จิตวิวัฒน์ : แพลตฟอร์มฝึกจิต : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

เมื่อพูดถึงผู้ที่ฝึกจิตฝึกใจ เรามักจะนึกไปถึงการปฏิบัติภาวนาในรูปแบบของการนั่งสมาธิ แต่ถ้าในความหมายกว้างกว่านั้น ผมหมายรวมถึงผู้ที่ขัดเกลาด้านในของตนเองด้วยวิธีการอื่นๆ ด้วย เช่น การเล่นกีฬา ฝึกโยคะ ยิงปืน หรือการฝึกฝนใดๆ ที่เป็นการเทรนนิ่งของจิตใจอย่างละเอียด

ในหมู่ผู้ที่ฝึกปฏิบัตินั่งสมาธิ มักจะพูดถึงความสงบของจิตใจและความ “ซน” ของจิตและความคิดที่วิ่งเที่ยวไปในเรื่องราว และเมื่อเห็นความจริงเช่นนั้นแล้วก็มักจะอยากให้จิตใจสงบและไม่ฟุ้งซ่าน จึงใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้จิตใจมี “ฐาน” จึงเป็นที่มาของคำว่า “กรรมฐาน” ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของการฝึกกระทำ ถ้าจะเรียกให้สมัยใหม่สักหน่อยเราอาจจะเรียกมันว่า “แพลตฟอร์ม” (platform)

แพลตฟอร์มเป็นพื้นที่เล่น เป็นขอบเขต บางคนอาจจะใช้การวิ่งเป็นแพลตฟอร์ม เพื่อฝึกฝนจิตใจ บ้างก็ใช้การจัดดอกไม้แบบเซนเป็นแพลตฟอร์ม แต่ไม่ว่าจะใช้แพลตฟอร์มอะไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าการฝึกฝนในแพลตฟอร์มนั้นจะส่งผลให้เกิดนิสัยแบบใด เราจะคาดหวังให้ผู้ที่ฝึกศิลปะยิงธนูญี่ปุ่นหรือคิวโด ฝึกจิตใจในลักษณะเดียวกับผู้ที่ฝึกศิลปะมวยไทยไม่ได้

ดังนั้นการหล่อหลอมนิสัยของการฝึกจิตใจย่อมเป็นไปในทิศทางที่แพลตฟอร์มเป็นตัวกำหนด ดังนั้นผู้ที่ฝึกฝนไอคิโดมายี่สิบปี ย่อมสั่งสมนิสัยของจิตใจแตกต่างจากผู้ที่ฝึกกีฬาเพาะกายมายี่สิบปี ผู้ฝึกไอคิโดย่อมเข้าถึงสภาวะของความเข้าใจธรรมชาติของแรงและการดำเนินไปให้สอดคล้องกับจักรวาลวิถี ผู้ที่ฝึกเพาะกายย่อมได้ฝึกฝนทักษะของความอดทนอดกลั้นและการต่อสู้กับธรรมชาติของโลกอย่างหนึ่งคือ “แรงโน้มถ่วง”

Advertisement

ผมเองโชคดีได้มีโอกาสฝึกศิลปะการต่อสู้ที่มีชื่อเรียกว่าไท่จี๋เฉวียน หรือเรียกภาษาจีนแต้จิ๋วว่าไทเก๊ก มาเป็นระยะเวลาสิบปีแล้ว เรียกได้ว่าแพลตฟอร์มสำคัญที่ผมใช้บ่มเพาะจิตใจก็คือการฝึกมวยจีนนั่นเอง

เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆ ผมพบว่ายากที่จะบังคับจิตใจกับร่างกายให้ทำงานอย่างสอดคล้องกัน เมื่อเริ่มต้น ไท่จี๋ จะทำให้ผู้ฝึกต้องเผชิญกับด่านสำคัญอันแรกก็คือ “ความเชื่องช้า” ของร่างกาย ช้าขนาดไหน ก็ขนาดตัวสลอธนั่นแหละครับ ทีนี้ถ้าใครมีนิสัยคล้ายผมก็คือเป็นคนทำอะไรรวดเร็วฉุบฉับ มาเจอแบบนี้เข้าก็ต้องบอกว่าทำใจลำบาก มันเป็นศิลปะที่ต่อต้านความเร่งรีบในยุคสมัยใหม่อย่างแท้จริง แล้วทำไมต้องช้าขนาดนี้ เหตุผลที่ผมนึกออกก็คือไทจี๋เป็นการจัดเรียงความคุ้นชินของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและทุกส่วนของร่างกายใหม่หมด นึกถึงตู้วิเศษที่สามารถเนรมิตร่างกายของคุณทุกส่วนใหม่หมดตั้งแต่กล้ามเนื้อไปจนถึงกระดูก ไท่จี๋สามารถทำอย่างนั้นให้คุณได้ แต่มีข้อแม้ที่ว่าคุณต้องไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและไม่อาจจะหวังผลในระยะเวลาสั้นๆ

การเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าทำให้เกิดการฝึกฝืนจิตใจและร่างกายในแบบที่ไม่น่าเชื่อ เมื่อสักครู่ผมพูดถึงนักเพาะกายที่ต้องต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลก เมื่อคุณเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า คุณจะรู้สึกถึงแรงโน้มถ่วงของโลกอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องอาศัยตุ้มถ่วงที่ไหน ร่างกายของคุณทุกส่วนทำหน้าที่แทนตุ้มถ่วงเหล็ก และก็ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากกล้ามเนื้อของคุณเองเช่นกันที่แบกรับน้ำหนักเหล่านั้นไว้ ความงดงามก็คือร่างกายของเราเป็นเครื่องมือฝึกตัวมันเองอย่างแยบยลโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือภายนอกอื่นใด

Advertisement

การเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ เป็นการฝึกจิตอย่างดีเยี่ยมอีกด้วย เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่กำหนดให้จิตใจต้องมีโฟกัสมากขึ้นกับการเคลื่อนไหว และไม่แวบไปคิดเรื่องอื่นๆ

ซึ่งไปได้ง่ายมากอย่างที่เราทราบกันดี เมื่อฝึกไประยะหนึ่ง ใจกับกายจะเริ่มเป็นมิตรกันมากขึ้น และทำงานประสานสอดคล้องกันได้มากขึ้น แต่กว่าจะถึงขั้นนั้น ผมหมดหยาดเหงื่อไปเป็นปี๊บๆ และน้ำตาอีกไม่น้อย

บางครั้งระหว่างการฝึกบางท่าที่ยากลำบาก กล้ามเนื้อผมสั่นเทิ้มทั่วตัวราวกับคนเป็นโรคพาร์กินสัน ส่วนจิตใจที่พยายามบังคับให้มันอยู่แบบนั้นให้ได้ ก็พยายามดิ้นหนีราวกับคนถูกจับกดน้ำ ผลก็คือน้ำตาที่ไหลออกมาเมื่อถึงที่สุดของความอดทน

การฝึกไท่จี๋มีข้อดีก็คือ จิตใจต้องทำงานควบคู่ไปกับกาย ถ้าเผลอเมื่อไรเราอาจจะลืมท่าต่อไปซึ่งมีอยู่เจ็บสิบกว่าท่า คล้ายกับการสวดมนต์ ถ้าเผลอเมื่อใดก็จะสวดผิดพลาดหรือไปต่อไม่ได้ อุบายที่จะทำให้กายอยู่กับใจ หรือให้จิตใจไปยึดเกาะอยู่กับแพลตฟอร์มบางอย่าง เป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ที่สืบทอดกันต่อมา แต่การออกกำลังกายสมัยใหม่ไม่มีหลักตรงนี้ การฝึกร่างกายกับใจจึงเป็นเรื่องที่แยกขาดจากกัน การวิ่งบนลู่วิ่งโดยดูภาพยนตร์ออนไลน์ไปด้วย หรือการเต้นแอโรบิกที่ผู้ฝึกใหม่ๆ จะต้องใช้สายตาจดจ้องผู้นำในขณะที่ตัวเองขยับเขยื้อนร่างกาย จึงไม่นับว่าเป็นการฝึกจิตใจที่ดีจนกว่าจะฝึกไปจนถึงระดับที่ร่างกายกับจิตใจฝึกควบคู่กันไปได้ นี่เป็นเหตุให้ที่สำนักมวยของผม อาจารย์ไม่อนุญาตให้ฟังเพลงในขณะรำมวย เนื่องจากเกรงว่าสมาธิส่วนหนึ่งจะถูกใช้ไปกับการฟังเพลงนั่นเอง

กลับมาคำถามที่ผมตั้งมาแต่ต้นว่า ผู้ฝึกภาวนามุ่งไปที่ความสงบของจิตใจ แค่นั้นเพียงพอไหม? ระยะหลังผมพบว่าแค่นั้นไม่เพียงพอ ผมเห็นว่าต้องใส่ใจในคุณภาพอื่นๆ ของจิตใจด้วย ยกตัวอย่างก็คือเรื่องความคล่องแคล่วของจิตใจ แต่คำถามที่สำคัญก็คือเราจะวัดผลของการฝึกได้อย่างไร เพราะความก้าวหน้าของร่างกายเราอาจจะเห็นได้ด้วยตา แต่ความก้าวหน้าของการฝึกจิตใจวัดกันตรงไหน?

