เจรจาทวิภาคี‘ทรัมป์-สี’โอซากา โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การประชุม จี20 ที่โอซากา ญี่ปุ่น ท่ามกลางการจับตามองของคนทั่วโลก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เจรจากันแบบทวิภาคี ใช้เวลา 80 นาที

การเจรจาของสองประมุขมีขึ้นวันที่ 29 มิถุนายน หลังปิดการประชุม จี20

ปฐมถ้อยคำของ “โดนัลด์ ทรัมป์” คือ “หวังว่าจีน-สหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลง ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘ตารางการปฏิบัติงาน’”

ส่วน “สี จิ้นผิง” กล่าวว่า “การร่วมมือกันต่างได้ประโยชน์ การต่อสู้กันล้วนเสียประโยชน์ การร่วมมือดีกว่าขัดแย้ง การเจรจาดีกว่าปะทะคารม”

Advertisement

ถือเป็นนิมิตที่ดี

การบรรเทาความตึงเครียดเป็นความประสงค์ของสองประเทศ เพราะว่าการปะทะกันนอกจากจีน-สหรัฐเดือดร้อนทั้งคู่ ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์
อีกด้วย

บัดนี้ ทั้งสองประเทศยินดีทำการเจรจาประเด็นทางการค้าต่อไปบนพื้นฐานของความเสมอภาคและเคารพซึ่งกัน แต่จะสามารถบรรลุสัญญาข้อตกลง “ประวัติศาสตร์” หรือไม่

Advertisement

เป็นเรื่องน่าจับตามอง

หากวิเคราะห์จากประวัติศาสตร์ไม่น่าจะราบรื่น

ส่วนผลการประชุมของประมุขทั้งสองไม่เกินความคาดหมาย คือ

1 ไม่มีการลงนามในสัญญาข้อตกลง

1 ไม่มีการ “วอล์กเอาต์”

เหตุที่ทั้งสองฝ่ายต่างยินยอมทำการเจรจาการค้าต่อไป ก็เพราะ

ไม่สามารถทนต่อผลกระทบแห่งการทำสงครามต่อไป

ตั้งแต่สหรัฐปรับเพิ่มพิกัดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีน สินค้าอุปโภคบริโภคปรับขึ้นราคาปรากฏเห็นเป็นประจักษ์

พื้นที่การปลูกถั่วเหลืองของสหรัฐลดน้อยลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

สภาคองเกรสได้เปิดการรับฟังความเห็นจากสาธารณะ (US congress hearing) ล้วนคัดค้านการปรับขึ้นภาษีศุลกากร รวมไปถึงคำสั่งห้าม “ซัพพลายเออร์” ส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ให้แก่ “หัวเว่ย” เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่วงการธุรกิจการค้าอย่างเต็มๆ

ไม่ว่าปรับขึ้นภาษี ไม่ว่าห้ามทำธุรกิจกับ “หัวเว่ย” โดนัลด์ ทรัมป์ ล้วนยอมรับคำคัดค้าน

แต่เบื้องหลังการยอมรับของเขามีนัยซ่อนเร้นอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปกระชับเข้ามาทุกขณะ การป้องกันตำแหน่งประธานาธิบดีย่อมต้องการคะแนนเสียง

ส่วนปักกิ่งก็ได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้ามิใช่น้อย การขึ้นภาษีของธุรกิจอุตสาหกรรมรออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะธุรกิจไฮเทคยิ่งจะเดือดร้อนหนัก เพราะคำสั่ง “ห้าม” ขยายวงกว้าง บรรดานักลงทุนจึงเลือกทางถอนฐานการผลิตออกจากจีน แรงกดดันแห่งอัตราการประกอบอาชีพกลายเป็นแรงกดดันของสังคมอย่างถาวรไปแล้ว

สหรัฐเริ่มต้นตั้งแต่สงครามการค้า ขยายวงกว้างไปยังสงครามเทคโนโลยี และมีแนวโน้มจะลุกลามไปเป็นสงครามการเงิน

ยุทธศาสตร์สกัดจีนอันเกี่ยวกับความเจริญเติบโต แม้ยังมิได้มีผลกระทบทั่วทั้งประเทศ แต่จีนก็เหนื่อยล้าเต็มประดา

อีกประการ 1 หลังการเจรจาการค้าแตกหักเมื่อเดือนพฤษภาคม ทั้งสองฝ่ายเกิดปะทะคารมกันอย่างต่อเนื่อง เหนื่อยทั้งกายและใจ

