ปรากฏการณ์คุณธรรมในสังคมไทย : มองเห็น เข้าใจ และขับเคลื่อนสังคมด้วยพลังความดี : โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

ในแต่ละวันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ และด้วยบทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ทำให้ข่าวสารข้อมูลถูกส่งต่อและเผยแพร่อย่างรวดเร็ว ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ข่าวสารข้อมูลเหล่านี้ส่วนมากเป็นเรื่องอะไร และเป็นภาพสะท้อนสังคมไทยในมิติคุณธรรมได้อย่างไร

จากประเด็นคำถามนี้ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จึงได้ประมวลสถานการณ์ทางสังคมที่ปรากฏในข่าว ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2562 ออกมาเป็น “10 ปรากฏการณ์คุณธรรม จริยธรรมในสังคมไทย” ซึ่งประมวลสถานการณ์ชุดนี้เชื่อมโยงมายังงานประชุมวิชาการ “คุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม : คุณธรรมกับปรากฏการณ์ทางสังคมไทย” ที่จัดไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

งานประชุมวิชาการเป็นการชวนคิดชวนคุยถึงปรากฏการณ์ทางสังคมในมิติคุณธรรม ช่วงแรกเสวนาวิชาการ : “เจาะประเด็น วิกฤตคุณธรรม เราได้เรียนรู้อะไร” รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมเสวนาในประเด็น “ปัญหาความรุนแรง บทสะท้อนนิเวศสังคมป่วย” เริ่มจากนำเสนอ 10 ปรากฏการณ์คุณธรรม จริยธรรมในสังคมไทยรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา

ซึ่งประกอบไปด้วย (1) วิวาทเดือด งานบวชเลือด (2) วินัยจราจรสะท้อนวินัยชาติ (3) พระสงฆ์อาพาธสูงจากอาหารที่ใส่บาตร (4) ขยะล้นเมือง (5) ติดเกมออนไลน์ ฆ่าตัวตาย (6) Hate speech เครื่องมือสร้างความเกลียดชังในสังคมไทย ซึ่งแนวทางแก้ไขคือ “พักก่อนโพสต์” หยุดเรื่องของอารมณ์ เพราะสังคมที่มีการแบ่งขั้วแบ่งข้าง ถ้าไม่หยุดอารมณ์จะส่งผลกระทบที่ร้ายแรง (7) สถานการณ์ความโปร่งใสไทยตกอันดับ อันดับที่ 8-10 เป็นปรากฏการณ์ด้านจิตอาสา ประกอบไปด้วย (8) จิตอาสากู้วิกฤต ต้าน pm 2.5 (9) มหันตภัยพายุปาบึก ซัดถล่มภาคใต้ (10) พลังจิตอาสา ร่วมใจทำความดี จากกระแสวิ่งของคุณตูน สู่การรวมพลังจิตอาสาทำความดีที่หลากหลายรูปแบบ

Advertisement

คุณหมอเดวกล่าวถึงการส่งเสริมคุณธรรมว่า เรื่องจิตสำนึกสำคัญ และต้องใช้เวลาในการปลูกฝัง รวมทั้งระบบนิเวศก็มีความหมาย การปลูกฝังจิตสำนึกในทางจิตวิทยามีลำดับการเปลี่ยนพฤติกรรมเริ่มตั้งแต่ท่องจำ เปลี่ยนแปลงร้อยละ 10 เปิดพื้นที่ปฏิบัติการ ร้อยละ 30 ทำโครงการ/โครงงานให้กลายเป็นกิจวัตร ร้อยละ 50 การทำให้กลายเป็นวิถีชีวิต ทั้งที่บ้าน โรงเรียน สังคม เกิดการเรียนรู้จนซึมซาบ (Learning by feeling) ร้อยละ 70 ที่เหลืออีกร้อยละ 30 คือการฝึกสติในชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพ

คุณอรรทิตย์ฌาณ คูหาเรืองรอง ผู้ประกาศข่าวและพิธีกร ร่วมเสวนาประเด็น “สังคมอุดม ดราม่า แบบสุดขั้ว” โดยพูดถึงพื้นฐานคุณธรรมและหน้าที่ของสื่อ การถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ออกไป สื่อต้องมีจรรยาบรรณ ในอดีตสื่อดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบภายใต้สิทธิเสรีภาพ ปัจจุบันสื่อถูกกลืนด้วยระบบตลาด ต้องคำนึงว่าทำอย่างไรให้อยู่รอด จึงต้องสร้างแนวทางเพื่อให้อยู่รอด ส่งผลให้ลืมเลือนจรรยาบรรณความเป็นสื่อ โดยหน้าที่สื่อ คือการรายการสถานการณ์ แต่ไม่มีหน้าที่ตัดสินว่าใครผิดหรือถูก แต่ในปัจจุบันสื่อมีการนำเสนอความเห็นตนเองมากขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้เป็นข่าว กระทบต่อสังคม สื่อจึงต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการนำเสนอ โดยสื่อต้อง “มีเสรีภาพบนความรับผิดชอบ”

คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งรายการทีวีออนไลน์ Toolmorrow เสวนาในประเด็น “ปลุกพลังไวรัลคลิป แก้ไขนิสัยวัยโจ๋” โดยกล่าวถึง Toolmorrow ว่าเป็นรายการที่นำทัศนคติที่ผิดปกติในสังคม มาทดสอบ เนื่องจากการมีชุดความคิดความเชื่อผิดๆ การไม่มีชุดประสบการณ์ที่เป็นแบบอย่างทำให้ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เป็นเหมือนการเตือน เป็นป้ายบอกทางว่าที่เชื่อเป็นจริงหรือไม่ คุณสุรเสกข์เล่าถึงการทำไวรัลคลิปเกี่ยวกับเรื่องเพศว่าเด็กหลายคนเชื่อว่า การปรึกษาเรื่องเพศกับพ่อแม่จะโดนตำหนิ และเป็นเรื่องน่าอาย ทำให้ไปปรึกษากับคนอื่นซึ่งอาจทำให้เกิดการประพฤติที่ไม่ถูกต้อง หลังจากคลิปปล่อยไปคนดูเยอะมาก เป็นการสร้างมุมมองใหม่ มีคุณครูมาขอไปสอนเด็กๆ โดยการทำงานของ Toolmorrow ต้องทำเนื้อหา (Content) ให้ดี เนื้อหาที่ดีเกิดจากการฟัง การทำเนื้อหาเหมือนทำหน้าที่หากระสุนเพื่อเจาะเข้าไปให้ถูกกลุ่ม เพื่อให้สารเกิดการเข้าถึง และหลังจากทำเนื้อหาเสร็จสิ้นแล้ว มีการทำโฟกัสกรุ๊ปให้กลุ่มเป้าหมายดู ให้รับฟังว่ารู้สึกอย่างไร เนื่องจากในโลกออนไลน์นั้นถ้าตรรกะ (Logic) ไม่สมบูรณ์อาจโดนกระแสตีกลับ จึงต้องหาความเห็นที่หนักแน่น และไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง

Advertisement

ช่วงที่สอง เวทีสร้างแรงบันดาลใจ “คุณคือฮีโร่” ผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย คุณสุวรรณฉัตร พรหมชาติ (คุณเดี่ยว) แท็กซี่จิตอาสา ขับรถช่วยเหลือผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียงนานกว่า 23 ปี คุณเชาวลิต สาดสมัย (ครูเชาว์) ครูเรือจ้างข้างถนน นักสู้ผู้อุทิศตนเองเพื่อผู้อื่น และ คุณฤชวีพัฒน์ จิราวัฒน์ (กอล์ฟฟี่) นางฟ้าซาลอน ช่างทำผมใจบุญช่วยเหลือคนพิการ

ทั้งสามคนเป็นจิตอาสาที่ใช้ทักษะ ความรู้ ความสามารถของตนเองในการช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นคุณเดี่ยวที่ขับรถรับส่งผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการที่มีฐานะยากจนโดยไม่คิดเงิน ครูเชาว์ ครูอาสาประจำศูนย์สร้างโอกาสเด็กสะพานพระราม 8 ที่ใช้การศึกษาช่วยสร้างเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส คุณกอล์ฟฟี่ช่างผมที่คอยช่วยเหลือผู้พิการ และสอนเสริมสวยให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งก่อนจะเดินทางมาถึงจุดนี้ทั้งสามคนมีจุดพลิกผันที่สำคัญคือ การมีประสบการณ์ตรงทั้งในฐานะคนที่ได้รับความช่วยเหลือ และการมีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่น จนเป็นจุดเปลี่ยนให้มาเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคม และทั้งสามคนได้ร่วมกันสะท้อนถึงกระบวนการเป็นจิตอาสาของตนเอง โดยคุณเดี่ยวกล่าวว่า “สิ่งที่ทำเป็นการต่อยอดความดี จากการทำให้เห็น” และในมุมมองของครูเชาว์ คือ “เรียนจบแล้วต้องรับใช้สังคม เราอาจไม่สร้างโลกให้สวย แต่เราสามารถส่งต่อความสุขได้” ขณะที่คุณกอล์ฟฟี่กล่าวว่า “เราสามารถใช้ความรู้ วิชาชีพ ทำความดีได้ ความดีต้องทำทุกวัน เพราะถ้าพรุ่งนี้ตายก็ไม่ได้ทำ”

ประชุมวิชาการในครั้งนี้จึงเป็นการนำเสนอถึงปรากฏการณ์ทางสังคมในมิติคุณธรรม ที่ทำให้เห็นและเข้าใจถึงสถานการณ์ของปัญหา ควบคู่ไปกับการตระหนักถึงพลังความดีที่กระจายตัวอยู่ในสังคมไทย ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญ โดยกระบวนการหล่อเลี้ยงพลังความดี และเสริมสร้างให้เข้มแข็งเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม คือการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันกำหนดทิศทางขับเคลื่อนต่อไป โดยที่ “ความดี” นี้ต้องไม่ผูกขาดในแบบใดแบบหนึ่ง แต่เปิดให้มีการนิยามความหมายที่หลากหลาย และมีปฏิบัติการที่สอดคล้องกับบริบท จึงจะเป็นการขับเคลื่อนสังคมด้วยพลังความดีที่ยั่งยืน

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image