เดินหน้าชน : แค่เริ่มก็ส่อวิกฤต : ศุกร์มังกร

การฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรีของ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 สมัยที่สอง ดูจะลากยาก ไม่ค่อยราบรื่น

ชักเข้า-ชักออก ทั้งพรรคแกนนำอย่างพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคร่วมรัฐบาล

พปชร.เองก็มีหลายกลุ่ม หลายมุ้ง ทั้งสามมิตร-4 กุมาร-อีสานตอนบน-ด้ามขวานไทย-ก๊วนกรุงเทพฯ การจัดสรรโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีดูวุ่นวายพอสมควร

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรคขนาดกลางต่างเรียกร้อง กดดัน ต่อรองขอเก้าอี้กันอุตลุด

Advertisement

ครั้นส่งรายชื่อเรียบร้อยแล้ว แต่คุณสมบัติ-ภาพลักษณ์ ซึ่งถือเป็นหน้าตาของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ยังถูกตีกลับ

พรรคต้องแก้ไขรายชื่อกันใหม่!

พรรคเล็ก พรรคจิ๋ว ก็ใช่ย่อยต่อรองกันเอิกเกริก จนต้องส่ง “มือดี-ใจถึง-พึ่งได้” รับหน้าเสื่อออกเคลียร์ คลื่น ลม จึงสงบลงชั่วคราว

Advertisement

เชื่อว่ารอวันปะทุเป็นครั้งคราวอีกแน่?!

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้รายชื่อคณะรัฐมนตรีน่าจะลงตัวเพื่อเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป

นั่นเป็นเรื่องของฝ่ายที่จะเข้ามาบริหารประเทศ

แต่จะบริหารได้ตลอดรอดฝั่ง ครบเทอมหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามชนิดห้ามกะพริบตาในสภาพรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำเช่นนี้

โดยเฉพาะประเด็น ส.ส.ถือหุ้นสื่อที่มีเรื่องร้องเรียนกันอีนุง ตุงนัง ทั้งฟากรัฐบาลและซีกฝ่ายค้านโดยมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

หนึ่ง กรณี นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ และ นายคมสันต์ ศรีวนิชย์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ ถูกศาลฎีกาแผนกเลือกตั้งตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง

หนึ่ง กรณี “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลเห็นว่า “มีเหตุอันควรสงสัย” จึงสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

ทั้งสองเคสเพิ่งเกิดขึ้นในปี’62

และปมร้อนติดตามมาด้วย 60 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เข้าชื่อยื่นคำร้อง 41 ส.ส.ซีกรัฐบาลถือหุ้นสื่อเช่นกันต่อ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่ง “ชวน” ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

ส่วนศาลจะพิจารณารับคำร้อง เมื่อไหร่ แบบไหน อย่างไร นั่นเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของท่าน

ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องน้อมรับไม่ว่าผลที่ออกมาจะ “บวก” หรือ “ลบ” ต่อคำร้องดังกล่าว

ทุกอย่างว่ากันไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

เพราะ “ธนาธร” เองหลังศาลมีเหตุอันควรสงสัย สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ชี้แจงภายใน 15 วัน ก็ใช้สิทธิขอขยายเวลารวบรวมหลักฐานออกไปอีก 30 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้

ซึ่งศาลท่านก็อนุญาต!

ล่าสุดได้ยื่นหนังสือซ้อนขอยืดเวลาก่อนครบกำหนดออกไปอีก 15 วัน

ขณะที่ฟาก พปชร.เองก็ออกมาเคลื่อนไหวเนื่องจากมี 27 ส.ส.ในพรรคถูกร้องรวมอยู่ในบัญชี 41 ส.ส.ด้วย

โดย “ทศพล เพ็งส้ม” หัวหน้าทีมต่อสู้คดีให้ 27 ส.ส.ของ พปชร.ได้ไปยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองชั่วคราว และขอโอกาสชี้แจง

และในสัปดาห์นี้จะ “เอาคืน” จะส่งชื่อ ส.ส.ซีกฝ่ายค้านที่เข้าข่ายถือครองหุ้นสื่อต่อ “ชวน” อีกประมาณ 50 รายชื่อ เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเช่นกัน

ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา

สมมุติว่า หาก 41 ส.ส.ซีกรัฐบาลถูกสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่

นั่นย่อมส่งผลสะเทือน ถึงเสถียรภาพของรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แค่ฝ่ายค้านยื่นญัตติ ตั้งกระทู้ ขอเปิดอภิปราย “ปมร้อน” ตรงหน้าว่า ด้วยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

กระบวนการสรรหามีระเบียบ หลักเกณฑ์หรือไม่?

คณะกรรมการมาเป็น ส.ว.เสียเอง รวมถึงบรรดาเครือญาติ ซึ่งจะขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่?

งบประมาณ 1.3 พันล้าน ที่ถูกใช้ไปเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนหรือไม่?

หรือญัตติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563

แค่โหวต “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” ก็มีผลต่อรัฐบาลทั้งสิ้น

ดังนั้น จำนวน ส.ส.ที่จะยกมือสนับสนุนรัฐบาลทุกคะแนนเสียงจึงมีความหมายยิ่ง เพราะจะมีผลต่อวิกฤตศรัทธาและเสถียรภาพที่จะตามมาอย่างแน่นอน

ศุกร์มังกร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image