ดูประหนึ่งว่าทั้งสองประเทศไม่พึงประสงค์ให้ปัญหาลุกลามใหญ่โตต่อไป เช่น

“ไมก์ เพนซ์” รองประธานาธิบดีสหรัฐ เดิมมีกำหนดการจะทำการปาฐกถาต่อสาธารณะในประเด็น “สิทธิมนุษยชนของจีน” และแล้วก็ต้องเลื่อนต่อไปอย่างไม่มีกำหนด “เพนซ์” ยังกล่าวว่า การขายอาวุธให้แก่ไต้หวันนั้นสามารถชะลอไว้ก่อนได้

และการที่ประเทศจีนหวนกลับมาซื้อถั่วเหลืองของสหรัฐอีกวาระหนึ่งนั้น คือ

การส่งสัญญาณอันพึงประสงค์ฟื้นฟูการเจรจาทางการค้า

ส่วนรายละเอียดการประชุมระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” กับ “สี จิ้นผิง” ยังไม่ปรากฏ

สำหรับสาเหตุที่ดลบันดาลให้การประชุมของประมุขทั้งสองได้ผ่านพ้นไปด้วยดีระดับหนึ่ง ยังยากแก่การคาดเดา แต่ถ้าใช้หลักตรรกศาสตร์

1 คำขู่ของจีนที่จะยุติการส่งแร่ “rare earth” ให้แก่สหรัฐ หรือ

1 “สี จิ้นผิง” บินพบ “คิม จอง อึน” ผู้นำเกาหลีเหนืออย่างกะทันหันก่อนหน้าการประชุมจี20 ไม่ถึง 10 วัน อาจเป็นการ “ตัดไม้ข่มนาม” เพราะเป็นการพบกันที่เพิ่มต้นทุนทางการเมือง

ถ้าเป็นกรณีหลังก็ต้องถือว่า “เกาหลีเหนือ” คือ “ไพ่เด็ด”

ถ้าเป็นกรณีแรกก็ต้องถือว่า เป็นผลงานของ “สี จิ้นผิง”

การปรับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ได้ประโยชน์ 2 สถาน

1.“โดนัลด์ ทรัมป์” ได้คะแนนสะสมสำหรับการป้องกันตำแหน่ง

2.ผดุงค้ำจุนความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ให้ดำรงคงอยู่ เสมอเรือแล่นตอนน้ำขึ้น

จากปฐมถ้อยคำของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่กล่าวว่า “หวังว่าจีน-สหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลง ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘ตารางการปฏิบัติงาน’” นั้น น่าจะมีนัยซ่อนเร้น อันประสงค์ให้จีนตอบสนองเงื่อนไขข้อเสนอของสหรัฐในอนาคต ซึ่งรัฐบาลจีนเข้าใจได้ว่าไม่เสมอภาคและไม่เคารพซึ่งกัน เชื่อว่าไม่มีประเทศอำนาจอธิปไตยใดๆ ในโลกยินยอมปฏิบัติตามแน่นอน

เป็นเรื่องใหญ่

ก็เพราะสหรัฐถือว่าประเทศจีนเป็นคู่แข่งที่ใหญ่ที่สุด ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่และอเมริกันชนต่างก็ทราบดีว่า ปฏิบัติการที่กำลังดำเนินอยู่นั้นมิใช่เพียงเพื่อการ “เรียกแขก” ในงานเฉพาะกิจคือ “เลือกตั้งทั่วไป” เท่านั้น เหตุผลคือ

ไม่ว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” จะป้องกันแชมป์สำเร็จหรือไม่ก็ตาม จีนก็ยังมีบทบาทต่อสังคมโลก

ไม่ว่าการค้า ไม่ว่าธุรกิจไฮเทค จีนแซงโค้งนำหน้า กลายเป็นคู่แข่งสหรัฐที่น่ากลัว

สหรัฐถือว่าเป็นการคุกคาม

การตกลงฟื้นฟูการเจรจาการค้านั้น แม้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ได้ลดอุณหภูมิอันร้อนแรงลงไปได้บ้างระดับหนึ่ง

ต้องยอมรับว่า การเจรจาทวิภาคีระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” – “สี จิ้นผิง” โอซากา

เป็นงาน “เฉพาะกิจ” ที่สร้างสรรค์และได้ประโยชน์อันควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image