กบฏแมนฮัตตัน..ระเบิดลั่นสนั่นเจ้าพระยา (6) โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ผ่านมาแล้ว 5 ตอน ประวัติศาสตร์ช่วง “กบฏแมนฮัตตัน” ที่ชวนหวลระลึก นำมาบอกเล่า พูดคุย ได้รับความเมตตา สนใจ ติดตามจากท่านผู้อ่านเกินคาดครับ…เพื่อการเรียนรู้ – ตระหนักถึงอดีตนะครับ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยก็มิได้ส่งกำลังเข้าสู้รบกับใครที่ไหนโดยตรง ช่วงญี่ปุ่นบุกขึ้นอ่าวไทยเมื่อ 8 ธันวาคม 2484 จอมพล ป.เป็นผู้นำ พลิกพลิ้วนำพาประเทศชาติรอดจากหายนะมาได้

กองทัพสยามรบกับกองทัพญี่ปุ่นดุเดือดเกือบ 1 วัน และแล้วสยามไปลงนามสัญญาร่วมมือกับญี่ปุ่น ให้กองทัพซามูไรผ่านบุกเข้าไปในพม่า ให้ญี่ปุ่นมาตั้งฐานทัพในประเทศ ในขณะที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยในอเมริกา ประกาศไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว รวบรวมนักศึกษาไทยในอเมริกา และยุโรปเรียกตัวเองว่า “เสรีไทย” ไม่ยอมรับที่จอมพล ป.ไปเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น

กลางปี พ.ศ.2488 ญี่ปุ่นมีเค้าว่าจะแพ้สงครามแน่นอน สยามประเทศวางตัวใหม่ กลับกลายไปเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส

Advertisement

สงครามจบ จอมพล ป.ต้องโทษ “อาชญากรสงคราม” เพราะไปเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และถูกปล่อยตัวในที่สุด… สยามประเทศในช่วงหน้าสิ่ว หน้าขวาน ปลอดภัยไม่บอบช้ำเสียหายมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะอเมริกาช่วยไว้

แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ คือ สยามกลับกลายเป็นประเทศชนะสงคราม ในสงครามโลกครั้งที่ 2

Advertisement

วิกฤตร่อแร่เกือบหยุดหายใจของสยามประเทศ ที่คนไทยไม่ได้เรียนในประวัติ ศาสตร์ช่วงนี้ คือ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ อังกฤษผูกใจเจ็บที่สยามไปเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น กองทัพอังกฤษในสิงคโปร์ มาเลเซีย ในพม่า โดนกองทัพญี่ปุ่นฆ่า จับเป็นเชลยมหาศาล อังกฤษยื่นข้อเรียกร้องให้ประเทศไทย เป็นเมืองในอาณัติ

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช สามารถเจรจาให้ไทยหลุดพ้นจากการเป็นเมืองในอาณัติอังกฤษได้สำเร็จ โดยอังกฤษและไทยได้ลงนามใน “ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อยุติภาวะสงคราม ระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย” ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2489

ของฟรีไม่มีในโลก หมูไป-ไก่ต้องมา…

ไทยต้องคืนดินแดนในมลายู และรัฐฉาน ที่ได้มาระหว่างสงครามให้แก่อังกฤษ และต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพย์สินของอังกฤษ
ที่ถูกไทยยึดครองระหว่างสงคราม เป็นข้าวสาร 1.5 ล้านตัน

“ข้าวสารชนิดดี” ถูกส่งออกไปเป็นค่าปรับ “ข้าวชั้นเลว” เอาไว้ให้คนในประเทศบริโภค แถมขาดแคลน ทำเอาคนในประเทศแทบไม่มีข้าวกิน ชาวสยามขัดสน ขาดแคลน นี่เป็นจุดสะสมความชิงชังรังเกียจในสังคมสยาม ที่พร้อมจะลุกเป็นไฟ…

การเมืองในสยามประเทศก็ล้มลุกคลุกคลาน มีแต่ข่าวลือเรื่องรัฐประหาร ที่เลวร้ายที่สุด คือ ประชาชนยากจนแสนสาหัส ต้องปันส่วนอาหาร ทั้งๆ ที่เป็นประเทศผลิตข้าวเป็นอันดับต้นของโลก

เหตุปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะเรื่อง “คับแค้นทางจิตใจ ยากไร้ทางวัตถุ” ประชาชนสยามจมปลักอยู่ในความมืดมิด การแก่งแย่งอำนาจราชศักดิ์ลาภ ยศ สรรเสริญ ของผู้คุมกำลัง ผู้ถืออาวุธล้วนหล่อหลอมให้สยามประเทศไม่เคยสงบสุข

กลับมาที่กบฏแมนฮัตตัน ที่อยู่ในบริบทดังกล่าวข้างต้น

ขอย้ำว่า กบฏแมนฮัตตัน กลุ่มผู้ก่อรัฐประหาร ล้มล้างรัฐบาล เป็นเพียงทหารเรือกลุ่มหนึ่งที่คับแค้นใจในเรื่องของรัฐบาลที่มีข้อครหาเรื่องคอร์รัปชั่นฉาวโฉ่ เมื่อรัฐประหารไม่สำเร็จ จึงเรียกว่า กบฏ

