“คานธี” ซื่อสัตย์ รักประชาชน สันติภาพ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยเราหากวิเคราะห์และสังเคราะห์ดูแล้ว…ณ วันนี้ ประเทศไทยต้องการ… “คนสร้างชาติ” คนที่ต้องการให้ประเทศนี้มีอนาคตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่…ประเทศต้องการคนที่มีหัวใจ… “รักชาติ” มีหัวใจ… “รักคนในชาติ” และมี “หัวใจ”… รักคนที่สร้างชาติในทางสร้างสรรค์ ปัจจุบันคนไทยต้องการจะเห็นภาพอะไรบ้าง…?

คนจำนวนหนึ่งอาจจะเห็นแต่ภาพแง่ลบ ภาพในอนาคตที่ไม่ค่อยจะสวยงามนัก เช่น การเมืองวุ่นวายทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ สังคมแตกแยกแบ่งเป็นสีต่างๆ เศรษฐกิจตกต่ำ คนบางส่วนใช้ชีวิตด้วยความลำบาก เพราะปรับตัวตามโลกยุคใหม่ ไม่ทันเด็กวัยรุ่นมีปัญหายาเสพติดล้นเมือง ครอบครัวแตกแยก การศึกษาไร้คุณภาพ เกษตรกรยากจน สภาพแวดล้อมแปรปรวน เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้น น้ำท่วมแล้งจัด แผ่นดินทรุด โคลนถล่ม ฯลฯ

“ประเด็น “ความรักชาติ” ในสังคมไทยเท่าที่ติดตามพออนุมานแบ่งแยกได้ 3 ประเภท : ประเภทแรก : เรียกว่ารักชาติแบบ “ไม่ลืมหูลืมตา” หรือชาตินิยมสุดโต่ง คิดว่าชาติตัวเองดีที่สุดในโลก ดูถูกชนชาติอื่นไปหมด ผิดกับตัวเองไม่ยอมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ จากภายนอกนำมาประยุกต์ใช้

พร้อมเปลี่ยนมิตรเป็นศัตรู ประเภทที่สอง : เรียกว่า รักชาติแบบ… “ปากว่าตาขยิบ” หรือรักแต่ปากหรือเพียงแสดงการกระทำว่ารักชาติภายนอก คำก็รักชาติ สองคำก็รักชาติ แต่เมื่อได้มีโอกาส มีช่องทางที่ตัวเองได้ประโยชน์ ก็พร้อมที่จะกอบโกยเพื่อตัวเอง ไม่สนใจว่าสังคมส่วนรวม หรือประเทศจะเสียหายเพียงใด เช่นโกงภาษี คอร์รัปชั่น ทำลายสิ่งแวดล้อม ตัดไม้ทำลายป่าประเภทที่สาม : เรียกว่า รักชาติแบบ “ร่วมแรงร่วมใจ” หรือเห็นแก่ประเทศไทย เห็นแก่คนในชาติ เมื่อเห็นสิ่งใดดี เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคมส่วนรวม ก็ยินดีให้ความร่วมมือ แม้จะต้องเสียสละ ออกแรง หรือแม้เสียผลประโยชน์ส่วนตัวก็ตาม เช่นเสียภาษีเต็มจำนวน มีวินัย ร่วมต่อต้านคอร์รัปชั่น ช่วยดูแลสิ่งของสาธารณะ มีจิตสาธารณะ ช่วยรัฐพัฒนาประเทศ เป็นต้น ความรักชาติประเภทที่สามนี้จะนำมาซึ่งความเจริญกับประเทศมากที่สุด แต่พบว่ามีจำนวนน้อยที่สุด ประเภทที่มากที่สุดคือพวกรักชาติแบบปากว่าตาขยิบ และรองลงมาคือรักแบบไม่ลืมหูลืมตา

