สังคมมนุษย์ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

มนุษย์ : มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งแต่มีลักษณะแตกต่างจากสัตว์อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน 3 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

1.มนุษย์มีสมองที่มีประสิทธิภาพมากกว่าสัตว์ มีความจำอันยาวนาน มีความสามารถในการคิดด้วยเหตุผลทั้งในแง่รูปธรรมและนามธรรม

2.มนุษย์มี 5 นิ้ว ซึ่งมีลักษณะคล้ายมนุษย์ คือ สัตว์ประเภทลิงเท่านั้น การมีนิ้ว 5 นิ้ว ทำให้ผสมผสานกับสมองสามารถจะสร้างเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธได้

3.มนุษย์มีความสามารถที่จะพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและศีลธรรม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมากกว่าสัตว์ทั่วไป

Advertisement

นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว มนุษย์ยังมีกล่องเสียงสามารถส่งเสียงได้มากกว่าสัตว์ ทำให้สามารถสื่อสารเป็น “ภาษาพูด” ที่ยุ่งยากซับซ้อนได้มากกว่าสัตว์ เพราะเสียงสัตว์ที่เปล่งออกมามีจำกัด เมื่อผสมผสานกับสมองและความจำอันยาวนาน รวมทั้งความสามารถในการ “คิดเป็น” ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวไกลกว่า “สัตว์” ด้วยเหตุนี้ “มนุษย์” จึงดูตัวเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ สามารถที่จะจับช้างตัวใหญ่ๆ มาฝึกจนเชื่องได้ สามารถจับวาฬ สามารถนำม้าหรืออูฐมาเป็นพาหนะ และยังสามารถใช้สัตว์ดังกล่าวมาเพื่อใช้ในการเดินทางไกลด้วยความเร็ว นอกจากนี้ ยังมีการสร้างยานพาหนะบรรทุกของจำนวนมาก มีเครื่องทุ่นแรง มีเรือข้ามมหาสมุทร มีเครื่องบิน ที่บินอยู่บนอากาศ มนุษย์สามารถจะสื่อสารและขนส่งได้ไกลโดยมีปริมาณมาก

โดยทั้งหลายทั้งปวงนี้เกิดจาก “สมอง” และความสามารถในการ “คิด” อย่างเป็นระบบ มีตรรกะด้วยเหตุด้วยผล ความสามารถของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐจึงเหนือกว่าสัตว์เดรัจฉาน หรือสัตว์อื่นทั่วไป ที่สำคัญ คือ…มนุษย์สามารถสร้าง “วัฒนธรรม” อันได้แก่การสร้างค่านิยม ปทัสถาน หรือแนวทางปฏิบัติขนบธรรมเนียมประเพณีมีการกำหนดสิ่งที่ถูกที่ผิด สิ่งที่ควรไม่ควร รู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักเชื่อ สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยรวม มีมิตรจิตรมิตรใจทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมากระหว่างสัตว์ที่เป็น “สัตว์ประเสริฐ” คือ “มนุษย์” กับสัตว์อื่นๆ

แต่ “มนุษย์” ก็มีข้อจำกัด กว่ามนุษย์จะเติบโตจนสามารถช่วยตัวเองได้ต้องใช้เวลานานๆ อย่างน้อย 15 ปี ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงดูประคบประหงม อบรมสั่งสอนสัตว์อื่น เช่น ช้างและม้า เมื่อคลอดออกจากท้องแม่สามารถเดินเหินได้ทันที แต่สำหรับ “มนุษย์” นั้น กว่าจะยืนหยัดบนขาตัวเอง ทำมาหากินด้วยการล่าสัตว์ได้ต้องใช้เวลายาวนาน ยิ่งในปัจจุบันซึ่งจะต้องมีความรู้ในทาง “วิชาชีพ” บางครั้งการเป็นตัวของตัวเองอาจต้องใช้เวลาถึง 20-25 ปี จนกว่าจะจบการศึกษาที่กำหนดโดยสังคม เช่น วิชาแพทยศาสตร์ ทันแพทยศาสตร์ เป็นต้น

