เขตวัดยานนาวา : โดย บัณฑิต จุลาสัย – รัชดา โชติพานิช

สำเภาวัดยานนาวา

เขตยานนาวา เป็นเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งครอบคลุมพื้นที่ กว้างขวางถึง 16.66 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทางตอนใต้ของกรุงเทพมหานคร โดยมีอาณาเขตดังนี้

ทิศเหนือ ติดกับเขตสาทรและเขตคลองเตย มีถนนจันทน์ คลองช่องนนทรี ถนนจันทน์เก่า ถนนนางลิ้นจี่ ซอยเย็นอากาศ ซอยเชื้อเพลิง 4 และแนวทางรถไฟสายช่องนนทรีเป็นเส้นแบ่งเขต

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต

ทิศใต้ ติดกับอำเภอพระประแดงและเขตราษฎร์บูรณะ มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต

Advertisement

และทิศตะวันตก ติดกับเขตบางคอแหลม มีถนนรัชดาภิเษกและถนนสาธุประดิษฐ์เป็นเส้นแบ่งเขต

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯเยือนวัดยานนาวา

ที่มาของชื่อเขตยานนาวา
นามเขตยานนาวานั้น มีที่มาจากนามของวัดยานนาวา วัดโบราณที่ปรากฏมาตั้งแต่ครั้งที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย ซึ่งเดิมทีนั้นชาวบ้านเรียกขานกันว่า วัดคอกควาย

ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรี ที่วัดคอกควายมีพระราชาคณะสถิตอยู่ จึงมีฐานะเป็นพระอารามหลวง และเรียกขานเป็นทางการว่า วัดคอกกระบือ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถขึ้น เพื่อให้สมฐานะพระอารามหลวง

Advertisement

ครั้นถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะโปรดฯให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ที่เริ่มเสื่อมสภาพแล้ว ยังทรงปรารภใคร่จะสร้างพระเจดีย์เพิ่มขึ้น แต่ด้วยทรงเห็นว่า ในเวลานั้น จะพบเห็นแต่พระสถูปหรือพระปรางค์ ในขณะที่เรือสำเภาแบบจีนที่พระองค์เคยใช้ในการค้าขายกับต่างประเทศตลอดมานั้น เริ่มไม่เป็นที่นิยม หากมีการต่อเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่งมากขึ้น จึงทรงวิตกว่า ต่อไปผู้คนจะไม่รู้จักเรือสำเภาจีน ประกอบกับทรงระลึกถึงบารมีธรรมทั้งหลาย แห่งพระเวสสันดรโพธิสัตว์ ที่อุปมาดุจสำเภายานนาวา ในมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์กุมาร ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ว่า วัดคอกกระบือนั้น ให้ทำสำเภาด้วยเครื่องก่อไว้หลังพระอุโบสถลำ 1 ยาว 1 เส้น ด้วยทรงเห็นว่านานไปจะไม่มีผู้เห็นสำเภา จึงให้ทำไว้เป็นสำเภาโลกอุดร พระราชทานชื่อว่า วัดยานนาวา และในตำนานวัตถุสถานซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาระบุว่า ในสำเภายานนาวานั้น มีรูปพระเวสสันดรโพธิสัตว์กับรูปชาลีกัณหา หล่อและจารึกประดิษฐานอยู่ที่ห้องท้ายบาหลี มีจารึกประกอบ ซึ่งปัจจุบัน ยังมีจารึกติดอยู่ 2 ฝั่ง ด้านหนึ่งเป็นอักษรจีน อีกด้านเป็นอักษรไทย ในชุมนุมพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกคำจารึกไว้ว่า

ห้องท้ายเรือ ประดิษฐานพระพุทธรูป และแผ่นจารึกเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก

 

ในภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ปรากฏรูปหล่อที่สันนิษฐานว่านี่คือรูปหล่อพระเวสสันดร กัณหาชาลีกำลังก้มกราบ