Advertisement

“หากพิจารณาดูในความเป็นจริงแล้ว… “ความรักชาติ” ต้องแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวม ของชาติ คำนึงถึงผู้อื่น คำนึงถึงส่วนรวมไกลออกไปจากไกลตัว…ประวัติศาสตร์…คืออดีตที่สอนใจคนที่เป็นต้นแบบ ถ้าศึกษาคือ “มหาตมะ คานธี” ซึ่งมีชีวิตเริ่มต้นจาก “ศูนย์” กอบกู้ประเทศอินเดียซึ่งยากจน แบ่งแยกวรรณะ ศาสนา เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ต่อสู้จนได้รับเอกราชในท้ายที่สุด…

“คานธี” เกิดที่อินเดีย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1869 เป็นลูกคนสุดท้ายของครอบครัวชาว “ฮินดู” ชั้นกลาง ซึ่งบิดาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่ง มารดาเขายึดมั่นในศาสนาและสอนลูกๆ ให้เห็นความสำคัญของการ… สวดมนต์และการอดอาหาร เมื่ออายุได้ 13 ปี เขาก็แต่งงานกับเด็กสาวรุ่นเดียวกันชื่อ”คาสเตอร์ไบ” (kasturbai) แต่เขาก็ยังคงไปโรงเรียน

ครอบครัวของคานธี หวังจะให้เรียน “กฎหมาย” เพื่อที่จะได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี เหมือนบิดาเขาสักวันหนึ่ง เขาเดินทางไปอังกฤษตอนอายุ 18 ปี เพื่อเรียน “กฎหมาย” คานธีอยู่ในอังกฤษ 3 ปี เขาถูกเรียกตัวไปศาล ซึ่งหมายความว่า เขาสามารถทำงานเป็น “ทนายความ” ได้ ในช่วงนั้นความคิดเขาเกี่ยวกับประเทศบ้านเกิด (อินเดีย) ส่วนใหญ่แล้วเป็นไปในทางที่ดีและคานธีก็ได้พบหนังสือที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของเขาตลอดมาคือ… “ภควัทคีตา”

แต่เมื่อกลับอินเดีย เขาก็พบว่าเป็นการยากที่จะได้เป็นทนายความ เขาจึงดีใจที่จะรับไปทำงานใน… “แอฟริกาใต้”

ณที่นั้น เขาได้พบการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับคนอินเดีย เห็นเป็นของธรรมดาก็คือ… “การถือผิว” ของคนนั่นเอง ดังเช่นที่เขาได้พบในการเดินทางไป.. “ปรีตอเรีย” (Pretoria) เขามีตั๋วรถไฟชั้นหนึ่ง แต่เขาก็ได้รับคำสั่งให้ขนสัมภาระออกจากรถ เมื่อเดินทางไปครึ่งทาง เพราะ “คนขาว” ต้องการที่นั่งนั้น แต่เขาก็ไม่ล้มเลิกการเดินทาง เขาลุกเดินทางจากไปทั้งหนาวและหวาดหวั่น อยู่ในชานชาลาตลอดคืนเขาเดินทางต่อแม้เขาจะถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย เมื่อเขาปฏิเสธที่จะสละที่นั่งในรถอีกครั้งหนึ่ง

“คานธี” เห็นว่าในแอฟริกาใต้ มีงานให้เขาทำ เขาจึงพาคนอินเดีย 2-3 คนไปด้วย เพื่อปรึกษากันถึงฐานะ “ทางการเมือง” เขาบอกพวกนั้นในครั้งแรกว่า “พวกเราต้องปรับปรุงตัวเอง” พวกเราต้องแสดงให้เห็นว่าได้ทำตัวสะอาดสะอ้าน ทำงานหนักได้และจะทำงานด้วย… “ความซื่อสัตย์” คานธีเชื่อในสิ่งเหล่านี้และสอนคนทั่วไปตลอดชีวิตเขา