โชคดีที่ไท่จี๋เฉวียนเป็นแพลตฟอร์มที่ดีซึ่งทำให้เราสามารถวัดคุณภาพของจิตใจได้โดยตรง เพราะคำว่า “เฉวียน” มีความหมายถึง วิชาหมัดมวย หรือวิชาการต่อสู้ ซึ่งต้องวัดผลที่สามารถนำไปใช้ต่อสู้ได้จริง!

ตอนนี้คุณคงนึกภาพเห็นเป็นภาพยนตร์จีนที่มีศัตรูมาท้าตีท้าต่อยอยู่หน้าสำนัก แต่อันที่จริงมันก็ไม่ถึงขนาดนั้น (แต่การประลองวิชาก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอยู่จริง) อันที่จริงก็คือการทดสอบกับเพื่อนร่วมสำนักว่าแต่ละท่วงท่านั้นนำไปใช้จริงกับคู่ต่อสู้ได้หรือไม่

มีอยู่วันหนึ่ง ผมทดลองฝึกการใช้งานท่าพื้นฐานของมวยกับเพื่อนร่วมสำนัก แต่ทำอย่างไรก็ทำไม่ได้ ที่ว่าทำไม่ได้ก็คือไม่เกิดผล ท่าดังกล่าวคือท่าที่เมื่อใช้แล้วเราอาจจะบิดแขนฝ่ายตรงข้ามจนหน้าเขาคว่ำลง ซึ่งอาจารย์สาธิตให้ชมและดูง่ายเหมือนไม่ใช้ความพยายามอะไรเลย ผมพยายามลองทำอยู่หลายครั้งแต่ทำไม่ได้ อาจารย์บอกว่า “จิตอืด ใช้การไม่ได้”

คำว่าอืดก็หมายถึงมันไม่คล่องแคล่ว มันล่าช้า มันไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย มันเป็นเรื่องน่าฉงนที่อาจารย์ผู้ฝึกสอนมวยที่จะต้องรำอย่างช้าๆ จะพูดเรื่องความอืดใช่ไหมครับ แต่ก็เป็นไปแล้ว อาจารย์บอกว่าชุดมวยในขั้นสูงขึ้นไปจะฝึกจิตในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากความสงบเนิบช้าแล้ว ยังมีแบบฝึกที่เน้นในเรื่องความแคล่วคล่องของจิตใจและร่างกายด้วย

ผมจึงรู้ว่าที่ฝึกมาสิบปีนั้นเป็นการตระเตรียมพื้นฐานบนแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์อย่างหนึ่ง และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จะต้องขยับไปใช้อีกแพลตฟอร์มหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงมีคำกล่าวที่ว่า “ไม่ถึงยี่สิบปี ไม่ออกจากสำนัก” เพราะแพลตฟอร์มบางอย่างต้องอาศัยเวลาเรียนอย่างมากมาย

แน่นอนว่าเมื่อฝึกฝนไปอีกไม่นานผมก็สามารถใช้งานท่านั้นได้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทุกครั้งเพราะขาดความชำนาญ เพราะจิตเคยทำงานเนิบช้าจนกลายเป็นนิสัยใหม่ ครั้งนี้ต้องกลับมาฝึกให้สามารถใช้งานได้รวดเร็วราวกับลูกธนูที่ยิงแผลวออกจากคันธนู ผมจึงต้องหันมาเข้าใจเรื่องนี้ใหม่ว่าในช้าต้องมีเร็ว ในเร็วก็มีช้า

บทเรียนที่ผมได้ก็คือไม่มีแพลตฟอร์มใดจะสามารถตอบสนองการฝึกจิตในทุกรูปแบบสำหรับทุกคน ผู้ที่นั่งสมาธิก็ยังต้องมีการเปลี่ยนไปเดินจงกรม ผู้ที่ฝึกมวยช้าก็ยังมีการฝึกมวยเร็ว มีการฝึกดาบและกระบี่ แต่การฝึกในแพลตฟอร์มใดก็ตาม ในระยะยาวย่อมจะมีผลต่อลักษณะคุณภาพของจิตใจของผู้ฝึก แต่การฝึกที่ทำให้จิตใจอืดช้าหรือใช้การไม่ได้ น่าจะเป็นการฝึกที่ผิดทาง ดังนั้นจึงต้องหมั่นตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image