หลักแนวบรรทัดฐาน คำพิพากษาศาลฎีกาจะกลับได้หรือไม่ : โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

ศาลยุติธรรมในประเทศไทยมี 3 ชั้น ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ดังนั้นศาลฎีกาจึงเป็นศาลสูงสุด หากศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีใดแล้วก็ถือว่าเป็นที่สุด และคำพิพากษาดังกล่าวก็จะถือว่าเป็นแนวบรรทัดฐานของคดีในลักษณะเดียวกันตลอดไปจนกว่าศาลฎีกาจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแนวคำพิพากษานั้น ซึ่งก็จะกระทำได้ในที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา นักกฎหมายทั้งหลายจึงทราบดีว่าหากมีปัญหาขัดข้องในการที่จะดำเนินการ ทางกฎหมายในกรณีใดกรณีหนึ่งก็จะต้องยึดตามแนวบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลัก

และแนวบรรทัดฐานนี้หาได้ผูกพันเฉพาะคู่ความ เฉพาะคดีใดคดีหนึ่ง แต่ต้องถือว่าเป็นการผูกพันในทุกคดี ในข้อหาและข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น คดีที่ 1706/2562 ระหว่าง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขต เลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร ผู้ร้อง นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้คัดค้าน ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวางแนวบรรทัดฐานไว้ในคำวินิจฉัยของศาลในข้อสาระสำคัญว่า…..ที่ผู้ร้องคัดค้านอ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส มีวัตถุประสงค์ดังกล่าว (กิจการหนังสือพิมพ์สื่อมวลชนใดๆ) แต่ไม่ได้ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ จึงฟังไม่ขึ้น…..จึงมีคำสั่งให้ถอนชื่อนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ออกจาก ประกาศรายชื่อ…..ของพรรคอนาคตใหม่

จากคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ต้องถือว่าศาลฎีกาวางแนวบรรทัดฐานว่า หากปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ผู้สมัคร) ผู้ใดมีชื่อเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ แม้จะมิได้ประกอบกิจการดังกล่าวตามข้อเท็จจริงก็ต้องถือว่าขาดคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 42 คำพิพากษานี้จะเป็นแนวบรรทัดฐานตลอดไปยกเว้นศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาวางแนวบรรทัดฐานใหม่โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 211 วรรคสี่ และมาตรา 212 วรรคสาม เท่านั้น

Advertisement

หากจะมีบุคคลสงสัยว่าเมื่อศาลฎีกาได้วางแนวบรรทัดฐานไว้แล้ว เคยมีหรือไม่ที่ศาลฎีกากลับแนวบรรทัดฐานคำพิพากษาของศาลฎีกาเอง ก็ต้องตอบว่า มีแต่จำนวนไม่มากนัก ที่ผู้เขียนยืนยันได้ก็เพราะเมื่อผู้เขียนดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา มีการประชุมใหญ่ของผู้พิพากษาศาลฎีกาเพื่อพิจารณาในกรณีที่มีผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะร่างคำพิพากษา ตรงข้ามกับแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกา และหลายครั้งที่ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้มีความเห็นในที่ประชุมแล้วลงมติกลับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเดิม

และท่านประธานศาลฎีกาในขณะนั้นเคยปรารภว่า “ผู้พิพากษาศาลฎีกาชุดนี้เยี่ยมจริงๆ กลับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาผู้ใหญ่ได้เคยวางไว้ได้”

เมื่อได้กล่าวถึงการกลับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็นึกถึงคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้มีคำวินิจฉัยไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2496 พ.ศ.2505 และ พ.ศ.2523 ที่ว่าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 113 หากกระทำสำเร็จมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสามฉบับมีสาระสำคัญทำนองเดียวกัน จึงขอยกเฉพาะคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1667/2505 ซึ่งวินิจฉัยว่า “คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้นประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้”