“คานธี” อยู่ในแอฟริกาใต้ และทำงานเพื่อเพื่อนร่วมชาติเป็นเวลา 20 ปี กฎที่เขาวางไว้นั้นเขาก็ได้ใช้มันต่อมาในอินเดีย ในตอนแรก…เขาทำให้คนอินเดียเคารพตนเอง…จากนั้นให้รู้จักต่อสู้เพื่อสิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมาย…ต่อต้านทุกข้อที่จะทำให้เขาด้อยกว่าประชาชนคนอื่นๆ…เขาก่อตั้ง “สภานาทาล” เพื่อดูแลผลประโยชน์ของชาวอินเดียทั้งหมด ทุกๆ ศาสนาและทุกๆ วรรณะ และเขาก็ทำให้ประชาชนทั้งใน “อังกฤษ” และใน “อินเดีย” ได้รับรู้เกี่ยวกับงานนี้ทั้งหมด

ในช่วงนี้ “คานธี” ได้ค้นคว้าอ่านหนังสือ 2 เล่ม ซึ่งมีอิทธิพลต่อเขามาก คือ งานเขียนของ “ตอลสตอย” ชื่อ… “The Kingdom of God in within you” และงานเขียนของ “รัสกัน” ชื่อ… “Unto This Last” จากหนังสือเหล่านี้ สิ่งที่เขาทำในแอฟริกาใต้ เราก็จะได้เห็น ทุกสิ่งเช่นเดียวกันนั้นในอินเดีย สิ่งสำคัญคือ… “ความสะอาด”… “ความซื่อสัตย์” ที่เขามอบให้ทุกๆ คน…

การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาในแอฟริกาใต้…ก็คือ “พลังในการหาสันติภาพโดยไม่ใช้วิธีรุนแรง” หรือเรียกว่า “สันตยากร” (Satyagraha) เขาเคยใช้วิธีนี้ในทรานสวาล เมื่อรัฐบาลมีคำสั่งให้ชาวอินเดียทั้งหมดจดทะเบียน ตัวเขาเองและเพื่อนๆ ถูกส่งเข้าคุก และเข้าๆ ออกๆ อยู่เป็นปีๆ เพราะการต่อต้านจดทะเบียนนั้น ก่อนที่รัฐบาลจะพ่ายแพ้ต่อประชาชนผู้ยากไร้นับพันคน แต่ในท้ายที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้แก่รัฐบาล “คานธี” จึงเดินทางกลับอินเดีย เขาได้สั่งสอนผู้ยากไร้และชาวอินเดีย “ผู้รักสันติภาพ” ถึงวิธีการต่อสู้ เพื่อความถูกต้อง โดยปราศจากรุนแรง เขาทำให้ประชาชนตระหนักดีว่า พวกเราไม่ได้ต่อสู้กับประชาชนที่เลวร้าย แต่ต่อสู้เพื่อความ “เป็นธรรม” และ “ความคิดที่ไม่ถูกต้อง” ซึ่งสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ เขาเริ่มต้นทำงานด้วยวิธีเดียวกันนี้ในการ “ขออิสรภาพของชาวอินเดียจากอังกฤษ” ในขั้นแรก…เขาก็เริ่มต้นสวมเสื้อผ้าแบบชาวอินเดีย และตั้งแต่นั้นมาเขาก็มักจะถูกพบเห็นอยู่ในชุด… “กางเกงขาวมีผ้าคาดเอวสีขาว” บางทีก็สวมเสื้อบางทีก็ไม่สวม

“ต่อมาเขาก็สร้างอาศรม (Ashram) หรือศูนย์กลางที่ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างง่าย ใกล้… “อาบีดาบัด” แล้วก็เริ่มปลูกฝังในสิ่งที่เขาคิดว่า “ถูกต้อง” อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าเขาจะไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเพื่อนๆ ที่ร่ำรวย เขาได้นำพวก “จัณฑาล” ซึ่งเป็นชาวอินเดียนี้มีวรรณะต่ำสุด มายังอาศรมแห่งนี้แม้ว่ามีผู้คัดค้าน ตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา.. การต่อสู้เพื่อต่อต้านความเลวร้ายของการแบ่งชนชั้นวรรณะนี้ นับเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานของ…”คานธี”

