ฮ่องกงวิกฤตหนัก โดย : ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

ภายในเวลาเพียง 4 สัปดาห์ มีชาวฮ่องกงจำนวนนับแสนออกมาเล่นการเมืองบนถนนในวันอาทิตย์ถึง 3 ครั้ง โดยการร่วมชุมนุมเดินขบวนประท้วงการแก้ไขร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

การเดินขบวนดูมีระเบียบเรียบร้อย สะท้อนให้เห็นว่าคนฮ่องกงอุดมด้วยความสันติ ไม่ใช้ความ รุงแรง และเป็นการยืนยันว่าฮ่องกงเป็นสังคมที่เปิดกว้าง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นั้น ย่อมแสดงว่า สังคมยังมีคนส่วนหนึ่งมัวเมากับการใช้ความรุนแรง

เวลา 13.30 น. กลุ่มผู้ประท้วงส่วนน้อยส่วนหนึ่ง ได้ใช้ท่อนเหล็ก รถเข็น และอุปกรณ์อื่น ทุบทำลายประตูกระจกของสภา ทันใด
นั้นได้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติบางคนเข้าทำการห้ามปราม และเตือนว่า การบุกรุกสภา เป็นการกระทำละเมิดต่อกฎหมายฐานก่อ “จลาจล”

แม้ต่อมามีกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างสงบส่วนหนึ่ง ต่อต้านคัดค้านการบุกสภา แต่ก็มีกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงไม่สนใจไยดีต่อคำเตือน ระหว่างเหตุการณ์ชุลมุน ปรากฏมีสมาชิกสภานิติบัญญัติบางคนถูกทำร้ายโดยถูกฉุดกระชากลากให้ล้ม จนได้รับบาดเจ็บ

Advertisement

เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องล่าถอยออกไป

ในที่สุด พวกหัวรุนแรงได้บุกเข้าไปในสภานิติบัญญัติจนได้ มีการทำลายทรัพย์สินโดยรอบ อันได้แก่ พ่นสีบนกำแพงรอบห้องประชุม เป็นต้น

อนุสนธิจากการที่รัฐบาลพยายามผลักดัน “ร่างแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน” นำมาซึ่งเหตุการณ์ “Admiralty” เมื่อ 12 มิถุนายนนั้น ผู้ชุมนุมประท้วงกล่าวหาว่าตำรวจใช้กำลังอย่างพร่ำเพรื่อ ส่วนตำรวจได้กล่าวหาผู้ชุมนุมว่า รุกล้ำเขตหวงห้าม

Advertisement

ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ นอกจากเหตุการณ์ไม่ดีขึ้น กลับหนักขึ้นมากขึ้น จนเป็น “วิกฤต”

หลังเหตุการณ์ “12 มิถุนา” นิวยอร์กไทม์รายงานว่า “ตั้งแต่ปี 1997 ฮ่องกงกลับสู่อ้อมอกแม่ เหตุการณ์ใหญ่โตเกิดขึ้นรายแล้วรายเล่า ระดับการใช้ความรุนแรงในการชุมนุมประท้วงยกระดับขึ้นตามลำดับ”

ย้อนมองเหตุการณ์ “12 มิถุนา” เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา กระสุนทราย กระสุนยาง เป็นต้น ถือเป็นความรุนแรงยิ่ง

พฤติการณ์รังแต่จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ชุมนุมทำการต่อต้านคัดค้านยกระดับ

เวลาหลายปีที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาในกรณีเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงโดยใช้ความรุนแรงว่า ฮ่องกงเป็นสังคมที่ปกครองด้วยระบบนิติรัฐ การใช้ความรุนแรงมิได้เป็นที่ยอมรับ

ไม่ว่าเหตุการณ์ “Occupy movement” เมื่อ 14 ตุลาคม 2014 “ตำรวจ 7 นาย” จับกุมผู้ชุมนุม และนำตัวไปทำร้ายร่างกาย ไม่ว่าเหตุการณ์ “จลาจลหว่องกอก” เมื่อปี 2017 ที่ใช้ความรุนแรง นั้น ศาลได้พิพากษาลงโทษในสถานหนัก

คำตัดสินของศาลย่อมเป็นบรรทัดฐาน โดยชี้ให้เห็นว่า อะไรถูก อะไรผิด มีความชัดเจน

แต่นานวันเข้าบรรทัดฐานของศาล คนลืมจนหมดสิ้น ปัญหาจึงเกิด

สภาทนายความฮ่องกงแถลงว่า มีความผิดหวังกับพฤติการณ์ของผู้ชุมนุมประท้วง และชี้ว่าพวกเขากระทำละเมิดต่อกฎหมายอาญาหลายบทหลายกระทง จึงเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรอ่อนข้อในประเด็นความผิด และในเวลาเดียวกัน รัฐบาลก็ควรตอบสนองการเรียกร้องของประชาชนโดยทำการตรวจสอบการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นาทีวิกฤต สังคมฮ่องกงซึ่งเป็นระบอบการปกครองนิติรัฐ ควรต้องพินิจพิเคราะห์และไม่ลืมคำพิพากษาของศาลในอดีตว่า การใช้ความรุนแรงนั้น เป็นการกระทำละเมิดต่ออำนาจศาล

กระทำมิได้เป็นอันขาด

คลื่นมหาประชาชนที่ชุมนุมเดินขบวนวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นที่ประจักษ์ว่า การแก้ปัญหาวิกฤตของรัฐบาลยังไม่ทุเลา ประชาชนไม่มีความเชื่อถือรัฐบาล

ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้วาทกรรมอย่างไร ปัญหาก็ยังอยู่ร่ำไป

เพราะชาวฮ่องกงถือว่าวาทกรรมของรัฐบาลก็คือ การโฆษณาชวนเชื่อ ไม่เกิดผลดีแต่ประการใด มีอยู่ทางเดียวคือรัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจังให้ตรงประเด็น และสอดคล้องกับหลักของตรรกะ สังคมจึงจะยอมรับ

ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ “ร้อนแรง”

ร้อนแรงถึงขั้นกลุ่มผู้ประท้วง พังประตูบุกเข้าถึงห้องประชุมของสภาอันทรงเกียรติ และใช้สีพ่นเป็นข้อความบนกำแพงรอบห้องประชุม อีกทั้งฉีดสีทำลายสัญลักษณ์ฮ่องกงด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประท้วงยังติดธงชาติฮ่องกงและธงชาติสหราชอาณาจักรควบคู่กัน

ดูประหนึ่งว่า ประสงค์จะส่งสัญญาณทางการเมืองบางประเด็น อันมีนัยซ่อนเร้น

เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของชาวฮ่องกง และเป็นความกังวลในดวงหทัยของชาวฮ่องกง

รัฐบาลประมาทมิได้เป็นอันขาด

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image