คุณภาพคือความอยู่รอด : จะต้องให้ตายกันอีกกี่มากน้อย : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เครนทำของหล่นใส่อาคารเรียน “โรงเรียนอัสสัมชัญ คอนแวนต์” ทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บหลายราย

ส่วนอาทิตย์นี้ สาวโชคร้ายจอดรถลงคุยกับเพื่อน ถูกรถพ่วงทำตู้คอนเทนเนอร์ร่วงทับดับสยองคาที่

เรื่องแบบนี้จะให้เกิดกันอีกกี่ครั้งกี่หนครับ ผู้คนจึงจะมี “หลักประกันความปลอดภัย”

ใครจะเป็น “ผู้รับกรรม” (ผู้เคราะห์ร้าย) คนต่อไป ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือสร้างปัญหา แต่เราก็มักจะโทษให้เป็น “โชคร้าย” หรือ “คราวซวย” ของผู้บาดเจ็บล้มตาย โดยที่น้อยคนจะโทษไปที่ “ต้นเหตุ”

Advertisement

กรณีของเครนทำของหล่นใส่เด็กนักเรียนนั้น ขอชื่นชมผู้บริหารของโรงเรียนที่ตอบอย่างฉะฉานชัดถ้อยชัดคำว่า “เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้วในรอบปีนี้ ครั้งนี้หนักหน่อย เพราะมีคนบาดเจ็บจึงเป็นข่าว อุบัติเหตุแบบนี้เกิดขึ้นเพราะผู้ก่อสร้างไม่ใส่ใจในเรื่องของความปลอดภัย จึงทำงานอย่างไม่ระวังผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับผู้อื่น และทางเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่ได้ตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อเอาผิดกับผู้ไม่ทำตามกฎหมาย” คือ ท่านพูดสั้นๆ ง่ายๆ แค่นี้เองครับ แต่ได้ใจความครบถ้วนและได้ผลสัมฤทธิ์

เรื่องของการป้องกันอุบัติเหตุอันตรายในกรณีต่างๆ จึงหนีไม่พ้น “หลักการ 3E” ที่พูดกันมากว่า 50 ปีแล้ว เพราะหลักการนี้ยังคงใช้งานได้ผลเสมอ อันได้แก่

(1) Engineering คือวิศวกรรมเพื่อการออกแบบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องให้ปลอดภัยต่อการทำงาน เครื่องจักรอุปกรณ์ คนงาน กระบวนการผลิต สภาพแวดล้อม แสง สี เสียง เป็นต้น

Advertisement

(2) Education คือการศึกษาอบรมเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์และทำงานด้วยวิธีการที่ถูกต้องปลอดภัย รวมตลอดถึงการรู้จักเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างเหมาะสมด้วย เช่น หมวกนิรภัย หน้ากากกรองฝุ่น ที่อุดหูลดเสียง รองเท้าหัวเหล็ก เป็นต้น

(3) Enforcement คือการบังคับใช้กฎระเบียบหรือกฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง ทั้งภาคเอกชน (เจ้าของกิจการหรือโรงงาน) และภาครัฐ (ข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายต่างๆ) เพื่อให้หมั่นตรวจสอบสถานประกอบการต่างๆ ตามกฎหมายให้มีความปลอดภัยต่อคนงานและผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง

การป้องกันอุบัติเหตุและการสร้างเสริมความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำกันอย่างจริงจังทุกจุดและครบวงจรด้วย คือตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบงาน ผู้ปฏิบัติงานกับการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรอุปกรณ์ การบำรุงรักษา การจัดซื้อจัดจ้าง การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน วิธีการทำงาน กระบวนการผลิต การขนย้ายสิ่งของ การเก็บรักษา การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เป็นต้น

วันนี้ จึงได้แต่คิดว่าจะทำอย่างไรพวกเรา (คนไทย) จึงจะให้ความสำคัญกับเรื่องของ อุบัติเหตุ อันตราย และความปลอดภัย เฉกเช่นเดียวกับจิตสำนึกและวิธีปฏิบัติที่มีต่อสิ่งแวดล้อมหรือมลพิษ คือเมื่อมีปัญหาอุบัติเหตุอันตรายที่ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและมีผู้บาดเจ็บพิการแล้ว ก็จะมีผู้คนออกมาเดินขบวนเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เรื่องอุบัติเหตุอันตรายเป็น “ประเด็นทางสังคม” ที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงหรือออกกฎหมาย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของทุกผู้คนที่เกี่ยวข้องต่อไป (เหมือนกับเรื่องของการรณรงค์เก็บขยะ การลดพลาสติก การแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เป็นต้น)

ทุกวันนี้ยังจะต้องรอให้มีผู้คนบาดเจ็บ พิการ หรือล้มตายกันอีกกี่มากน้อย ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image