คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน การซื้อขายออนไลน์ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของพวกเราอย่างมากในแทบทุกเรื่อง

ดังนั้น เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น เราก็ต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนแนวความคิดต่างๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด และต้องพยายามนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการปรับเปลี่ยนองค์กรในแบบ “Digital Transformation” เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในสังคมดิจิทัล

“การตลาดออนไลน์” หรือ “ตลาดดิจิทัล” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดจากเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านของการตลาดและการค้าขายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต (โรงงาน) ห้างสรรพสินค้า เกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ซื้อผู้ขาย ล้วนแต่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าเปลี่ยนไปด้วย

รูปแบบใหม่ทางการตลาดในยุคนี้ก็คือ “อีคอมเมิร์ซ (E-commerce)” ซึ่งเป็นการซื้อขายสินค้าผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถติดต่อซื้อขายสินค้ากันได้สะดวกและรวดเร็วกว้างขวางยิ่งขึ้น

Advertisement

กิจการทุกประเภท ห้างสรรพสินค้า ตลาดเสื้อผ้าแฟชั่น ตลาดผลไม้ และตลาดสินค้าประเภท “เกษตรอุตสาหกรรม” จึงเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของ “การซื้อขายออนไลน์” จนหลายๆ กิจการมองว่าเป็น “วิกฤต” แทนที่จะมองเป็น “โอกาส” ใหม่ๆ

ความสำคัญของเรื่องนี้ จะเห็นได้จากการที่ “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ได้รายงานผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ว่า ปัจจุบันประเทศที่มีการค้าอีคอมเมิร์ซมากที่สุด ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย และมาเลเซีย ตามลำดับ และมีแนวโน้มของอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี 2561 มีมูลค่า 3,150,232.96 ล้านบาท (อัตราการเพิ่มขึ้น 14%) ส่วนใหญ่เป็นการขายสินค้าภายในประเทศ โดยประเภทของสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ธุรกิจห้างสรรพสินค้า มีมูลค่า 258,449.92 ล้านบาท (2) การจำหน่ายอาหาร อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ผลิตผลทางการเกษตรและประมง มีมูลค่า 135,868.41 ล้านบาท และ (3) การจำหน่ายเครื่องสำอาง อาหารเสริมและอุปกรณ์เสริมความงาม มีมูลค่า 87,407.55 ล้านบาท ตามลำดับ

Advertisement

ช่องทางการค้าขายผ่าน “ระบบออนไลน์” ที่ได้รับความนิยม มีด้วยกัน 4 ช่องทาง ได้แก่ (1) การขายผ่านสื่อโซเชียล (Social Media) เช่น Facebook, LINE, Instagram, YouTube และอื่นๆ (2) การค้นหาข้อมูล เช่น Google (3) การขายผ่าน E-marketplaces ในประเทศ และ (4) ขายผ่านทางเว็บไซต์ของตนเอง

ปัจจุบัน ก็มี “แอพพลิเคชั่น” มากมายในโทรศัพท์มือถือที่ช่วยให้การทำตลาดออนไลน์ง่ายขึ้น สะดวกและรวดเร็วขึ้น (โดยลงทุนต่ำด้วย) ที่เราสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรี เช่น Facebook, LINE, YouTube, Instagram เป็นต้น

ทุกวันนี้ เราจะเห็นการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ “การขายของออนไลน์” อย่างมากมายทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งน่าจะกระตุ้นให้หลายๆ กิจการได้เห็น “โอกาส” ที่จะต้องพิจารณาความพร้อมของตนเองได้แล้ว

แต่จะไปได้ไกลแค่ไหน ก็คงขึ้นอยู่กับ “คุณภาพ” ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image