สภามืด : โดยสมหมาย ปาริจฉัตต์

กลุ่ม ส.ส.ฝ่ายค้านประกาศแจ้งความดำเนินคดีคุณชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เหตุจากการไม่ยอมบรรจุระเบียบวาระให้ตั้งกรรมาธิการสอบข้อเท็จจริงการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิกจากการสรรหา ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นับว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งแรกที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้มาตรการทางกฎหมายกับประธานสภาของตัวเอง แทนที่จะใช้มาตรการการเมืองตามกระบวนการทางรัฐสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติด้วยกัน ขณะที่คุณชวนตอบโต้กลับว่าระวังจะโดนข้อหาแจ้งเท็จ

บทสรุปเรื่องนี้จะจบอย่างไร จะมีการแจ้งความจริงหรือเป็นแค่คำขู่เพื่อกดดันประธานสภาก็ตาม ถึงขณะนี้ยังไม่มีคำชี้แจงว่าเหตุผลการไม่บรรจุญัตติให้ตั้งกรรมาธิการดังกล่าว เพราะขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายประกอบ หรือข้อบังคับการประชุมสภาข้อใด

ขณะเดียวกันมีเสียงทักท้วงจากฝ่ายวุฒิสภาว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถก้าวก่ายบทบาทของวุฒิสภาได้ ถึงกับจะมาสอบ ส.ว. ทำไม่ได้ ไม่เคยมี

Advertisement

กลุ่ม ส.ส.ฝ่ายค้านเลยชี้แจงกลับมาว่า คำแถลงบอกชัดเจนอยู่แล้ว เป็นการหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาการได้มาซึ่ง ส.ว. ไม่ใช่เป็นการพิจารณาถึงบทบาท การปฏิบัติหน้าที่

เหตุที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.คลุมเครือ ไม่กระจ่างชัด ไม่เปิดเผย โปร่งใส ล่อแหลมต่อการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ที่ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตั้งกรรมการสรรหาฯ จากผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความเป็นกลางทางการเมือง ดำเนินการสรรหา ตามวิธีการที่กำหนด ซึ่งนอกจาก คสช.แล้วไม่มีใครได้รับรู้ เห็นเอกสาร หลักฐาน ประกาศที่ชัดเจน ทั้งองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา และวิธีการที่กรรมการสรรหากำหนด สาระเป็นอย่างไร

ปรากฏว่า มีเสียงโต้ตอบจากผู้เกี่ยวข้อง เฉไฉไปอีกว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ คสช. ซึ่งกำลังจะยุติบทบาทลงหลังรัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศ เมื่อ คสช.ไม่มีตัวตนแล้วจะไปไล่เลียงเอาความผิดกับใคร

Advertisement

กระบวนการได้มาซึ่งสถาบันทางการเมืองระดับประเทศ เรื่องที่มีความสำคัญขนาดนี้ ย่อมจะต้องมีระบบการบันทึกการประชุม ตลอดจนรายละเอียด หลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนการดำเนินงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เป็นหลักฐานทางการ แต่กลับถูกบ่ายเบี่ยงไม่ยอมเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อสังคมตลอดมา

คสช.จะยังอยู่หรือจะพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้วก็ตาม เป็นคนละเรื่องกับการบอกกล่าวความจริงต่อสังคม

การทำหน้าที่ของสภา นอกจากเป็นเวทีของการบอกกล่าว สุมหัวคิด ที่ถกแถลง อภิปราย ชี้แจงเหตุผล ข้อคิดเห็น ไม่ว่าสนับสนุน หรือคัดค้านก็ตาม เป็นบทบาทการถ่วงดุล ตรวจสอบ กำกับ ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารแล้ว บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเป็นที่แสวงหาความจริงและทำความเป็นจริงให้ปรากฏ สภาควรจะเป็นสถานที่ทำให้เกิดความสว่าง แต่กลับกลายเป็นดินแดนแห่งความมืด

การปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายค้านในเรื่องนี้จึงเป็นบทบาทของสภาในการแสวงหาความจริงและทำความจริงให้ปรากฏ

เพราะอะไรถึงต้องตามหาความจริง เพราะความจริงถูกปกปิดมาจนถึงวันนี้ ฝ่ายมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบพยายามเบี่ยงเบน เฉไฉมาตลอด โดย ยืนกรานว่าทำถูกต้องแล้วตามกฎหมาย

ถูกต้องตามหลักตัวบทกฎหมายนั้นประการหนึ่ง ขณะที่ความถูกต้องอีกด้านหนึ่งตามหลัก ความเหมาะสม ความชอบธรรม ความละอาย

การสรรหาในลักษณะชงเอง กินเอง ผลัดกันไป ผลัดกันมา กรรมการสรรหาได้รับการสรรหาเสียเองซึ่งไม่เคยมีมาก่อน แม้จะอ้างว่ากฎหมายไม่ห้าม แต่ในมุมของความเหมาะความควร ควรทำหรือไม่

เมื่อยืนกรานว่าทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จะกลัวอะไรกับความจริง และการทำความจริงให้ปรากฏ

แต่เพราะเพื่อให้ได้อยู่ในอำนาจต่อไปเท่านั้น หลักการความถูกต้องประการหลัง จึงไร้ความหมาย อย่างสิ้นเชิง

เหตุผลข้ออ้างที่นำมาสนับสนุนการสรรหาแบบผลัดกันเกาหลัง หนีไม่พ้น เป็นไปตามกติกาที่ผ่านการลงประชามติของประชาชนมาแล้ว การลงประชามติโดยผู้มีสิทธิไม่มีใครรับรู้ความจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะมีการกระทำกันในลักษณะนี้

วันนี้ เมื่อความเป็นจริงปรากฏออกมาล่อนจ้อนขนาดนี้ ถามว่าถ้าจะให้มีการลงประชามติกันอีกครั้ง ผู้ลงประชามติยังยืนยัน เห็นชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่

แต่การจะให้มีการยืนยันเจตนารมณ์ของประชาชนผู้ลงประชามติอีกครั้ง จะทำได้ก็ต่อเมื่อต้องผ่านขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะต้องใช้เสียง ส.ส. ส.ว. จำนวนมาก

หากยังปล่อยให้ความจริงเรื่องนี้อึมครึม เป็นความลับดำมืด คาราคาซังอยู่ต่อไป แทนที่จะรีบทำให้กระจ่าง เปิดเผย โปร่งใส เป็นข้อมูล ข่าวสารสาธารณะ แต่กลับถูกปิดตายไปกับ คสช. ก็ยากที่ทำให้สถานการณ์การเมืองสงบและมีเสถียรภาพไปได้ เพราะสภามืด ไม่ใช่สภาสว่าง นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image