ปัจจัยที่เป็นมโนสำนึก ซ่อนตัวอยู่ลึกๆ ในก้นบึ้งหัวใจของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเวลานั้นส่วนหนึ่ง คือ มีปัญหาเขม่นกัน ความเกลียดสะสม ก่อเกิดไฟสุมขอนระแวงกันระหว่างเหล่าทัพ รวมทั้งตำรวจที่ต่างก็เป็นขุมกำลังที่ไม่มีใครกลัวใคร ทุกเหล่าทัพมีเขี้ยวเล็บอันแหลมคม

รัฐบาลในขณะนั้น ก็เป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม การปราบปราม นำโดยทหารบก ทหารอากาศ และตำรวจ ใช้กำลังปราบปราม “ทหารเรือ” ในพระนครและธนบุรี ในช่วง 29 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม 2494 ผู้คุมสถานการณ์ที่เป็นหลัก คือ พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 1

ตัวละครเอกของกบฏแมนฮัตตัน คือ นาวาตรี มนัส จารุภา หนีไปซ่อนตัวในพม่า ลักลอบเข้ามากบดานแถววัดฝั่งธนฯ ตระเวนหลบไปซ่อน เร่ร่อนกบดาน ถ้าพลาดนิดเดียว คือ โดนจับยิงเป้า

รัฐบาลจอมพล ป. ทหาร ตำรวจ หน่วยข่าวทุกสำนัก ยังคงไล่ล่าศัตรูทางการเมืองไม่ลดละ

17 กรกฎาคม พ.ศ.2495 ทหารเรือหนุ่มหัวใจสิงห์และญาติสนิทลอบออกจากวัดแถวฝั่งธนฯ เดินทางด้วยรถไฟไปถึงโคราช แล้วต่อไปถึงชัยภูมิ…ดั้นด้นต่อไปถึง อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย

ญาติสนิทที่ไว้ใจได้คนนี้ชื่อสุชาติ ประสานงานพาทหารเรือหัวหน้ากบฏค่าหัว 2 หมื่นบาทไปค้างที่นั่นที่นี่ รอคำตอบจากบุคคลสำคัญในลาว การตรวจที่ด่านก่อนจะข้ามไปลาวค่อนข้างเข้มงวด แถมมีประกาศจับนาวาตรี มนัส

ตระเวนซุกซ่อนอยู่เกือบ 1 เดือนริมโขง แถวหนองคาย เมื่อจนปัญญา ไม่สามารถติดต่อกับบุคคลเป้าหมายฝั่งลาวได้ จึงต้องล้มเลิกความคิดข้ามโขง เงินติดตัวกำลังจะหมด มนัส และสุชาติ หมดทางไป ทั้ง 2 ตีตั๋วรถไฟกลับกรุงเทพฯ

ลูกประดู่หนุ่มชื่อ มนัส ไปพักอยู่ชานเมืองแถวบางกะปิ พักได้ 2 วันต้องย้ายที่นอน ลงเรือขอไปซ่อนตัวในเมืองไกลหูไกลตา พักบ้านเพื่อนแถวปทุมธานี วิทยุยังคงออกข่าวการจับกุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างเข้มข้น การเมืองยังคงคุกรุ่นด้วยการแย่งชิงอำนาจ

คนข้างบ้านแถวปทุมธานีก็แสนดี หมั่นมาเยี่ยมพูดคุย เอาข้าวปลาอาหารมาให้ “คนแปลกหน้า” ไม่ขาดระยะ…นี่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นสิริมงคลซะแล้ว…ต้องย้ายที่กบดาน !

น้องชายของนาวาตรี มนัส คือคนสำคัญที่สุดที่เหลืออยู่ เขาจะเดินหมากพาพี่ชายไปสวรรค์หรือลงนรก …วันหนึ่งยามค่ำคืน มีการนัดจะไปพบกันแถวกล้วยน้ำไท… แต่น้องชายหายไป…ไม่มาพบ

มนัสสังหรณ์ใจว่าน้องชายจะโดนรวบแน่ ใจเต้นตูมตาม จึงเดินทางด้วยตุ๊กตุ๊กบึ่ง ไปบ้านน้องชายแถวโรงพยาบาลวชิระ โดยมีเพื่อนตาย ชื่อ นายเนื่อง เป็นผู้ร่วมเดินทาง

เดินเข้าไปในซอย แฝงตัวปะปนกับผู้คนในยามค่ำ และลางสังหรณ์ก็เป็นจริง “นายเนื่อง” เข้าไปสอบถามชาวบ้านย่านนั้นยืนยันว่า น้องชายของนาวาตรี มนัส โดนตำรวจมาซิวตัวไปแล้วตอนบ่าย

ที่พึ่งพาในยามวิกฤตของชีวิต คงไปเป็นเหยื่อของการสอบสวน ที่จะโยงมาหานาวาตรี มนัส วงล้อมการจับกุมแคบลงมาแล้ว…

“ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง”… เป็นคำขวัญที่เข้มข้น แข็งแกร่ง น่ายำเกรงของตำรวจไทย ภายใต้ผู้นำชื่อ พลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ที่ทรงอานุภาพไม่แพ้เหล่าทัพใด นายตำรวจในยุคนั้น ตำรวจที่มีฝีมือการสอบสวน สืบสวน ระดับมือพระกาฬ ที่เรียกกันว่า “อัศวินแหวนเพชร”

ขอแถมข้อมูลสำคัญของ พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ นายตำรวจ มือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มแรกท่านรับราชการทหารมาก่อน โอนย้ายมาเป็นตำรวจ

ยุคของ พล.ต.ท.เผ่านั้น ถูกเรียกว่ายุค “รัฐตำรวจ” เนื่องจาก พล.ต.ท.เผ่าได้สร้างขุมกำลังตำรวจเทียบเท่ากับกองทัพๆ หนึ่งเหมือนทหาร โดยเริ่มให้มี ตำรวจน้ำ ตำรวจพลร่ม ตำรวจม้า และตำรวจรถถัง โดยสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือเต็มพิกัด เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีนคอมมิวนิสต์ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

มีการประชดประชันว่า อธิบดีเผ่า น่าจะให้มี “ตำรวจเรือดำน้ำ” ท่านได้รับฉายาจากสื่อ ตปท.ว่าเป็น “บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย”

พล.ต.ท.เผ่าเป็นอธิบดีกรมตำรวจที่เป็นผู้นำสูงส่ง ลูกน้องทั้งกลัวทั้งรัก มีวิธีปกครองลูกน้องโดยคัดเลือกนายตำรวจที่มีหน่วยก้านมีฝีมือจัดจ้าน ให้มารับใช้ใกล้ชิด…เรียกว่าพวก “อัศวินแหวนเพชร” นายตำรวจเหล่านี้จะได้รับ “แหวนลงยาตราอาร์มฝังเพชร”

“อัศวินแหวนเพชร” กำลังออกไล่ล่าปลาตัวใหญ่ ชื่อ มนัส

นาวาตรี มนัส ทราบดีว่า ยมบาลกำลังยื่นมือมาหาตนในไม่ช้านี้แน่นอน ทหารเรือหนุ่มมองหาทางลงเรือสินค้าไปสิงคโปร์ และอีกทางหนึ่ง คือ ซ่อมเครื่องยนต์เรือเก่าลำหนึ่ง เพื่อจะเป็นพาหนะออกทะเลไปให้ไกลอำนาจรัฐที่จะเอาตัวเค้าไปยิงเป้า…

หนุ่มจากกระทรวงการต่างประเทศที่คุ้นเคยกัน เข้ามาช่วยดูแล นาวาตรี มนัส เดินจดหมายแทนน้องชายที่โดนตำรวจซิวตัวไปแล้ว

เช้ามืด 15 พฤศจิกายน 2495 ณ บ้านพักชายทุ่งอำเภอบางกะปิที่อาศัยซ่อนตัว หัวหน้ากบฏหมายเลข 1 ของแผ่นดินที่นอนอยู่ ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ดังกระหึ่มรอบๆ บ้าน แบบที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน

เสียงอึกทึกกระชากให้ลุกขึ้นจากที่นอน มนัสพาร่างตัวเองไปโผล่ที่เฉลียงหน้าบ้าน

นาวาตรี มนัส จารุภา บันทึกไว้ในหนังสือ เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล ความตอนหนึ่งว่า….

“….หยุดอย่าสู้นะ …หยุดอย่าสู้นะ ! เป็นเสียงตะโกนของสุภาพบุรุษรูปร่างท้วมถือปืนสั้น แอบอยู่ใต้ต้นนุ่นหน้าบ้าน ปืนจ้องมาที่ร่างของนาวาตรี มนัส…”

สัญชาตญาณทหารมันบอกได้.. วันสุดท้าย และอิสรภาพของหัวหน้ากบฏคนที่จี้จอมพล ป.มาถึงจุดจบแล้ว…

สองมือชูขึ้นเหนือศีรษะพร้อมแบมือ… “ผมไม่สู้ เชิญขึ้นมาได้ครับ อย่ายิง… บนบ้านมีเด็กและผู้หญิง…”

ตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 นาย กรูกันขึ้นมาประชิดตัว หัวหน้ากบฏ

พันตำรวจตรี วิชิต รัตนภานุ (ยศในขณะนั้น) ตามขึ้นบันไดมา พร้อมกับยกมือไหว้อย่างสุภาพ

“พี่นัส ครับ…ท่านอธิบดีตำรวจ…ให้ผมมารับตัวพี่ครับ…”

โปรดติดตามตอนต่อไป….

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ข้อมูลจาก เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล
โดย นาวาตรี มนัส จารุภา
ภาพจากเว็บ – เรือนไทย. วิชาการ. คอม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image