เป็นเวลา 1 ปี ที่ “คานธี” ได้มีส่วนร่วมสังคมเล็กๆ ซึ่งเขามีโอกาสทดลองใช้วิธี “สัตยากร” ของเขาใน”บิฮาร์” และแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถใช้วิธีนี้เพื่อต่อต้าน “อังกฤษ” เป็นเพราะเขาใช้ความรอบคอบ ความถูกต้องของข้อเท็จจริง เป็นเพราะเขาปฏิเสธคำสั่งที่ให้ออกจากเมือง และเป็นเพราะตัวเขาเองถูกจับเข้าคุก เขาจึง “ชนะการต่อต้าน” … “คานธี” ได้ใช้วิธีนี้หลายครั้งประสบความสำเร็จ ได้แก่การประท้วงของคนงานโรงสี ประท้วงเจ้าของโรงสีด้วยการอดอาหารเป็นครั้งแรก และในเวลาต่อๆ มา

“คานธี” ไม่เคยโดดเดี่ยว ยกเว้นเวลาเขาอยู่ในคุก เขารักประชาชน ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวไว้ว่า… “ข้าพเจ้าต้องการพบพระเจ้า แต่ก็ไม่เชื่อว่าข้าพเจ้าจะพบพระองค์ได้โดยลำพัง ถ้าข้าพเจ้าเชื่อเช่นนั้น ข้าพเจ้าคงรีบวิ่งไปที่ภูเขาหิมาลัยเพื่อค้นหาพระองค์… ข้าพเจ้าจึงต้องการจะร่วมทำงานเหล่านี้ให้กับคนอื่นๆ เพราะต้องการนำพวกเขาไปพบพระองค์พร้อมกับข้าพเจ้าด้วย”… ประชาชนทุกชาติทุกภาษา ทั้งหญิง ชาย ผู้ใหญ่ เด็กหนุ่ม และเด็กสาวต่างพากันมาหาเขา ร่วมทำงานกับเขา คานธีมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสมถะ โดยมีเขาเป็น “ผู้นำ” ไม่มีการรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ใครสูงกว่าใคร ทุกคนต้องทำงานร่วมกัน สวมเสื้อผ้าง่ายๆ ที่ใช้ผ้าพื้นเมืองทอด้วยมือเท่าที่ทำได้ ซึ่งต่อมากลายเป็น “สัญลักษณ์” ของชาวอินเดีย เขาทำให้ทุกคน…เชื่อมั่นในตัวเองและมีพลังในการปกครองและอาณาจักรของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม…มันเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมไม่ให้มีการกระทำรุนแรง หรือไม่เชื่อฟังกันในประเทศกว้างใหญ่ ดังเช่นประเทศ “อินเดีย” คานธีพบความจริงข้อนี้เมื่อเขาเริ่มการต่อต้านกฎหมายใหม่ที่เรียกกันว่า… “ลอว์เลตต์” (Rowlatt) ซึ่งนำความรุนแรงสู่แคว้นปัญจาบ นับเป็นการกระทำที่เลวร้ายที่สุดที่อังกฤษได้กระทำ เกิดการยิงกันที่อัมริสาร์ (Amritsai) คานธียุติการต่อต้านและเดินทางกลับอาศรม เพื่อทบทวนนโยบายของเขาใหม่

“คานธี” มักจะออกไปพบปะผู้คนทั่วไปอยู่เสมอ และทุกแห่งที่เขาไปจะมีประชาชนนับพันๆ คนมาพบเขา เขาถูกผู้คนจำนวนมากเรียกว่า…”มหาตมะ” (ผู้มีจิตใจสูง) ซึ่งเขาไม่เคยชอบมันเลย คานธีมักจะให้ความเป็นมิตรสนิทสนมกับคนยากจนตามชนบทเสมอ และพวกชาวบ้านเมื่อมีปัญหาจะมาพบเขา