Advertisement

ในส่วนของ “พละกำลัง” นั้นมนุษย์ไม่มีกำลังมากมาย เมื่อเทียบกับมด ซึ่งแบกของซึ่งมีน้ำหนักกว่าตัวหลายเท่า “มนุษย์” เป็นสัตว์ที่อ่อนแอปราศจากเขี้ยวเล็บ แต่อาศัยที่มี “สมอง” ที่เหนือกว่า “สัตว์” มีนิ้วมือ มีความคิด ที่เหนือกว่าสัตว์จึงสร้างอาวุธขึ้นมาเพื่อ “ป้องกันตัวเอง” และเพื่อ “ล่าสัตว์” ในการดำรงชีวิตต่อมามนุษย์ยังเรียนรู้การ “จับสัตว์” ทั้งบนบก ในน้ำ รวมทั้งในอากาศมากินเป็น “อาหาร” และมา “เลี้ยงเพื่อแพร่พันธุ์” ผนวกกับการ “เพาะปลูกเพื่อการเกษตร” ทำเครื่องมือเครื่องใช้กลายเป็น “อุตสาหกรรม” พื้นฐานมนุษย์จึงพัฒนามาก้าวไกลกว่าสัตว์จากในยุคโบราณมากมาย

ยิ่งต่อมาในยุคมีการ “ค้นพบเครื่องจักรไอน้ำ” มนุษย์ก็สร้างเครื่องทุ่นแรงขนาดใหญ่ขึ้นและมีการใช้ “น้ำมัน” เป็นพลังงานมนุษย์ก็ยิ่งมีเครื่องทุ่นแรงที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากกว่าเดิมมาก มีเครื่องไฟฟ้าและเครื่องจักรที่ใช้พลังงานจาก “น้ำมัน

จนมาถึงยุค “ข่าวสารข้อมูล” (IT) มนุษย์สามารถจะสื่อสารกันได้ทั้งทาง “เสียง” และ “ภาพ” ได้อย่างรวดเร็ว ข้ามจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่ง สามารถบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ด้วยตัวอักษรหรือทั้งเป็นภาพเก็บไว้ได้ยาวนาน

มนุษย์ยังสามารถสร้างอาวุธที่มีศักยภาพทำลายสูงสุดหรือ “ปรมาณู” และสามารถสร้างยานสำหรับเดินทางข้ามทวีป รวมทั้งออกนอกโลกไปยังดวงจันทร์ได้

แต่ที่มีการพัฒนาที่สำคัญยิ่ง คือ “มนุษย์” สามารถเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในอดีตตั้งแต่ กาฬโรค ฝีดาษ อหิวาตกโรค ฯลฯ รวมทั้งการผลิตวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค ป้องกันโรคติดต่อ เช่น โปลิโอ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หรือวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค จนมนุษย์มีอายุขัยยืนยาวนานกว่าเดิม รวมทั้งสร้างมิติการดูแลสุขภาพด้วยการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อNCD ด้วยปิงปองจราจรชีวิต 7 สี มาเป็นเครื่องมือที่ง่ายและเหมาะกับ อสม.รวมถึง “หมออนามัย” ในการเฝ้าระวังโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาต โรคไตวาย ฯลฯ เป็นต้น ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วิถีชีวิตเพื่อป้องกันการป่วยจากโรค และตายจากโรคเบาหวาน ความดัน ด้วย 3อ. 3ลด : ออกกำลังกาย วันละ 30 นาที อาทิตย์ละ 3 วัน อาหาร ทานให้ครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม อารมณ์ การมีสุขภาพจิตที่ดี 3 ลด ลดอ้วน ลดเหล้า ลดบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น ด้วยการดูแลสุขภาพคนทุกวัยตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา วัยทารก วัยเรียน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วย ผู้ตาย จนถึงเชิงตะกอน มีการดูแลอบรมกล่อมเกลา การพัฒนาสติปัญญาด้าน IQ EQ ME ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กโตจนเป็นกำลังสำคัญได้ มีส่วนช่วยในการนำไปสู่การพัฒนา “วัฒนธรรมและอารยธรรมของมนุษย์”

ข้อสังเกต คือ : ความเป็นสัตว์ประเสริฐของมนุษย์นั้นได้จากความสามารถในทาง “สมอง” แต่เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความประเสริฐในแง่ “จิตใจ” คือ “ทางคุณธรรมศีลธรรม และจริยธรรม” อีกด้วย มิฉะนั้น มนุษย์ก็จะไม่ต่างจากสัตว์ ขงจื๊อ จึงกล่าวไว้ความว่า… “มนุษย์” ต่างจากสัตว์ก็ตรงที่ “คุณธรรม” คนที่มีคุณธรรมอย่าว่าแต่จะเป็นผู้นำทางการเมืองเลย แม้แต่มนุษย์ก็ยังเป็นไม่ได้