Advertisement

คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวนี้ สร้างความงุนงงสงสัยมิใช่เฉพาะบรรดานักกฎหมาย หากแต่บุคคลทั่วไปก็ยากที่จะเข้าใจ ว่าเหตุใด ผู้ที่กระทำการดังกล่าวถ้าทำไม่สำเร็จต้องได้รับโทษตามกฎหมายบัญญัติคือจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต แต่หากกระทำการได้เป็นผลสำเร็จนอกจากไม่ต้องรับโทษแล้วยังเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง คำสั่งของบุคคลนั้นถือว่าเป็นกฎหมาย ซึ่งทุกคนในประเทศต้องปฏิบัติตาม แม้คำสั่งนั้นพระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงออกมาด้วยคำแนะนำยินยอมของสภาก็ตาม และหากมีการฟ้องร้องผู้กระทำการตามมาตรา 113 (ฐานเป็นกบฏ) ศาลฎีกาก็เคยวินิจฉัยว่าไม่สามารถลงโทษผู้กระทำนั้นได้เพราะมีการนิรโทษกรรมการกระทำดังกล่าวไว้แล้ว หลังการกระทำความผิด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688/2561)

แนวบรรทัดฐานศาลฎีกาดังกล่าวนี้ก็ยังไม่ทำให้สังคมหายเคลือบแคลงเพราะมีผู้สอบถามผู้เขียนเสมอ เมื่อรับเชิญไปพูดเรื่องนี้ในที่ต่างๆ

ข้อสงสัยมีดังนี้

1.ผู้กระทำความผิดทางอาญามีการให้สัตยาบัน (ออกกฎหมายนิรโทษกรรม) ว่าให้ถือว่าเป็นการชอบตามกฎหมายได้ด้วยหรือ เพราะตามหลักกฎหมายการกระทำที่ไม่ชอบอาจให้สัตยาบันได้เฉพาะความไม่ชอบด้วยกฎหมายทางแพ่ง ที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นโมฆียะ และจะสมบูรณ์เมื่อมีการให้สัตยาบัน ส่วนการกระทำความผิดฐานเป็นกบฏตามมาตรา 113 นั้นเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งมีลักษณะอุกฉกรรจ์ จึงกำหนดโทษไว้สูงถึงจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

2.พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีพระราชหัตถเลขาเมื่อได้ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ความว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครอง ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามข้าพเจ้าได้ต่อไป ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

พระราชหัตถเลขานี้ถือได้ว่าเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญสูงสุดของประเทศไทย ซึ่งคนไทยทุกคนย่อมประจักษ์ในความเสียสละที่ทรงปรารถนาจะสละพระราชอำนาจที่เป็นของประองค์แก่อาณาประชาราษฎร์ มิใช่แก่ผู้ใด คณะใด ผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 นอกจากจะกระทำความผิดอันมีลักษณะอุกฉกรรจ์แล้วยังเป็นการละเมิดต่อพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยทั้งปวง

3.การที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 113 ใช้วิธีการออกกฎหมายภายหลัง เพื่อนิรโทษกรรมตนเองกับพวกนั้น จะถือว่าถูกต้องตามหลักกฎหมายและกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือไม่ เพราะวิธีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือล้างมลทินโทษน่าจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติโดยผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของราษฎรที่เป็นผู้เสียหาย จากการกระทำผิดนั้น มิใช่ผู้กระทำความผิดออกกฎหมายยกโทษให้ตัวเอง โดยให้ถือว่าความผิด อันเกิดจากการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่ชอบทั้งตามกฎหมาย และตามรัฐธรรมนูญ

แนวบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดความเคลือบแคลงในสังคมแล้ว ยังมีความเห็นแย้งขององค์คณะผู้พิพากษา ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคือท่านกีรติ กาญจนรินทร์ อันมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

“การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้วเท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบ และเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่า บุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ

ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ตามอารยประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้นเมื่อกาลเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์”

ความเห็นแย้งนี้แม้จะไม่มีผลต่อแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาที่ผ่านมาแต่ก็เป็นความเห็นที่ถูกต้องทั้งหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม และนักกฎหมายทั้งหลายไม่อาจโต้แย้งได้

เมื่อกาลเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ถึงเวลาหรือยังที่จะมีการนำแนวบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกาที่กลับแนวบรรทัดฐานเดิมมาพิจารณาเพื่อลงมติในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งหากเป็นไปเช่นนั้น ก็อาจทำให้ศาลยุติธรรมไทยได้รับการสรรเสริญจากนานาอารยประเทศว่ามีวิวัฒนาการใหม่ไม่ล้าหลัง ทั้งยังจะเป็นคุณูปการต่อประชาชนชาวไทยผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และความสงบสุขก็จะบังเกิดแก่อาณาประชาราษฎร์สืบไป

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช.
อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image