รูปขัติยดาบสพระองค์นี้ ทรงพระนามพระเวสสันดร เป็นพระบรมโพธิสัตว์อันประเสริฐ ยังชาติเดียวจะได้ตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า พระราชบิดาทรงพระนามพระเจ้าสญไชยราชครองกรุงเชตุอุดร พระผุสดีเป็นพระมารดา เมื่อพระมหาสัตว์ประสูติจากครรภ์พระราชมารดานั้น ออกพระวาจาขอทรัพย์พันกหาปะณะให้ทาน แล้วได้เปลื้องเครื่องประดับพระกายประทานให้พระนมถึง ๙ ครั้ง เมื่อทรงคิดจะบำเพ็ญอัชฌัติทางกายในอันยิ่งภริยา และมังษโสหิตชีวิตร์ของพระองค์เป็นทาน
แผ่นดินไหวถึงพรหมโลกย์…

ที่มาของเขตยานนาวา
สำหรับเขตยานนาวานั้น มีที่มาจาก อำเภอบ้านทวาย ที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีความสรุปว่า ทวาย ซึ่งเป็นหัวเมืองหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของพม่านั้น มังจันจา เจ้าเมืองทวาย ผู้เคยให้ความอุปถัมภ์ช่วยเหลือ พระหลานเธอ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนรามินทรสุดาราชภาคิไนย พระธิดาของเจ้ารามณรงค์พระเชษฐาธิบดี ที่เคยถูกพม่ากวาดต้อนไปพม่า เมื่อครั้งกรุงแตก ต่อมาทรงหลบหนีไปผนวชเป็นชี อยู่ที่เมืองทวาย ต่อมาเมื่อ มังจันจา มีเรื่องผิดใจกับพระเจ้าอังวะ จึงปลงใจจะขอสวามิภักดิ์กับไทย พร้อมกันนั้นได้ชักชวนเกลี้ยกล่อมพระยามะริด และพระยาตะนาวศรี ซึ่งว่าราชการเมืองมะริด และเมืองตะนาวศรี ให้กราบทูลขอเป็นข้าขอบขันฑสีมาของสยามประเทศ

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองทวาย ขึ้นกับกรุงเทพฯ เพื่อจะได้เป็นกำลังป้องกันพระนคร อีกทั้งทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงชาวเมืองทวาย ที่ติดตามมาอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยตอนแรก โปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกป่าช้าวัดสระเกศไปพลางก่อน จากนั้นให้บางส่วนไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่วัดคอกกระบือ ทางตอนใต้ของพระนคร ซึ่งต่อมาจึงได้เรียกขานย่านนี้ว่า บ้านทวาย

ในบริเวณพื้นที่บ้านทวายนี้ ยังมีอีกวัดโบราณที่สันนิษฐานว่าสร้างโดยชาวทวาย ตั้งแต่ครั้งที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานสมัยรัชกาลที่หนึ่ง ที่สร้างขึ้นด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวทวายในราว
ปี พ.ศ.2340 บนที่ดอนของบ้านทวาย ที่เรียกขานว่า วัดดอนทวาย

บ้านทวาย ที่เริ่มแรกจากคนทวาย แต่ต่อมากลายเป็นชุมชนใหญ่ ของบรรดาผู้คนจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวอังวะที่อพยพมาภายหลัง ดังเช่นในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 พ.ศ.2362 ระบุว่า โปรดเกล้าฯ ให้มองสวยตอง พระราชวงศ์เจ้าอังวะ ที่หนีเข้ามาจากเหตุการเมืองในพม่า มาอยู่บ้านพะม่าคอกกระบือ มองสวยตองจึ่งสร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์ 1 พวกพะม่าและมอญพากันนิยมยินดีนับถือมองสวยตองมาก จนถึง พ.ศ.2400 ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดบรมสถล แต่ผู้คนทั่วไปยังคงเรียกขานว่า วัดดอนทวาย หรือวัดดอน เพราะนอกจากจะมีคนทวายแล้ว ยังมี มอญ พม่า และไทยใหญ่ โยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน ที่รู้จักว่าบริเวณวัดดอน เป็นชุมชนมอญสำคัญแห่งหนึ่งใน
กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่วัดดอนทวาย อยู่ติดกับสุสานจีน ที่มีพื้นที่กว่าร้อยห้าสิบไร่ใหญ่ จึงเป็นที่รู้จักของชาวจีน คือ ป่าช้าวัดดอน ซึ่งสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และสมาคมใหหนำ เป็นผู้ดูแล

