพวกเขาเคลื่อนไหวในมิติที่เขาห่วงใยใส่ใจเป็นเรื่องๆ ไป

ความสำคัญในการวิเคราะห์ในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า เราพบแล้วสินะว่าพวกเขาสนใจเรื่องอะไร เพราะนั่นคือคำตอบที่ไม่ค่อยครบถ้วน เพราะเรายังตอบไม่ได้ว่าทำไมเขาถึงไม่สนใจการเมืองกระแสหลัก เช่นการเลือกตั้งและงานรัฐสภา

สิ่งที่เราควรเปิดมุมมองตามที่เขาเถียงกันในออสเตรเลียก็คือ การที่เรามองว่า คนรุ่นใหม่ไปใช้สิทธิลงทะเบียนเลือกตั้งน้อย (หมายถึงท้ายสุดก็เลือกตั้งน้อย) ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่สนใจการเมือง หรือไม่มีความรู้ทางการเมือง หรือเบี่ยงเบนไปในเรื่องอื่นๆ แต่เอาเข้าจริงต้นตอที่มาของเรื่องกลับอยู่ที่เรื่องของวัฒนธรรมทางการเมืองและระบบเลือกตั้งที่ดำรงอยู่ต่างหากที่เป็นปัญหา

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมืองหรือประเด็นทางการเมืองที่นักการเมืองและพรรคการเมืองเสนอ เพราะคนรุ่นใหม่ก็ยังสนใจเรื่องต่างๆ ที่นำเสนอให้ตรงกับความต้องการของพวกเขา

ที่สำคัญสิ่งสำคัญที่คนรุ่นใหม่จะสนใจมากที่สุดในทางการเมืองก็คืออะไรคืออนาคตของเขาและวิสัยทัศน์ของสังคมนี้

ดังนั้น การเมืองที่เน้นแต่โครงการอย่างเดียวจึงไม่ได้เป็นการเมืองที่จะกระแทกใจของคนรุ่นใหม่

ท้ายที่สุด คำถามที่มักจะถามกันที่ผ่านมานั้นมักจะเป็นคำถามที่ว่า จะทำให้คนรุ่นใหม่มาสนใจการเมืองได้อย่างไร (เช่นรณรงค์ต่างๆ) มาสู่เรื่องของการเข้าไปเกี่ยวพันกับคนรุ่นใหม่อย่างไร (จาก engaging young people สู่ engaging with young people)

อีกประการหนึ่งก็คือข้อค้นพบที่ว่า คนรุ่นใหม่นั้นให้คุณค่ากับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เขาสนใจโดยการมีส่วนร่วมนั้นจะต้องทำให้เขารู้สึกว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจริง มีโครงการที่ชัดเจน และมีส่วนร่วมของประชาชนทางตรง รวมทั้งการที่พรรคการเมืองและนักการเมืองนั้นให้เกียรติกับคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่มาสั่งสอนบังคับ หรือทำให้รู้สึกว่าพวกเขาต้องเป็นเด็กดีที่เชื่อฟังและทำตาม เมื่อนั้นคนรุ่นใหม่จะรู้สึกทันทีว่าการเมืองแบบการเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาพร้อมที่จะมีส่วนร่วม

เอาเข้าจริงก่อนจะมาสู่กรณีของบ้านเรานั้นการเพิ่มขึ้นของคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนโอบามา แซนเดอร์ และพรรคแรงงานของอังกฤษก็เป็นตัวอย่างที่จะทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่นั้นมีบทบาทสำคัญต่อคะแนนเสียงของผู้สมัคร

สิ่งที่เรียนกรู้จากปรากฏการณ์ที่ผ่านๆ มา จะพบว่าคนรุ่นใหม่นั้นต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองแบบเลือกตั้งเมื่อเขาต้องการแสดงจุดยืนว่าเขาต้องการสังคมแบบไหนที่เขาจะมีชีวิตอยู่ และในกรณีมิตินโยบายที่ว่าด้วยเรื่องของการปฏิรูปการอุดมศึกษา หนี้สิน ปัญหาสุขภาพจิต การว่างงาน และราคาเช่าและซื้อที่พักที่แพงเกินไปสำหรับพวกเขา

อธิบายง่ายๆ หากนักการเมืองและนักวิชาการอยากเข้าใจและสนใจการเมืองของคนรุ่นใหม่นั้น พวกเขาต้องรู้จักฟัง เข้าใจ และถามคำถามกับคนเหล่านี้ให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นนอกจากจะไม่รู้เรื่องและไม่ได้คะแนนจากคนเหล่านี้แล้ว สิ่งที่นำเสนอในแง่ที่อ้างว่าเข้าใจพวกเขาอาจจะกลายเป็นเรื่องขบขันในสายตาของคนรุ่นใหม่อีกด้วย

(ลองพิจารณา “Many young people aren’t enrolled to vote-but are we asking them the wrong questions?” . The Conversation. 16 May 2016)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image