ในช่วงท้ายของชีวิต “คานธี” ได้หันเหแนวทางของเขาจากทางการเมือง และพยายามจะปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน ของชาวชนบทยากจนของอินเดียแทน ทุกๆ อย่างที่เขาทำส่วนใหญ่นำไปใช้ปฏิบัติได้ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนหนังสือ และการทำงานพื้นบ้าน ปลูกผัก เลี้ยงผึ้ง เป็นต้น

เมื่ออังกฤษทำสงครามกับเยอรมันในปี 1959 อังกฤษก็นำอินเดียร่วมรบด้วยโดยไม่มีการถามความสมัครใจ “เนรูห์”และรัฐสภาอินเดียต้องการจะช่วยอังกฤษรบ ถ้าอังกฤษจะให้สัญญาว่าจะคืนเอกราชให้อินเดียในภายหน้าแต่อังกฤษก็ได้แต่ให้สัญญาแต่ไม่ยอมปล่อยอินเดียให้เป็นอิสระ แต่ตอบแทนการดิ้นรนเพื่ออิสรภาพของชาวอินเดียอย่างรุนแรง โดยการจับกุม “ผู้นำ” ทั้งหมดเข้าคุก รวมทั้ง “คานธี” และ “คาสเตอร์ไบ” คาสเตอร์ไบเสียชีวิตในคุก “คานธี” ได้ออกจากคุก เมื่อสุขภาพทรุดโทรมลงมาก

ในที่สุดก็มีการทำสนธิสัญญามอบ “เอกราช” กันขึ้นภายหลังสงคราม และรัฐสภาอินเดียเข้ารับมอบอำนาจหน้าที่จาก “อังกฤษ” อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมไม่ต้องการเข้าร่วมรัฐบาล เพราะพวกเขาต้องการแยกตัวเป็นประเทศอิสระอีกประเทศหนึ่ง คือ “ปากีสถาน” จึงเกิดการต่อสู้อย่างรุนแรง “คานธี” เสียใจมาก ที่เห็น “มุสลิม” และ “ฮินดู” ฆ่าฟันกันตายนับเป็นจำนวนพัน เขาจึงเริ่มทำในสิ่งที่เขาเชื่อถือเสมอมา ก็คือการเดินทางไปตามชนบทที่ “กันดาร” ต่างๆ เดินทางด้วยเท้าจากตำบลหนึ่งในอีกตำบลหนึ่ง เพื่อสวดอ้อนวอนให้เกิด… “สันติภาพ”

ในวันที่ 15 สิงหาคม 1947 อินเดียก็ได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ แต่ “คานธี” ยังคงพยายามที่จะทำให้เกิด “สันติภาพ” ระหว่าง “ฮินดู” และ “มุสลิม” และแล้วในวันที่ 30 มกราคม 1948 “คานธี” ถูกลอบยิงจนเสียชีวิตโดยชาว “ฮินดู” ในสถานที่ที่เขาเข้าไปสวดมนต์ทุกวัน ซึ่งทุกคนสามารถเข้าได้…นับเป็นเรื่อง “น่าเศร้า”… ที่ชายผู้ซึ่งพยายามใฝ่หา “สันติภาพ” และนำสันติภาพไปสู่สถานีต่างๆ ไม่ว่าจะยุ่งยากแค่ไหน จะพบจุดจบที่โหดร้ายแต่ “คานธี” เขาเตรียมตัวพร้อมที่จะตายเสมอ เขารู้ว่า “แนวคิด” (Concept) ของเขาจะยังคงอยู่ตลอดไปในแผ่นดินแม่ นั่นคือ “ต้นแบบ” ของบุคคลในประวัติศาสตร์ของ “อินเดีย” ที่รักชาติอย่างแท้จริง

ท้ายสุด มหาตมะ คานธี บอกว่าวัตถุประสงค์ของชีวิตมี 3 ประการ : อยู่ให้ถูกต้อง คิดให้ถูกต้อง และทำให้ถูกต้อง ชีวิตเรา… ก็มีเพียงเท่านี้ ก็อยู่ได้อย่างสุขสบายตลอดไปนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image