เดิมทีป่าช้าวัดดอน เป็นพื้นที่ห่างไกลจากชุมชน การเข้าถึงได้เฉพาะด้านถนนเจริญกรุง มีสภาพเปลี่ยว จนมีเรื่องเล่าลือต่างๆ มากมาย รวมทั้งเทศกาลล้างป่าช้าที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

เรือสำเภาวัดยานนาวา ภายหลังซ่อมแซม ราว พ.ศ.2470
ที่มา ข้อมูลจากวัดยานนาวา
วัดบรมสถล หรือที่รู้จักกันในชื่อวัดดอน แขวงทุ่งวัดดอน เดิมเคยอยู่ในเขตยานนาวา ปัจจุบันอยู่ในเขตสาทร

ปัจจุบัน มีทางยกระดับบางโคล่ และถนนเจริญราษฎร์ตัดผ่าป่าช้า รวมทั้งมีถนนเย็นจิต ที่แยกจากถนนจันทน์มาจนถึงสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ประกอบกับมีผู้คนตั้งบ้านเรือนมากขึ้น รวมทั้งมีสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง โรงเรียนวัดดอน โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย โรงเรียนวัดปรก โรงเรียนนิพัทธ์วิทยา ฯลฯ ทำให้พื้นที่ป่าช้าวัดดอน กลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กลางเมือง มีผู้คนแวะเวียนไปออกกำลังกายทั้งเช้าเย็น เรื่องราวป่าช้าวัดดอนจึงเป็นเพียงตำนานเล่าขานกันเท่านั้น

อีกทั้งเมื่อมีการแบ่งเขตพื้นที่การปกครองของกรุงเทพมหานครใหม่ ป่าช้าวัดดอนจึงไปอยู่ในพื้นที่เขตสาทรแทน

อําเภอบ้านทวาย
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏนามสถานที่เรียกบ้านทวายอยู่หลายแห่ง ดังเช่นในสารบาญชี พ.ศ.2426 ปรากฏนาม บ้านหมู่ตลาดหลวงนาวา บ้านทวาย กรุงเทพฯ บ้านหมู่ทวายในกรอก
(ตรอก) แยกข้างวัดมหันต์หลังโบสถ์พราหมณ์ และบ้านหมู่ทวายวัดคอกควาย ถนนเจริญกรุงนอก กรุงเทพฯ และที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา มีตำบลบ้านทวาย วัดสระเกษ ท้องที่อำเภอสำเพ็ง สันนิษฐานว่ามีชุมชนชาวทวายมาพำนักอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่หลายแห่ง แต่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดน่าจะอยู่ที่วัดคอกควาย ถนนเจริญกรุง ซึ่งต่อมากลายเป็นตำบลบ้านทวาย และอำเภอบ้านทวายไปในที่สุด

ในสมัยรัชกาลที่ 6 บ้านทวาย วัดคอกควาย มีฐานะเป็นอำเภอบ้านทวาย ดังมีรายเอียดในประกาศยกอำเภอชั้นในและชั้นนอกใหม่ 25 อำเภอ ดังนี้