สังคมมนุษย์ :มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Men are social animal) กล่าวคือ มนุษย์ส่วนใหญ่ต้องการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ยกเว้นแต่ผู้ซึ่งตั้งใจจะปลีกวิเวกซึ่งเป็นข้อยกเว้น การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มของมนุษย์นั้นเกิดจากความจำเป็น 3 ประการ ใหญ่ๆ คือ

1.มนุษย์มีความจำเป็นที่ต้องอยู่รวมกันเป็น “กลุ่ม” เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อ “การอยู่รอด” ของมนุษย์เอง ที่เรียกว่า การอยู่รอดของเผ่าพันธุ์โดยจะต้องร่วมมือกันต่อสู้กับสัตว์ร้ายที่จะเข้ามาคร่าชีวิตมนุษย์ รวมทั้งการต่อสู้กับเผ่าพันธุ์อื่นที่อาจจะเข้ามารุกรานแย่งอาหารและจับไปเป็นทาส

2.มนุษย์จำเป็นต้องอยู่รวมกันเพื่อ…ทำกิจกรรมที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อคนส่วนรวม เนื่องจากไม่สามารถกระทำด้วยเพียงหนึ่งคนหรือสองคน เป็นต้นว่าการสร้างกำแพงหมู่บ้าน หรือกำแพงเมืองต้องใช้คนเป็นจำนวนมากในการสร้างสิ่งก่อสร้างดังกล่าว หรือการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนจำนวนมาก เพราะมีขอบข่ายของงานที่เกินกว่าความสามารถของมนุษย์เพียงคนเดียวหรือคนไม่กี่คน

3.มนุษย์มีความต้องการและความจำเป็นทาง “จิตวิทยา” ที่จะอยู่ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความอบอุ่นและมีความรู้สึกเป็นชุมชนเดียวกัน ความต้องการจิตวิทยานี้ มีแม้กระทั่งในกลุ่มสัตว์และอยู่ที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นฝูง เช่น หมาป่า ฝูงนก และส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่มีความใกล้เคียงกัน เช่น มนุษย์เผ่าเดียวกันอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม การอยู่ร่วมกันของคนต่างเผ่าก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน

จากการที่มนุษย์อยู่รวมกันมากกว่า 1 คน ถ้าเป็น “สังคม” ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำไปสู่การ “กระทบกระทั่งและเกิดความขัดแย้ง” ในเรื่อง “ความสัมพันธ์” เมื่ออยู่ด้วยกันบางครั้งก็อยู่กันด้วยดี แต่บางครั้งก็อาจมีความขัดแย้ง กระทบกระทั่ง เพราะตาดูแล้วขัดตา หูฟังแล้วก็ขัดหู เพราะฉะนั้นมนุษย์ที่อยู่กันตั้งแต่ 2 คน มีโอกาสสัมพันธ์กันดี และขัดแย้งได้อันเป็นเรื่อง “ธรรมดา” หรือ “ธรรมชาติ” ของมนุษย์ยังมีความต้องการแบบสัตว์ทั่วไป จึงหนีความขัดแย้งไม่พ้น แต่ “มนุษย์” สามารถจะใช้ความเป็นสัตว์ประเสริฐสร้างวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี กฎเกณฑ์ กติกาทำให้หลีกเลี่ยงการขัดแย้ง ดังกล่าวได้

มนุษย์จำเป็นต้องมีการสืบพันธุ์ แต่ก็มีการสร้างประเพณีให้มีการสู่ขอบุคคลที่มาเป็นคู่ชีวิต ได้อันเป็นที่ยอมรับของชุมชนหรือมีประเพณีเปิดโอกาสเพื่อการดังกล่าวโดยไม่เกิดปัญหา “ความขัดแย้ง”

ความขัดแย้งของสังคมมนุษย์ มี 4 เรื่องใหญ่ คือ : 1.ความขัดแย้งในเรื่อง “อำนาจ” :มนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคมย่อมมีความขัดแย้งในเรื่องความสัมพันธ์ในเรื่อง “อำนาจ” ผู้ซึ่งแข็งแรงกว่าอาจมีอำนาจสั่งให้ผู้แข็งแรงน้อยกว่ากระทำตามที่ตนต้องการ ซึ่งผลสุดท้ายก็จะเป็นต้องหาวิธีการสร้างระบบการได้มาซึ่งอำนาจ และได้เกิดความขัดแย้งซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

