สะพานแห่งกาลเวลา : โซเชียลมีเดีย กับการกำกับดูแล : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เรื่องโซเชียลมีเดียทั้งหลายกับการควบคุม กำกับดูแล ให้เป็นไปในทางที่เอื้อประโยชน์ แก้ปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหา ให้กับปัจเจกบุคคล ให้กับสังคม สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ นั้น เป็นประเด็นมานมนานแล้วละครับ

เหตุที่เป็นปัญหาเพราะธรรมชาติของโซเชียลมีเดียเองนั่นแหละเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

ลองนึกดูนะครับว่า ถ้าโซเชียลมีเดียใดก็ตาม ไม่ได้เป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลาย ใช้กันอยู่แค่กระจุกหนึ่ง ไม่มีร้อยกี่พันคน การที่จะเอื้อให้เกิดประโยชน์โภชน์ผลหรือเกิดช่องทาง เกิดโอกาสใหม่ๆ ในการทำมาหากิน ซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยนความรู้กันในวงกว้าง หลากหลาย ก็เป็นไปไม่ได้

เรื่องที่จะก่อให้เกิดคุณูปการในเชิงเศรษฐศาสตร์ กลายเป็น “ตลาดใหม่” ที่มีขนาดใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน

Advertisement

แต่พอนิยมกันมากเข้า ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรือนพัน เรือนหมื่น แต่ขยายเป็นนับแสนนับล้าน ความเสี่ยงที่เคยมีอยู่ก็ขยายใหญ่โตตามไปด้วย เพียงแค่หลอกลวงเอาเงินกันคนละร้อย สองร้อย ยอดความเสียหายโดยรวมก็ใหญ่โตเป็นหลายร้อยหลายพันล้านแล้ว เป็นต้น

ในสหรัฐอเมริกา แหล่งกำเนิดของโซเชียลมีเดียใหญ่โตทั้งหลายในเวลานี้ก็กำลังมีปัญหากับการพยายามเข้าไปกำกับดูแลสื่อโซเชียลกันอยู่เหมือนกัน เพราะจนแล้วจนรอดก็ยังหาจุด “ควบคุม” ที่เหมาะสมยังไม่ได้

คณะอนุกรรมาธิการการพาณิชย์ คณะหนึ่งของวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องการกำกับดูแล การสื่อสาร โทรคมนาม และนวัตกรรม พยายามหาหนทางทำเรื่องนี้อยู่นานนับเดือนแล้ว

ประเด็นเรื่องที่อนุกรรมาธิการคณะนี้ขบกันมาหนักมาก เป็นประเด็นพื้นฐานประการหนึ่ง ซึ่งในบ้านเราไม่ค่อยพูดถึงกันมากนัก แต่ที่โน่นถือกันว่าเป็นเรื่องใหญ่โตไม่น้อย

นั่นคือการที่สื่อโซเชียล โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก กับ กูเกิล บริษัทย่อยในเครืออัลฟาเบท อิงค์. ใช้อัลกอริธึ่มของคอมพิวเตอร์กับปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือใน “นำเสนอ” คอนเทนต์ใหม่ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดให้ยูสเซอร์หรือผู้ใช้ยึดติดอยู่กับโซเชียลมีเดียนั้นๆ

ถ้าเป็นคอนเทนต์ “ดีๆ” ก็พอทำเนา แต่ถ้าเป็นเนื้อหาจำพวกส่งเสริมให้เกิดความคิดประหลาดๆ ตามทฤษฎีสมคบคิด หรือก่อให้เกิดการเลือกข้าง (เกลียดรีพับลิกัน ชื่นชมเดโมแครต เป็นต้น) หรือประดาข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เข้าใจไขว้เขว เหมือนที่ปรากฏเกลื่อนอยู่บน ยูทูบ ก็ดี เฟซบุ๊ก หรือสื่อโซเชียลอื่นๆ ก็ดี จะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ รับผิดชอบกันอย่างไร?

สิ่งเหล่านี้หากนำเสนอซ้ำๆ สามารถก่อให้เกิด “ภาพจำ” เมื่อนานเข้าก็จะกลายเป็นอิทธิพลในทางความคิด และพฤติกรรมของผู้เสพสื่อโซเชียลนั้นๆ ได้ในความเห็นของวุฒิฯ จอห์น ธูน สมาชิกของ
อนุกรรมาธิการจากพรรครีพับลิกัน

ที่สำคัญก็คือ เมื่อผู้เสพสื่อเหล่านั้นมีจำนวนเป็นร้อยล้านพันล้าน อย่างในกรณีของเฟซบุ๊ก ปัญหาเรื่องนี้ก็จะไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องอาชญากรรมหรือการกระทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ แต่อาจส่งผลกระทบต่อความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความขัดแย้งทางสังคมไปด้วย

ไบรอัน แชทซ์ อนุกรรมาธิการอีกคนจากพรรคเดโมแครต ชี้ให้เห็นว่า การใช้คอมพิวเตอร์และเอไอในการ “นำเสนอ” เนื้อหาใหม่ให้ยูสเซอร์นั้น ยิ่งนับวันยิ่งเป็นเนื้อหาที่สุดโต่ง รุนแรง และเป็นอันตรายมากขึ้น

เพราะคอมพิวเตอร์และเอไอ ไม่ใช่คน ขาดมิติ ขาดวิจารณญานที่ “มนุษย์” มีไป

แชทซ์ ยกตัวอย่างว่า ในกรณีของยูสเซอร์วัยเด็กบางคนจับพลัดจับผลูคลิกดู คลิปที่ “อ่อนไหว” ไปสักคลิปหนึ่ง ในกรณีที่ “มนุษย์” เป็นผู้กำหนดการ “นำเสนอ” เนื้อหาใหม่ ก็จะยับยั้งชั่งใจการนำเสนอเนื้อหาอ่อนไหวเช่นเดียวกันนั้นซ้ำอีกเพราะคำนึงถึงความเป็นเด็ก แต่เอไอไม่ได้มีวิจารญาณให้คำนึงได้เช่นนั้น ผลก็คือ เด็กรายนั้นจะได้คลิปที่ “อ่อนไหว” นำเสนอมาให้ดูต่อเนื่องต่อไป

แต่ถ้าไม่ใช้เอไอ โซเชียลมีเดียก็ไม่สามารถ
รองรับยูสเซอร์เป็นล้านๆ คนอย่างนั้นได้แน่นอนเช่นเดียวกัน ก็เป็นพาราดอกซ์อีกอย่างไป

ทริสตัน แฮร์ริส ผู้ก่อตั้งซึ่งในขณะนี้เป็นผู้อำนวยการบริหารศูนย์เพื่อเทคโนโลยีที่มีมนุษยธรรม ซึ่งเคยเป็นผู้ออกแบบกรอบเชิงจริยธรรมให้กับกูเกิล บอกว่า บริษัทโซเชียลมีเดียในเวลานี้มีอำนาจมากเกินไป และใช้เครื่องมือที่ทำให้เพียงแค่คลิกเข้าไปมันก็จะทำนายว่าควรจะให้เราดูอะไรเป็นลำดับต่อไป

แฮร์ริสเรียกมันว่า “ดิจิทัล แฟรงเกนสไตน์” ที่ยากมากๆ ที่จะควบคุมครับ

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image