19 อำเภอบ้านทวาย
ทิศเหนือต่ออำเภอสาธร แต่ปากคลองสาธร เข้าไปตามลำคลองสาธรฝั่งใต้ถึงคลองช่องนนทรี เลี้ยวไปตามลำคลองช่องนนทรีฝั่งใต้ถึงหลักเขตร์ต่ออำเภอเมืองจังหวัดพระประแดงทิศตะวันออกต่ออำเภอเมือง จังหวัดพระประแดง แต่หลักเขตร์ริมคลองช่องนนทรีตัดไปตามลำรางและคันนา ถึงคลองบางมะนาว เลียบตามลำคลองบางมะนาว ฝั่งตะวันตก ออกลำน้ำเจ้าพระยา ทิศใต้ต่ออำเภอราษฎร์บุรณะ แต่ปากคลองบางมะนาวฝั่งเหนือไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงท่าถนนตก ทิศตะวันตกต่ออำเภอบุคโล แต่ท่าถนนตกไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ฝั่งตวันออกถึงปากคลองสาธรฝั่งใต้ ในเขตรนี้เปนท้องที่อำเภอบ้านทวาย

เจดีย์ในวัดบรมสถล มีป้ายระบุว่า ราชวงศ์พม่านามว่า โพ้ส่วยด่อง สร้างไว้เมื่อ พ.ศ.2385 เจ้าอาวาสวัดดอนบูรณะใหม่เมื่อ พ.ศ.2531

อําเภอยานนาวา
มาจนถึง พ.ศ.2482 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายชาตินิยม จึงเปลี่ยนนามอำเภอต่างๆ ในประเทศไทย ที่มีคำอ่านหรือสำเนียงเป็นภาษาต่างด้าว โดยมีเหตุผลว่า โดยเห็นสมควรจะเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบล เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอและตำบลบางแห่ง พุทธศักราช 2482 จึงกำหนดให้ อำเภอบ้านทวาย เป็นอำเภอยานนาวา มานับแต่บัดนั้น

ต่อมา พ.ศ.2514 มีการรวมจังหวัดธนบุรีและพระนครเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 เปลี่ยนเป็นกรุงเทพมหานคร แบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครออกเป็นเขต จึงเปลี่ยนเป็น เขตยานนาวา

เขตยานนาวา
ในปี พ.ศ.2516 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งกรุงเทพมหานครออกเป็นเขต เขตยานนาวา ประกอบด้วย 8 แขวง ได้แก่ แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงช่องนนทรี แขวงบางโพงพาง แขวงบางโคล่ แขวงบางคอแหลม และแขวงวัดพระยาไกร

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 มีการเปลี่ยนแปลงแบ่งเขตยานนาวาออกเป็น 3 เขต ดังความว่า เนื่องด้วยท้องที่เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร มีอาณาเขตกว้างขวาง และมีพลเมืองอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น ท้องที่บางแขวงอยู่ห่างไกลจากสำนักงานเขต เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง และเพื่อประโยชน์ในด้านการบริหาร การปกครองและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในท้องที่ … จึงเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร และตั้งเป็นเขต 3 เขต คือ เขตยานนาวา เขตสาธร และเขตบางคอแหลม

ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบัน เขตยานนาวา มีพื้นที่การปกครองเพียง 2 แขวง ได้แก่ แขวงช่องนนทรี และแขวงบางโพงพาง

และทำให้วัดยานนาวา และแขวงยานนาวา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเขตยานนาวานั้น ไปอยู่ในพื้นที่เขตสาทร กลายเป็นเรื่องแปลกเรื่องหนึ่ง ของกรุงเทพมหานคร ที่วัดยานนาวา ไม่ได้อยู่ในเขตยานนาวา

บัณฑิต จุลาสัย – รัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สวนสุขภาพ สมาคมแต้จิ๋ว ที่เดิมเคยอยู่ในแขวงทุ่งวัดดอน เขตยานนาวา (ปัจจุบันอยู่ในเขตสาทร) ปรับภูมิทัศน์สุสานให้เป็นลานวิ่งออกกำลังกายท่ามกลางฮวงซุ้ย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image