2.ความขัดแย้งในสถานะทางสังคม เมื่ออยู่กันเป็นกลุ่มเป็นสังคมมนุษย์ย่อมมีการแบ่งฐานะของคนในสังคมเป็นสูงเป็นต่ำ อาวุโส ด้อยอาวุโส การได้รับเกียรติการยกย่องมากน้อยกว่ากัน ความขัดแย้งเรื่องสถานะทางสังคมจึงเป็นปรากฏการณ์อีกปรากฏการณ์หนึ่งของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม

3.ความขัดแย้งในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มนุษย์ย่อมมีความขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การแบ่งปันผลจากการล่าสัตว์ก็ดี จากการเพาะปลูกก็ดี จากพื้นที่สำหรับการอาศัยก็ดี อาจจะไม่ลงรอยทุกครั้ง ความขัดแย้งในส่วนนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณรวมถึงปัจจุบัน

4.ความขัดแย้งในส่วนที่เป็น “นามธรรม” และ “ค่านิยม” เป็นความขัดแย้งที่ไม่เกี่ยวกับอำนาจหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือ สถานะทางสังคม หากเป็นความขัดแย้งในเรื่องที่เป็น “ค่านิยม” และ “ความเชื่อ” ทางสังคมอันเป็นนามธรรม เช่น การคัดค้านการสร้างกระเช้าขึ้นดอยสุเทพ เพราะทำให้เสียความงดงามของภูมิทัศน์ การไม่เห็นด้วยกับการสร้างตึกสูงติดกับพระราชวังหรือวัด

กล่าวโดยสรุป…

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและต้องอยู่ร่วมกันจะก่อให้เกิดมีความร่วมมือกัน ขณะเดียวกันมนุษย์ก็จะมีความขัดแย้งด้วย ความขัดแย้งดังกล่าวนี้จะนำไปสู่การสร้าง “กลไกแก้ความขัดแย้ง” โดยในสังคมเผ่าซึ่งยังไม่มีรัฐ
ก็จะมีขนบธรรมเนียมการแก้ความขัดแย้งให้จบลงโดยสันติวิธี

เมื่อมนุษย์รวมกันเป็นสังคมมนุษย์สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยการ “ล่าสัตว์ เพาะปลูก” และพัฒนาไปจนถึงการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในลักษณะ “อุตสาหกรรมพื้นบ้าน” จนถึงหัตถกรรมและผลทางข่าวสารข้อมูล เช่น โทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน แต่มนุษย์ก็หลีกหนีไม่พ้นจากปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่ง คือ ความสงสัยที่ว่ามนุษย์มาจากไหน? ระหว่างดำรงชีวิตมนุษย์จะทำอย่างไร? และเมื่อเสียชีวิตแล้วมนุษย์ยังมีสิ่งเหลืออยู่หรือไม่ และถ้าเหลืออยู่จะมีสภาพอย่างไร : และจะดำเนินไปในทิศทางใด นี่คือที่มาของคำว่า “ลัทธิความเชื่อและศาสนาที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์” ซึ่งตามมาด้วยพิธีกรรมต่างๆ จึงเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ทุกสังคม

แต่ท่ามกลางคนที่ไม่มีความรู้อย่างแท้จริง ขาดข้อมูล มีความเขลาเบาปัญญา สังคมมนุษย์หลายสังคมก็ยึดเอา “อำนาจเหนือธรรมชาติ” เป็นหลักในการดำรงชีพ ด้วยการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น การบูชายัญ การบูชามนุษย์ ด้วยเพื่อขอพรจากอำนาจเหนือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ให้ช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ยาก เช่น ภัยพิบัติต่างๆ อุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง วินาศภัยต่างๆ

ซึ่งเรายังพบได้ในปัจจุบัน เช่น การแห่นางแมวขอฝน การปักตะไคร้ไม่ให้ฝนตก แต่อย่างไรก็ตามความเจริญทางด้านวัตถุจำเพาะกับสิ่งที่เป็น “นามธรรม” คือ “ปัญญา” ซึ่งถึงเวลาแล้วมนุษย์ทุกคนทุกระดับไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พ่อค้า นักการเมืองท้องถิ่นระดับชาติ ฯลฯ พึงอยู่ด้วยกันโดยหลักธรรมง่ายๆ ด้าน “ทาน ศีล ภาวนา” ให้เกิด “สติ สมาธิ ปัญญา” เอื้ออาทรต่อกัน ให้เกียรติ ให้อภัยต่อกัน สังคมมนุษย์ก็ย่อมเกิดสุขได้ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image